SHARE

คัดลอกแล้ว

2 มี.ค. นี้ถือเป็นดีเดย์ที่จะสามารถเริ่มต้นดำเนินการจดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ นอกจากจะเป็นการขยับครั้งแรกของการเมืองในรอบ 4 ปี แล้ว การจดทะเบียนพรรคใหม่ครั้งนี้ยังสะท้อนภาพการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางระบบเอาไว้

แน่นอนว่าพรรคที่ถูกจับตามากที่สุดคือพรรค “มวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นพรรคของกลุ่ม กปปส. ที่นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หรือครั้งนั้นรู้จักกันในนาม “ลุงกำนัน”

ย้อนกลับไปช่วงวิกฤตการเมืองปี 2556 – 2557 ที่มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. “สุเทพ” ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศว่าจะไม่เล่นการเมืองหรือรับตำแหน่งทางการเมืองอีก ทำให้หลายคน “เชื่อ” ว่าการต่อสู้ของเขาครั้งนั้น “บริสุทธิ์” และแน่นอนว่ามีสมาชิกและอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์หลายคน ออกมาร่วมการขับเคลื่อนด้วย

แม้ “สุเทพ” จะยืนยันว่าไม่มีความคิดจะตั้งพรรค แต่น้องชายของเขา “ธานี เทือกสุบรรณ” กลับรับว่าจะตั้งพรรคจริง และ “สุเทพ” ก็จะร่วมเป็นสมาชิกพรรค โดยมีจุดประสงค์เพื่อการปฏิรูป

คำถามคืออะไรที่ทำให้ กปปส. ต้องหวนกลับมาเล่นการเมืองในระบบและตั้งพรรคการเมือง

เรื่องนี้มีปัจจัยสองประการที่เกี่ยวเนื่องกันคือ หนึ่ง สถานการณ์การเมือง และสอง กฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการตั้งพรรคและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางอำนาจ และทั้งสองประการนี้ก็นำมาซึ่งเป้าประสงค์ที่มากกว่าหนึ่ง

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ตามรัฐธรรมนูญและโครงสร้างทางการเมืองที่ออกแบบมาใหม่นั้น ทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงการตั้งพรรคใหม่ เพื่อมาแชร์อำนาจ

หากย้อนกลับไปในอดีตจะทราบว่าปัญหาของพรรคการเมืองและนักการเมืองของไทยคือ ไม่มีความแน่นอนเพราะพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางมีอำนาจการต่อรองสูงเนื่องจากพรรคใหญ่ไม่สามารถรวบรวมเสียงให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ จึงต้องอาศัยพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก นี่เองที่เป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การตั้งโต๊ะซื้อตัว ส.ส.”

รัฐธรรมนูญ 2540 จึงออกแบบให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและสามารถครองเสียงข้างมากในสภาเพียงพรรคเดียวหรือไม่กี่พรรคเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคมีสองพรรคใหญ่ สองขั้วการเมืองดังเช่นประเทศที่ก้าวหน้าทางการเมืองเป็น

และแน่นอนเมื่อมีพรรคหนึ่งซึ่งโดดเด่นมากกว่า อีกพรรคก็ยากที่จะก้าวขึ้นมาแทรก แม้นัยหนึ่งจะเป็นการสร้างเสถียรภาพที่เข้มแข็ง แต่อีกนัยหนึ่งก็ทำให้เกิดความปั่นป่วนเชิงผลประโยชน์และอำนาจ และส่งผลให้ไม่มีขั้วอื่นเข้ามาแชร์อำนาจได้

เมื่อการเมืองขยับขั้วด้วยอำนาจพิเศษ กระบวนการ “ทอน” ความเข้มแข็งจึงเกิดขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบให้การเลือกตั้งใช้บัตรเพียงใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ ส.ส. เขต โดยจะนับคะแนนรวมทั้งประเทศเป็นคะแนนนิยมของพรรคทั้งหมดก่อนจะนำมาคำนวณเป็นจำนวนสัดส่วนว่าแต่ละพรรคจะมี ส.ส. ได้กี่คน

จากนั้นจึงจะมาดูในแต่ละเขตว่าเขตไหนใครได้อันดับหนึ่ง ก็จะได้เป็น ส.ส. เขตไป แต่หากจำนวน ส.ส. เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมีไปแล้ว พรรคนั้นก็จะถูกตัดไม่ให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่หาก ส.ส. เขตมีไม่ถึงเพดาน ส.ส. ที่พึงมี จึงจะจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อให้เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พึงมี

ด้วยระบบนี้คนร่างเชื่อว่า หากผลการเลือกตั้งเป็นแบบที่ผ่านมา พรรคอันดับหนึ่งจะไม่ได้ ส.ส. แบบถล่มทลาย เพราะในอดีตจะพบว่าคะแนนทั้งประเทศ พรรคที่ได้อันดับสองก็ไม่ได้คะแนนน้อยกว่าอันดับหนึ่งกี่มากน้อย หากคำนวณแบบใหม่ จำนวน ส.ส. ของทั้งสองจะไม่ทิ้งห่างกัน  ภายใต้วาทกรรมที่เรียกว่า “ไม่มีคะแนนตกน้ำ”

