ธนาคารแห่งประเทศไทย ปฏิเสธ ไม่ได้อนุมัติให้ร้านสะดวกซื้อ ตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ใหม่ แต่ธนาคารพาณิชย์ สามารถแต่งตั้งให้ร้านสะดวกซื้อเป็นตัวแทนรับโอนเงิน หรือแบงกิ้งเอเจ้นต์ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้
กรณีสื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อภาพและข้อความ ระบุว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอนุมัติให้ ร้านเซเว่น – อีเลฟเว่น เป็นธนาคารพาณิชย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพตู้เอทีเอ็มในประเทศญี่ปุ่น และแบงก์ชาติยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่
ทั้งนี้ ยอมรับว่า เคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ให้บริการในร้านสะดวกซื้อ ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกสิกรไทย เป็นแบงก์กิ้งเอเจ้นต์ หรือ ตัวแทนธนาคารให้บริการโอนเงิน ลูกค้าปลายทางสามารถรับเงินที่โอนมาจากสาขาที่มีเคาน์เตอร์เซอร์วิสเช่นกัน เสมือนกับธนาคารมีจำนวนสาขาที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม ขณะที่แบงกิ้งเอเจ้นต์ ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย และบริการแอพพลิเคชั่นของ AirPay ซึ่งถือเป็นทางเลือกอำนวยความสะดวก
แบงก์ชาติ ได้กำหนดหลักเกณ์ที่ดูแลประชาชน ผู้ฝากเงินอย่างเข้มข้น ไม่ให้ถูกฉ้อโกง หรือเกิดความเสียหาย รวมถึงการคิดค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม
หลักเกณฑ์การแต่งตั้งแบงกิ้ง เอเจ้นต์ จะพิจารณาจากคุณสมบัติฐานะการเงิน เครื่องมือการทำธุรกรรมที่ครบถ้วน และเงื่อนไขอื่น โดยคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์เป็นผู้คัดเลือกและจัดทำแผนส่งเรื่องให้แบงก์ชาติพิจารณา จำกัดการให้บริการไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อวัน และธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบทุกกรณีหากเกิดปัญหาใดๆ
แบงก์ชาติยังเตรียมประกาศประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ช่องทางการให้บริการธนาคารพาณิชย์ใหม่ เช่น บริการถอนเงิน และการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถอนุญาตนิติบุคคลได้เอง รวมถึงการให้บุคคลธรรมดาลักษณะเป็นร้านค้าชุมชน สหกรณ์ เป็นแบงก์กิ้ง เอเจ้นต์ได้เช่นกัน คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนมีนาคมนี้