SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่เขย่าความรู้สึกของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมการศึกษาอีกครั้ง กับข่าวการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นข่าว ผอ.กับนักเรียน ม.2 ครูสาวกับนักเรียนชาย นักเรียนชายกับนักเรียนหญิง ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้งในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 10 “ปัญหาหรือตัณหา: ธรรมาภิบาลกับเรื่องเพศในโรงเรียนไทย”

โดยมี ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นางณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และนางจิตติมา ภาณุเตชะ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.อรรถพล กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานในสังคมไทย ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏในสื่อ โรงเรียนคือสังคมจำลองที่สะท้อนปัญหาสังคมโดยรวม เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ผู้ใหญ่กับผู้น้อยในโรงเรียน ความสัมพันธ์ชาย-หญิงในโรงเรียน เช่น เด็กถูกกระทำจากผู้บริหาร จากครู ทำให้พ่อแม่เริ่มมองว่า โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน เมื่อเกิดเหตุขึ้นและมีการตั้งกรรมการสอบสวนที่เป็นข้าราชการตรวจสอบกันเอง ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจในการสอบสวนและตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด เนื่องจากผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วม เรื่องจึงถูกเก็บเงียบ และไม่มีสัญญาณเชิงบวกในการแก้ปัญหาอย่างจริง เพื่อให้ความจริงปรากฏ กลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาตลอด

“วัฒนธรรมในโรงเรียนเอื้อให้เกิดปัญหาการคุกคามทางเพศ ตั้งแต่การหยอกล้อไปจนถึงการถูกเนื้อต้องตัว มีพื้นที่นัดพบระหว่างเด็กกับเด็ก ครูกับนักเรียน ไปจนถึงพื้นที่ในออนไลน์หรือพื้นที่ส่วนตัว และที่น่าเป็นห่วงคือ ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และมีการฟ้องร้อง 53 รายที่เป็นข่าว แต่ตัวเลขที่ไม่เปิดเผยมีมากกว่านี้หลายเท่า ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย และกลุ่ม LGBT (Lesbian Gay Bisexual and Transgender: กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) ก็ตกเป็นเหยื่อของการกระทำทางเพศด้วยเช่นกัน

ภาพจาก techcrunch

และหลายครั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน เหยื่อกลับถูกกระทำซ้ำจากผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า และจากการนำเสนอของสื่อ ทำให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเลือกที่จะเงียบ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ผู้ถูกกระทำไปกระทำกับคนอื่นต่อ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องแก้ ไม่เพียงแต่กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมในโรงเรียน ที่ทุกคนจะต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมทางเพศ และเมื่อเกิดเหตุการณ์จะต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการสอบสวน” ผศ.อรรถพล กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เกิดจาก ตัณหา ของมนุษย์ ที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคม ในแง่ของกฎหมายได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศในโรงเรียนไว้ 4 ข้อ ได้แก่

    1. การข่มขืน กระทำชำเรา
    2. ความผิดกระทำชำเรา
    3. การกระทำอนาจาร
    4. การพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

โดยมีบทลงโทษแตกต่างกันไป แต่กรณีที่กระทำกับเด็กอายุไม่เกิน 13 -15 ปี โทษจะหนักกว่ากระทำกับเด็กที่อายุเกิน 18 ปี จะเห็นว่ากฎหมายเองต้องการที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ที่ยังไม่สามารถตัดสินใจเรื่องทางเพศของตนเองได้ และยังได้บัญญัติเอาผิดกับผู้กระทำความผิด ที่กระทำต่อผู้สืบสันดาน ศิษย์ที่อยู่ในความดูแล ผู้ที่อยู่ในความปกครอง ความพิทักษ์หรืออนุบาล โดยระวางโทษหนักกว่าฐานความผิดที่กำหนดไว้ และเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้

แต่กรณี กระทำทางเพศต่อศิษย์ที่อยู่ในความดูแล กฎหมายพิจารณาจากความสัมพันธ์ ที่ก่อให้เกิดหน้าที่ของผู้กระทำ ครูผู้สอนที่อยู่นอกเวลาสอนแล้ว หรือไม่อยู่ระหว่างการเข้าเวร ไม่ต้องรับโทษหนักขึ้น ซึ่งกรณีนี้ในบางประเทศเอาทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่หรือไม่อยู่ในหน้าที่

ภาพจาก deccanchronicle

“คดีทางเพศเป็นคดีที่ยากมากในการดำเนินคดี เพราะผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบทั้งจิตใจและร่างกาย มีความกลัว ความอายที่จะถูกสังคมมองว่าแปดเปื้อน กังวลว่าลุกขึ้นมาเรียกร้องจะได้ผลหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติกับเขาอย่างไร และการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดก็ทำยาก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ลับ และเกิดขึ้นในร่างกาย เนื้อตัว การดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความยุติธรรมที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว

ส่วนนางจิตติมา ภาณุเตชะ มูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่มีมานานแล้วก็เงียบไป ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีเพียงศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันการณ์ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องเพศในโรงเรียนจะต้องทำให้เป็นระบบ

อย่างแรกคือ จัดทำหลักสูตรเพศศึกษา และสอนให้มีความฉลาดรู้เรื่องเพศให้กับเด็ก 2. จัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน มีช่องทางรับฟังความคิดเห็น และครูจะต้องเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ และ 3. ดึงผู้ปกครอง ชุมชน เป็นเครือข่ายเข้ามาดูแลและป้องกันเรื่องเหล่านี้ด้วย

“โรงเรียนจะต้องสร้างการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศให้กับเด็ก ข้อแรกคือ รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง 2. รู้เท่าทันความสัมพันธ์ อะไรคือการเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิ รู้จักป้องกันตนเองจากการล่วงละเมิดทางเพศ กล้าพูด กล้าบอก ไม่อยู่กับความระทมทุกข์ และสุดท้ายโรงเรียนจะต้องเป็นที่พึ่งของเด็กได้” นางจิตติมา กล่าว

ขณะที่ ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มองว่า การทำงานของสื่อในปัจจุบัน นอกจากจะต้องรับมือกับสถานการณ์รายวันแล้ว จะต้องเจาะให้ลึกและอธิบายให้รอบด้านโดยปราศจากอคติ อย่างกรณีของ ผอ.โรงเรียนกับนักเรียน ม.2 ซึ่งการนำเสนอของสื่อพุ่งเป้าไปที่เด็กผู้หญิงที่เป็นคู่กรณี ความสัมพันธ์ บุคลิกลักษณะของเด็ก โดยลืมตั้งคำถามถึง ผอ. ซึ่งมีบทบาท อำนาจเหนือเด็กนักเรียนหญิงที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิ ฐานะและเครือข่ายในโรงเรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อต้องเสนออย่างระมัดระวังเพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน นำเสนออย่างไรที่ไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำ เช่น กรณีการทลายวิคตอเรีย ซีเครต ที่การนำเสนอพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ โดยขาดความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลายเป็นการกระทำซ้ำต่อบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันวงการสื่อแข่งขันกันสูงมาก โดยมีประเด็นที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน บรรณาธิการข่าวอาจจะมองว่า ประเด็นเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่หากมองว่าเป็นวาระสำคัญจริงๆ สื่อสามารถช่วยได้ในแง่ของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพยายามฉายภาพให้เห็นโดยไม่ผลิตซ้ำอคติเดิมๆ ว่า ผู้หญิงก็จะตกเป็นเหยื่อตลอดเวลา และเป็นความผิดของผู้หญิงเองที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ตัวเองต้องเป็นเหยื่อ โดยไม่มองที่ผู้กระทำที่มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งเชื่อว่าสื่อสามารถเป็นกระบอกเสียงได้

“อย่างกรณีของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ผู้กำกับชื่อดังของฮอลลีวูด ที่ถูกนิวส์ยอร์กไทม์ตีแผ่ว่า เขาล่วงละเมิดทางเพศดาราทั้งชายและหญิงจำนวนมากมาหลายสิบปี และดาราที่ตกเป็นเหยื่อเก็บเงียบเพราะกลัวเสียชื่อเสียง และเมื่อความจริงถูกเปิดเผย ทำให้ผู้หญิงและผู้นำในวงการแสดงออกมารณรงค์ต่อต้านอย่างหนัก ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับผู้ชายหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจได้ไม่น้อย” บรรณาธิการข่าวกล่าว

 

บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า

ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า