SHARE

คัดลอกแล้ว

(ภาพจาก สำนักโฆษกทำเนียบรัฐบาล)

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.) ยื่นขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  มีแนวโน้มที่การเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 เลื่อนออก โดยก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งรับพิจารณาวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ตามคำร้องของ สนช.ไปแล้ว ซึ่งสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เคยออกมาระบุว่า การที่ สนช. ยื่นให้ตีความร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ อาจทำให้กระทบโรดแม็ปเลือกตั้งไประหว่าง 2-6 เดือน ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีการเลื่อนหรือไม่ ต้องรอติดตาม…

แต่นักการเมืองต่างวิเคราะห์ว่า  เกมส์ที่ไม่ “เป๊ะ” มีการขยับปรับเงื่อนไขให้ดูยืดเยื้อออกไป เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)ไม่พร้อมสู้ศึกในสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะความพร้อมของพรรคใหม่ และการรวบรวมกลุ่มทางการเมืองจึงต้องทอดเวลาออก แต่กระนั้นก็ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

  • ชิมลาง “ทหารโนเนม” ชูพรรคใหม่

ภาพที่ชัดเจน คือ การปรับทัพของ “พรรค คสช.” ที่เคยวางแผนให้ “ทหารโนเนม” ไปจัดตั้งพรรคการเมืองหัวเชื้อถูกพับเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน แม้จะมีบางฝ่ายมองทหารเหล่านั้น ต้องการเดินเข้าหาศูนย์อำนาจ ขายผลงานในการรวบรวมฐานเสียงมาให้ คสช. เองก็ตาม

ไล่ตั้งแต่ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย (พชท.) อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของ คสช. ที่ลงไปในพื้นที่ภาคใต้  ตั้งทีมประสานงานภาคใต้อยู่ที่ จ.พัทลุง และคัดเลือกคนที่จะลงสมัคร ส.ส.ใน จ.พัทลุง  รวมถึงภาคอีสาน  โดยผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเป็นหลัก และข้าราชการเกษียณอายุราชการ

(ชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ)

ตามมาด้วย ความเคลื่อนไหวเข้าจดทะเบียนพรรคการเมืองของ “ชวน ชูจันทร์” ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม ในนาม “กลุ่มพลังประชารัฐ” ท่ามกลางข่าวลือ (ที่เริ่มมีเค้าความเป็นจริง) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมานั่งประธานที่ปรึกษา มีสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีตัวละครที่เป็นทหาร คือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่มีการเคลื่อนไหวลงพื้นที่กับ “มูลนิธิคลองไทย” ในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องร่วมก๊วนด้วย

แต่ในที่สุด พ.อ.สุชาติ ที่ดูเหมือนเป็นกุญแจไขไปสู่ “พรรคทหาร” เพราะเคยลงเล่นการเมืองมาก่อน โดยในการเลือกตั้ง ปี 2531 “ผู้การชาติ” ลาออกจากราชการมาสมัคร ส.ส.เขต 2 สงขลา (หาดใหญ่, นาหม่อม และบางกล่ำ) จนเลือกตั้ง 2535/1 ลงสมัคร ส.ส.เขตเดิมในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ ได้ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต ส.ส.หลายสมัย มาช่วยปราศรัยหาเสียง จึงเอาชนะแชมป์เก่าเข้าสภาฯเป็นครั้งแรก  และปี 2546 ไปลงสมัครนายก อบจ.สงขลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันไปทำทีมฟุตบอลหาดใหญ่เอฟซี ……ก็ถูกปฏิเสธจาก “ชวน ชูจันทร์” ว่า ไม่ได้มีชื่อนายทหารคนดังกล่าวเข้ามาร่วมพรรคแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังมีพรรคเครือข่าย ที่ถูกมองว่า คสช.ให้การสนับสนุน แต่เปิดหัวด้วย “พลเรือน” โดยเฉพาะ “พรรคทางเลือกใหม่” ที่มี “ราเชน ตระกูลเวียง” เป็นหัวหน้าพรรค ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นพรรคแรก ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ ซังฮี้ และหากจำกันได้เขาเคยเป็นประธาน “สหพันธ์คนไทยปกป้องสถาบันฯ” เคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 และแจ้งจับแกนนำเสื้อแดง ในข้อหาหมิ่นสถาบันฯหลายคน และช่วงปลายปี 2556 “ราเชน” เข้าร่วมการชุมนุม กปปส. และประกาศตัวเป็นแกนนำ กปปส.นนทบุรี ต่อมาได้ร่วมบริหารจัดการเวที กปปส.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ร่วมกับพระพุทธอิสระ แต่ภายหลัง ราเชนแยกตัวออกมา