ซึ่งการออกแบบเช่นนี้   “ส.ต. (สอบตก)” จะมีความหมายมากกว่าเมื่อก่อนมากนัก เพราะจากเดิมพวกเขาจะมีค่าเป็นศูนย์ทันทีที่แพ้เลือกตั้ง  แต่ครั้งนี้แม้ตัวเขาจะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่คะแนนที่เขาได้มานั้นจะมีประโยชน์กับพรรคมาก เช่น พรรค ก. อาจจะไม่มี ส.ส.เขตเลย แต่ คะแนนนิยมพรรคมากกว่า 20% ก็อาจจะทำให้พรรคนั้นมี ส.ส. ได้ถึง 100 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน

จากระบบเช่นว่า ย่อมมีนักการเมืองที่หวังจะสอดแทรกเข้ามาสู่สภาในระบบนี้ โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองที่เคยถูกมองว่าเป็นอันดับสองของเขต ที่ผ่านมาพรรคก็จะเลือกเฉพาะคนที่มีคะแนนนิยมดีที่สุดลงสมัคร ทำให้กลุ่มนี้ถูกละเลย และมองด้วยการประเมินต่ำกว่าที่ควร ทั้งๆ ที่เขามีฐานคะแนนในมือไม่น้อย

กับครั้งนี้ก็จะเปลี่ยนไป จะมีนักการเมืองที่มองเห็นโอกาส จัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ

และเมื่อเข้าสู่สภาได้ พวกเขาก็จะมีบทบาทเป็นอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอื้อต่อการครองเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การจัดตั้งรัฐบาลต้องอาศัยพรรคเล็ก แน่นอนว่าพรรคที่สอดแทรกเข้ามานี้ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญ และหากใครอยากให้เข้าร่วมรัฐบาลก็ต้องมีการต่อรองเรื่องผลประโยชน์

การสนับสนุน “คนนอก” ก็รวมอยู่ในขั้นตอนนี้ด้วย

นอกจากนี้เมื่ออ่านเกมเช่นนี้แล้ว หากพรรคใหญ่ไม่อยากเสียคะแนนนิยมในพื้นที่ไปให้พรรคอื่น ก็จำเป็นต้องมี “พรรคนอมินี” เพื่อรักษาคะแนนเสียง จากเดิมที่เราเห็นเบอร์สองหนีไปลงพรรคอื่น จากนี้พรรคใหญ่ก็จะมี “พรรคนอมินี” ที่รวมเบอร์สองของพรรคซึ่งมีฐานคะแนนเสียงของตัวเอง และแลกคำมั่นสัญญาด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน

นี่คือปัจจัยอันว่าด้วยกฎหมาย

เมื่อจับปัจจัยสถานการณ์มาเติมเต็มก็จะเห็นว่าทำไมต้องตั้งพรรค “มวลมหาประชาชนฯ”

ประการแรกหากอยากสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ก็มีความจำเป็นต้องผลักดันตัวเองให้มีที่นั่งในสภาให้มากที่สุด และ กปปส. รวมถึง “สุเทพ” ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าสนับสนุน “พล.ประยุทธ์” มาโดยตลอดโดยอ้างเรื่องการปฏิรูป

แต่หากยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ก็มิอาจที่จะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ เพราะยังติดขัดที่ไม่ว่าจะเป็นเหล่า “ผู้คุ้มกฎ” อย่าง “ชวน หลีกภัย” “บัญญัติ บรรทัดฐาน” “จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์” รวมถึงหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันอย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ยังยืนยันว่าต้องไม่สนับสนุนนายกคนนอกและเผด็จการ เมื่อยุทธการยึดพรรคไม่สำเร็จก็จำเป็นต้อง “แยกกันโต”

แต่อย่าคิดว่าทั้งสองพรรคนี้จะกลายเป็นคู่แข่งทางการเมือง หรือแตกคอกัน เพราะ “สุเทพ-อภิสิทธิ์” เปรียบเสมือนเหรียญอีกด้านของกันและกัน รวมถึงสมาชิกพรรคและอดีต ส.ส. ของพรรคก็ยังเป็นหน่อเนื้อประชาธิปัตย์

พรรคมวลมหาประชาชนฯ จึงอาศัยช่องของกฎหมายที่เปิดไว้ “ปกป้องฐานเสียงในพื้นที่” ไม่ให้กระเด็นไปสู่พรรคอื่น แต่เดิมในภาคใต้หลายๆ พื้นที่พรรคเพื่อไทยก็ตีตื้นมาไม่น้อย แต่หากใช้สองแรงแข็งขันในยุทธศาสตร์ “นอมินี” หรือเรียกเพราะๆ ว่า “พันธมิตรทางการเมือง” คะแนนในพื้นที่ก็จะไม่ไหลไปสู่พรรคอื่น

พวกเขาไม่หวังสูง แต่หวังแค่ชิง ส.ส. บัญชีรายชื่อมาไว้ในมือ

นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดทางให้ “นักการเมืองพรรคสองพี่น้อง” เปิดหน้าเล่นได้ทั้งสองทาง ทางหนึ่งยืนยันไม่เอาเผด็จการ ทางหนึ่งสนับสนุนนายกฯ คนนอก ไม่ว่าออกหน้าไหนก็ไม่แพ้ทั้งกระดาน

พรรค “มวลมหาประชาชน” จึงเกิดขึ้นจากสองปัจจัยที่ว่า ทั้งการเมืองและกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์อันมากกว่าหนึ่งเดียวที่ว่าด้วย “ยุทธศาสตร์เดินสองขาไปพร้อมประชาธิปัตย์”

———

บทความโดย “อสรพิษ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า