
นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ภาพจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี )
ประเด็นคือ- รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย เผยกรณีตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชลไม่ขัดตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ไม่จำเป็นต้องลาออกหากลงเลือกตั้งในอนาคต ด้านบิ๊กป้อม ปัดออกความเห็นกรณีดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18เม.ย.61) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยสื่อมวลชนได้สอบถามถึงกรณีของการแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของรัฐบาลว่า มีแนวโน้มจะทาบทามลงเล่นการเมืองกันต่อในนามพรรค คสช. หรือไม่นั้น โดยพลเอกประวิตร กล่าวเพียงสั้นๆว่า “ไม่รู้ ให้ไปถามกับตัวท่านนายกรัฐมนตรีเอง”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะเข้ามาดูในงานส่วนใดของนายกรัฐมนตรี ส่วนอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนคาดว่าจะได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งที่ปรึกษาประมาณ 60,000-70,000 บาท ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ไม่ได้มีการพูดถึงคุณสมบัติ เพราะมีการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอมา
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ได้ขัดกับการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งก็เป็นกันเช่นนี้ แต่หากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้
ส่วนที่มีบางฝ่ายมองถึงความเหมาะสมในความเป็นกลางที่ช่วงใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งนั้น ตนไม่ทราบ แต่ที่คนทราบคือนายสนธยานั้นจะเข้ามาช่วยงานเกี่ยวกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งการแต่งตั้งนายสนธยาก็เหมือนกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนที่มีที่ปรึกษาได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถมีได้ถึง 5 คนตำแหน่งที่ระบุมากว่า 20-30 ปี ทั้งนี้ นายสนธยา ไม่มีจำเป็นต้องลงออก เพื่อไปลงรับสมัครเลือกตั้ง เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีที่ไม่ต้องลาอก แต่ในตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี่ถ้าหากลาออกรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะลาออกก่อน 90 วันที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ส่วนที่มีการมองว่าเป็นการหาแนวร่วมเพื่อสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งนั้น ต้องไปถามนายกรัฐมนตรีเอง