(พล.อ.ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน)

ตามมาด้วย “พรรคประชาชนปฏิรูป” ซึ่งเป็นพรรคที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้จัดประชุมพรรคอย่างเป็นทางการได้ โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต 40 ส.ว. และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศจุดยืนไม่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรค และไม่สนับสนุนคนที่มีรายชื่อจากบัญชีพรรคการเมืองอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี พ่วงชื่อของ พล.อ.ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ เป็น รองหัวหน้าพรรค, พล.อ.จิรศักดิ์ บุตรเนียร อดีตประธานสโมสรมุกดาหารลำโขง เป็น รองเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 16 ของ “บิ๊กโชย” พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี และพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกและเลขาธิการคสช.  ซึ่ง พล.อ.เฉลิมชัย ยืนยันว่า แม้จะเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องที่ทั้งคู่ไปทำงานการเมือง เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว อีกทั้งเป็นทหารเกษียณสามารถทำได้

และอีกพรรคการเมืองที่น่า จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง เครือข่ายพรรค คสช. นั่นก็คือ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ที่มีชื่อผู้ก่อตั้งพรรคคือ “ชัชวาลย์ คงอุดม”  แม้ล่าสุดเขาจะให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับ พรรคหนุน คสช. และไม่ได้พบกับ นายสมคิด มานานแต่ก็มีความผูกพันตั้งแต่ช่วงชวนมาทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และตอนที่ตั้งพรรคพลังท้องถิ่นใหม่ๆ และเคยเชิญ สมคิด มาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ได้รับคำปฏิเสธ

(ภาพจาก สำนักโฆษกทำเนียบรัฐบาล)

  • “สมคิด” ผู้วาดแผนที่การเมือง

แต่ที่ชัดเจน คือเมื่อ “สมคิด ” ออกมายอมรับว่า จะสนับสนุน “บิ๊กตู่” แต่เรื่องพรรคการเมืองให้ไปถาม 2 รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ คือ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ซึ่งถือเป็นคนในสายของ “สมคิด” ทั้งคู่  สอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่ถูกมองว่า “สมคิด” เป็นหนึ่งในแกนหลักในการรวบรวมแม่น้ำหลายสายให้ไหลมารวมเป็น รัฐบาลใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปัจจุบัน เพื่อผลักดันพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ภายใต้การเปลี่ยนรูปมาจากการแตกกลุ่มการเมืองเดิมในยุค “ทักษิณ” จากตำนานกลุ่ม 11 กบถ ร้าน “ไพซาโน่”  ร้านอาหารอิตาเลียนย่านถนนหลังสวน นำโดย สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์, พินิจ จารุสมบัติ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, สุรนันทน์ เวชชาชีวะ จน “สมคิด” กลายเป็น “บุรุษผู้น่ากลัว-ปุโรหิตสองหน้า” ถูกมองจาก “เด็กนายแม้ว” ในยุคนั้นว่า “ไม่น่าไว้วางใจ” เพราะจะกลายมาเป็น นายกฯ สำรองในยามเกิดวิกฤติ นำมาสู่การแตกตัวของกลุ่มการเมืองในเวลาต่อมา จนเกิดพรรคการเมืองที่ชื่อ รวมใจไทยชาติพัฒนา และ เพื่อแผ่นดิน

