ประเด็นคือ – ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แจงละเอียดบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ปฏิเสธให้ความเห็นแคมเปญล่าชื่อยุติโครงการ ขณะที่ล่าสุดมีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 18,285 คน
โครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ โดยก่อนหน้านี้จะมีกลุ่มนักอนุรักษ์และชาวเชียงใหม่บางส่วนมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากก่อสร้างในพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ปรากฏภาพมุมสูงของผืนป่าที่ถูกแผ้วถางปรับพื้นที่ไปกว่า 100 ไร่ ทำให้นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงในการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 59 ที่ผ่านมา อธิบายถึงการใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง
กระทั่งล่าสุด มีความเคลื่อนไหวรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org ได้มีการตั้งหัวข้อรณรงค์ “ขอให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา” โดย ดร.ณรงค์ ทองภูเบศน์ เจ้าของแคมเปญให้เหตุผลสำคัญว่า แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่คุ้มค่ากับคุณค่าแท้ของพื้นที่ป่าธรรมชาติ และมีการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าธรรมชาติและระบบนิเวศน์ภูเขา จะทำให้สูญเสียทัศนียภาพที่งดงามของดอยสุเทพ และสูญเสียป่าที่เป็นปอดของคนเชียงใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ยุติโครงการก่อสร้าง ล่าสุดมีผู้สนับสนุนแล้ว 18,285 คน
ล่าสุดวันที่ 5 มี.ค. 61 นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชี้แจงอีกครั้งถึงโครงการก่อสร้าง โดยระบุว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลัง ที่อยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ 1273 แปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่ 394/2500 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา แม้ภายหลังจะมีประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 แต่ไม่ได้กระทบสิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกแต่อย่างใด ทำให้พื้นที่นี้ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ
ต่อมาในปี 49 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักและอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพิ่งได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างในปี 2557 โดยในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง ทางทหารได้ดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้พื้นที่ป่าสมบูรณ์ จนทำให้ถูกมองว่าอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ
ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้พื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของทางราชการ ทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินซึ่งปัจจุบันมีราคาสูง คงใช้งบประมาณเฉพาะการก่อสร้างเท่านั้น ทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้มาก
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวมีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง บ้านพักผู้บริหาร 7 หลัง รวมบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 13 หลัง ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท รองรับการพักอาศัยของผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการได้ประมาณ 200 คน ในการก่อสร้างได้เว้นพื้นที่ป่า 58 ไร่ ด้านบนสุดที่อยู่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เพื่อคงสภาพพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ก่อสร้างมีการตัดต้นไม้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวว่า หลังจากโครงการแล้วเสร็จ จะมีการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อคืนพื้นที่สีเขียว ทั้ง ต้นสัก และ ต้นพยุง และ ต้นไม้อื่น ๆ ในทุกพื้นทีที่ปลูกได้ แต่การปลูกต้นไม้ใหญ่อาจต้องใช้เวลากว่าจะเติบโตสมบูรณ์ ส่วนที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสม เป็นเรื่องตอบยาก ขึ้นอยู่กับบริบทว่ามองจากด้านใด ส่วนการรณรงค์ที่เกิดขึ้น ทางศาลปฏิเสธให้ความเห็น เนื่องจากไม่ต้องการเข้าไปเป็นคู่พิพาท
ผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่โครงการก่อสร้าง พบว่าคนงานยังเดินหน้าก่อสร้างและดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 80 อาคารชุดบางหลังมีข้าราชการตุลาการเริ่มเข้าพักอาศัย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่การสำรวจในมุมสูง พบพื้นที่ก่อสร้างอยู่ลึกจากถนนเลียบคลองชลประทานเข้าไปในเขตป่าเชิงดอยสุเทพ-ปุย 1.5 กิโลเมตร และการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างที่ลึกเป็นแนวยาวเข้าไปในเขตป่าที่มีความลาดชัน ทำให้มองเห็นป่าที่ถูกแผ้วถางได้อย่างชัดเจน ซึ่งภาพนี้เป็นภาพที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจจนนำไปสู่เเคมเปญรณรงค์ที่เกิดขึ้น