โดย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นพรรคการเมือง ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากพรรคการเมืองที่เคยมีอยู่แล้ว อาทิ กลุ่มของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยรวมกลุ่มรวมใจไทย เข้ากับพรรคชาติพัฒนา มีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนเข้าร่วม เช่น นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, ดร.พิจิตต รัตตกุล, รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายสมคิด

สำหรับ พรรคเพื่อแผ่นดิน ภายใต้ร่มเงา ของ “สุรเกียรติ เสถียรไทย” ก่อตั้งขึ้นในกลางปี พ.ศ. 2550 โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ประกอบไปด้วย ส.ส.ภาคอีสาน เช่น กลุ่มของ นายพินิจ จารุสมบัติ, นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, นายวัฒนา อัศวเหม, นายโสภณ เพชรสว่าง และอดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในกลุ่มกรุงเทพ 50 ของ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รวมทั้งกลุ่มบ้านริมน้ำของ นายสุชาติ ตันเจริญ

ซึ่งตัวละครหลายคนก็อยู่ในกลุ่มการเมืองที่  คสช.เชื่อมต่ออยู่ในขณะนี้ !!

การรวบรวมไพร่พลทางการเมืองเพื่อหนุน คสช. จากแกนหลักที่ชือ “สมคิด” จึงไม่ได้ยากเย็นทั้งการต่อสาย และใช้คอนเนกชั่นเดิม ที่ไม่เคยขาดการประสานงาน นับแต่ทัพ “ทักษิณ ชินวัตร” แตก

(นายสนธยา และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม)

  • ภารกิจ “บิ๊กเนมสีเขียว” รวบรวมไพร่พล

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา สร้างความฮือฮา แต่ไม่ผิดคาด เมื่อที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งสองพี่น้องตระกูล “คุณปลื้ม” คือ นายสนธยา และนายอิทธิพล คุณปลื้ม สองแกนนำพรรคพลังชล บุตรชายนายสมชาย คุณปลื้ม  หรือ “กำนันเป๊าะ” ผู้กว้างขวางภาคตะวันออก มาร่วมงานกับรัฐบาล คสช. พร้อมกับ กระแสข่าวว่า นอกจากจะมี “สมคิด” เป็นผู้ดำเนินการแล้ว ยังมีนายทหารยศพลเอก 2 คน คอยร่วมประสานงานด้วย

หนึ่งในนายทหารระดับ “บิ๊ก” ที่ถูกพุ่งเป้าไปมากที่สุดหนีไม่พ้น “เสธ.แดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)  ที่มีความใกล้ชิดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ เมื่อครั้ง “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร  คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด  (ผบ.ทสส.)

ส่วนนายทหารอีกคนที่มีบทบาทในการเดินเกมส์ทางการเมือง คือ พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับ “สมคิด” นับจากบาดแผลการปรับ ครม. จนหลุดจากเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ  แต่ใน “งานใหญ่” ภายใต้โจทย์เดียวกัน ต่างคนต่างก็ต้อง “ดีล” ตามช่องทางที่มี เพื่อปิดจ็อบให้เร็วที่สุด เพราะเวลาลงสู่สนามเลือกตั้งเหลือไม่มากนัก แต่กระนั้น “ฉัตรชัย” ก็มีทีมในการดีลการเมือง ในการเจาะบางจังหวัดภาคกลาง ตั้งแต่ทำงานที่กระทรวงเกษตรฯ โดยมีเงาของ “ธนพร ศรียากูล” อดีตหัวหน้าพรรคคนธรรมดา และเคยเป็นมือขวาของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”

(ภาพจาก FB : วัฒนา เมืองสุข)

ยังไม่นับปรากฎการณ์ “ยื้อยุด” หลังจากเกิดภาพถ่ายระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนใส่รองเท้าแตะกับ “เผดิมชัย – ไชยยศ – ไชยา – อนุชา สะสมทรัพย์” อดีตนักการเมืองอาวุโสของจังหวัดนครปฐม พร้อมกับ พล.อ. ฉัตรชัย พล.อ.อภิรัชต์ ที่ สนามกอล์ฟ “นิกันติ” ของตระกูลสะสมทรัพย์ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” และก๊วนเพื่อไทยจะไปออกรอบที่สนามกอล์ฟดังกล่าว ถ่ายเป็นภาพประกบคู่เมื่อวันที่  18 เม.ย.ที่ผ่านมา

แกนนำเพื่อไทยไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟ “นิกันติ” ของตระกูลสะสมทรัพย์ ( 18 เม.ย. 61 )

นอกจากนั้น ยังมีรายงานข่าวว่า นายสกลธี ภัททิยกุล และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคชาติไทย ที่เคยเดินทางเข้าพบ “สมคิด” ที่ห้องทำงาน ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล จะมาอยู่พรรค คสช.ด้วย

(นายสกลธี ภัททิยกุล)

(นายณัฐพล ทีปสุวรรณ)

…จะเห็นได้ว่า สูตรการทำการเมืองของ คสช. ไม่ใช่การตั้งพรรคการเมืองใหญ่เพื่อรวมกลุ่ม  แต่เป็นการรวมกลุ่ม เพื่อดีดลูกคิดทำการเมือง ที่มีทั้งชื่อ กลุ่มมัชฌิมา ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่เหยียบเมืองสุโขทัยมาแล้ว กลุ่มเนวิน – เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกุล จากพรรคภูมิใจไทย รวมถึง พรรคชาติไทยพัฒนา ของ “ลูกท้อป” วราวุธ ศิลปอาชา และกลุ่มบ้านริมน้ำ – สุชาติ ตันเจริญ

รวมไปถึงการเปิดตัวของ “เสี่ยติ่ง” สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตส.ส.หลายสมัย ที่เปิดบ้านพักย่านถนนราชวิถี แถลงร่วมกับอดีต ส.ส.จากพรรคต่างๆ เกือบ 30 ชีวิต ประกาศตั้งพรรคพลังพลเมือง เน้นกวาด ส.ส.พื้นที่ภาคอีสาน. ไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พร้อมทั้ง “อีเว้นท์” ใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7- 8 พ.ค.นี้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์  แบบที่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองรอชมตาไม่กะพริบ สรุปทริปการเดินสายลงพื้นที่ช่วงโค้งแรก แบบ “ฟินนาเร่” ที่ฐานใหญ่ของ “เนวิน ชิดชอบ”

  • “เซฟเฮ้าส์-ลมใต้ปีก” ขับเคลื่อนพรรค

อาจมีข้อสันนิษฐานว่า การทำการเมืองที่ต้องปรับรูปแบบใหม่ในยุค คสช. น่าจะใช้ “ค่ายทหาร” ในการจัดกลุ่มเหมือนการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารที่เคยเกิดขึ้น ทว่าในยุคนี้ “กุนซือ” ในการเขียนแผนที่ทางการเมือง ไม่ใช่ทหาร แต่กลายเป็นพลเรือนที่ต้องใช้ “ทหาร” เป็น “ต้นทุน” ในการนำไปใช้ต่อรองทางการเมือง

จึงเกิดกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องในการพูดถึง “เซฟเฮ้าส์” อาคารแห่งหนึ่งย่านถนนพระรามเก้า และ อาคารสำนักงานแห่งหนึ่งของ “เซ็นทรัลเวิลด์” ที่ “สมคิด” ไว้พบปะ พูดคุยกับคนทุกสาขา อาชีพ แม้กระทั่งนักการเมือง

แม้กระทั่ง  ตึกบัญชาการ ห้องทำงานรองนายกรัฐมนตรี ของ “สมคิด” ที่มีนักการเมืองเข้ามาพบ  โดยมีเรื่อง “อีอีซี” เป็นหัวข้อสนทนาระดับ “ท็อป” ที่นักการเมืองหยิบขึ้นมาอ้างได้ ในทุกการนัดพบ

นอกจากนั้น ยังมีเหล่าบรรดา “แรงหนุน” สำคัญ ที่ต้องครบเครื่องจากทุกภาคส่วน ทำให้การประสานงานกับเครือข่ายกลุ่มทุนให้มาถือธงอยู่ข้างรัฐบาล เป็นไปอย่างหนาแน่นและหลากหลาย  ผ่านจากบริษัทประชารัฐรักสามัคคีแหล่งรวม “อภิมหาทุนไทย” มูลนิธิสัมมาชีพที่มี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” จัดแจงให้ในฐานะแม่บ้าน  เป็นต้น

แต่ที่น่าสนใจคือ การปรับทัพของ คสช. เพื่อรับมือในสนามเลือกตั้งไม่ได้หยุดนิ่ง หรือ เป็นโมเดลที่ตายตัว เพราะเป้าหมายใหญ่คือการ “วางหมาก” เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีกสมัย ซึ่งการจัดทัพในการต่อสู้นั้นต้องมีความมั่นใจว่า “สู้แล้วต้องชนะ”

ซึ่งที่ผ่านมา “โพลล์” คะแนนนิยมในตัว “บิ๊กตู่” จะอยู่ในระดับทรงๆ ในขณะที่รัฐบาล คสช. มีแต่ “ทรง” กับ “ทรุด” อีกทั้งในอนาคตยิ่งวัดยากว่า เสียงในรัฐสภาหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้น จะยังมั่นคงอยู่กับ “บิ๊กตู่” อีกหรือไม่ ดังนั้นการจะใช้ “คอนเซ็ปต์” นายกฯ คนนอก อย่างเดียวในการจัดตั้งรัฐบาล อาจไม่ยืดหยุ่นนัก

จึงมีกระแสข่าวในทำนองว่า อาจจะมีการปรับสูตรใหม่ ในการดัน “บิ๊กตู่” ขึ้นนายก ฯ คนใน บรรจุชื่ออยู่ในพรรคการเมือง ซึ่งการโหวตจะวัดกันที่จำนวนเสียง ส.ส. ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงในสภาผู้แทนจากการโหวตเปิดเผยเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือ เกินกว่า 250 เสียง ก็ได้เป็นนายกฯ

ต่างจากนายกฯ คนนอก ที่ดำเนินการได้ยากกว่า เนื่องจาก รัฐธรรมนูญระบุว่า กรณีสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อไม่ได้ ก็ให้ ส.ส.500 คน กับ วุฒิสมาชิก 250  คนจากการสรรหาโดย คสช.ประชุมร่วมกันแล้วใช้เสียง 500 คน หรือจำนวน 2 ใน 3 จากทั้งหมด โหวตยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากคนใน จากนั้นก็ให้โหวตเลือกจากคนนอก หรือจะเอาคนในที่ ส.ส.เคยโหวตแล้วไม่ได้ถึงครึ่ง (ไม่ถึ ง 250 คน) มาโหวตได้อีกครั้ง

(ภาพจากสำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล)

แต่การใช้สูตร นายกฯ คนใน ขายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเสนอของพรรคการเมือง ก็ดูเสี่ยงเกินไปที่ จะ “เละ” ก่อนได้รับเลือกจริงด้วยข้อหา “ตระบัดสัตย์” เพราะแค่การหวนกลับไปใช้บริการ “นักการเมือง” ก็ถูกโจมตีว่ากลืนน้ำลายตัวเองไปแล้ว

ทางสองแพร่งดังกล่าว จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ ตัว “บิ๊กตู่” เอง  ที่ต้องกำหนดกลยุทธ์ ให้ดี และต้องไม่เสียราคาไปมากกว่านี้

สำหรับ “พรรค คสช.” ที่อยู่ระหว่างเขียนแผนที่การสู้ มีทั้งพลเรือน นักการเมือง กลุ่มทุน เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนแผนที่ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมีเดิมพันเป็น การดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัยเดินตามยุทธศาสตร์ 20 ปีที่วางไว้ให้ขับเคลื่อน เพียงแต่ว่า “ยุทธวิธี” ในการไปสู่เป้าหมายต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตาม “เงื่อนไข-ปัจจัย” ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยยากที่จะคาดเดาว่า “ผลลัพธ์”จากการปรับทัพครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือไม่เท่านั้น !!

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า