SHARE

คัดลอกแล้ว

ถึงขั้นนี้แม้จะไม่ยอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำ  แต่คนก็รู้กันโดยทั่วไปว่ามีความพยายามที่จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกหนึ่งสมัย ภายใต้การเดินเกมของ “ว่าที่ผู้จัดการรัฐบาล” อย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หลายก๊วนหลายกลุ่มถูกพลัง “ดูด” ให้เข้ามาร่วมงาน

โดยกลุ่มที่เข้ามาร่วมนั้น ว่ากันว่าก่อนจะมาร่วมนั้นต้องผ่านเส้นทางวิบากมาไม่น้อย เพื่อที่สุดเส้นทางจะมาบรรจบกัน จะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเรื่องเจตนาก็แล้วแต่จะคาดเดา เราลองมาดูว่าใครที่จะมาร่วม และใครต้องประสบพบเจอหรือได้รับอะไรก่อนจะเข้ามาร่วมทางกันบ้าง

1.พรรคพลังชล

“พรรคพลังชล” พรรคการเมืองในระดับจังหวัด จนถูกเรียกว่าเป็น “พรรคจังหวัด”  เพราะมีฐานเสียงหลักอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และขับเคลื่อนโดยกลุ่มตระกูล “คุณปลื้ม”  อันมีบิดาคือ “สมชาย คุณปลื้ม” หรือ “กำนันเป๊าะ” กำนันตำบลแสนสุข  ผู้กว้างขวางแห่งชลบุรีเป็นต้นทาง

ตระกูล “คุณปลื้ม” ก้าวเข้าสู่การเมืองนำโดย “สนธยา คุณปลื้ม” บุตรชาย และเคยปักธงหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะแยกมาตั้ง “พรรคพลังชล”  ที่แค่ชื่อก็ชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมายและฐานเสียง

ทันทีที่แยกออกจากพรรคภูมิใจไทย พวกเขาก็กระโดดลงสนามเลือกตั้ง และเรียกได้ว่ากวาดพื้นที่ชลบุรียกจังหวัด ส.ส. จำนวน 7 คนของพรรค เป็น ส.ส. พื้นที่ชลบุรีทั้งหมด 6 คน  ส่วนอีกหนึ่งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งก็คาดการณ์กันว่าคะแนนที่ได้ก็มาจากพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพราะแม้ชื่อเสียงระดับชาติของ “กำนันเป๊าะ” จะไม่งดงามนัก แต่ผลงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้นต้องถือว่าหาเปรียบได้ยาก และอำนาจบารมีเพียบพร้อม

แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นชนักปักหลังกลุ่มการเมืองนี้มาตลอดคือภาพลักษณ์ของ “กำนันเป๊าะ” ซึ่งโดนคดีหลายคดี โดยก่อนหน้านี้เขาหลบหนีคดี แต่สุดท้ายก็ถูกจับได้ และถูกศาลพิพากาษาให้จำคุก 30 ปี 4 เดือน จากสองคดีคือ ทุจริตการจัดซื้อที่ดินเขาไม้แก้ว และคดีจ้างวานฆ่ากำนันยูร “ประยูร สิทธิโชติ”

ว่ากันว่าการถูกจับนั้นเป็นความตั้งใจของเจ้าตัวที่กำลังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง

และจู่ๆ เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ก็มีคำสั่งให้พักโทษ “กำนันเป๊าะ” โดยให้เหตุผลว่าอายุครบ 70 ปี และป่วยหนักเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย 

อย่างไรก็ตามก็มีสียงครหาว่า การให้พักโทษครั้งนี้เป็น “ดีล” เพื่อแลกให้เข้าร่วมงานการเมืองกับรัฐบาล และพรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่โดย คสช. แน่นอนว่ายามนั้นย่อมมีเสียงปฏิเสธ

เล่าลือว่าการพักโทษครั้งนี้เป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้พรรคพลังชลมาเข้าร่วมกลุ่มและทำงานกับพรรคการเมืองที่กำลังจะตั้งขึ้นใหม่โดย คสช. หรือไม่

ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมาก็มีคำสั่งแต่งตั้ง “สนธยา คุณปลื้ม” เป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองของนายกรัฐมนตรี และตั้ง “อิทธิพล คุณปลื้ม”  เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

2. กลุ่ม “สะสมทรัพย์”

กลุ่มการเมืองจากตระกูล  “สะสมทรัพย์” เจ้าของพื้นที่จังหวัดนครปฐม ที่ขับเคลื่อนโดย “สี่พี่น้อง”  “เผดิมชัย – ไชยยศ –  ไชยา –  อนุชา”  ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของตระกูลนี้ถูกมองในทางที่ไม่ดีนัก และถูกตั้งข้อหาเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เรื่อยๆ  แต่ไม่ว่าภาพลักษณ์จะเป็นอย่างไร คะแนนเสียงในพื้นที่กลับสวนทางชื่อเสียง

ชื่อ “สะสมทรัพย์” และบารมีของพวกเขายังครองใจชาวนครปฐมเป็นอย่างดี การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 จาก 5 ที่นั่งในนครปฐม กลุ่มของพวกเขากวาดไปถึง 4 ที่นั่ง

ที่ผ่านมาใครที่ต้องการฐานเสียงแห่งนี้ก็ล้วนแล้วแต่ต้องจีบมาร่วมงานแทบทุกครั้ง และพวกเขาผ่านมาแล้วหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวหน้า พรรคเอกภาพ พรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังเคยทำงานร่วมกับรัฐบาลประชาธิปัตย์อีกด้วย

แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกมองเป็นสีเทา ทำให้มักถูกจับตาเสมอ และเมื่อมีการรัฐประหาร 2557 พวกเขาก็ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2558  ตำรวจกองปราบปรามเปิดยุทธการ “ปฐมเจดีย์” ค้นบ้านผู้มีอิทธิพล และนักการเมืองท้องถิ่น โดยหนึ่งในนั้นเป็นบ้านของ “ไชยา สะสมทรัพย์” และครั้งนั้นตำรวจแสดงหมายค้นผู้ต้องสงสัยฆ่าตำรวจสันติบาล

จากนั้นถัดมาอีก 1 ปี วันที่ 3 พ.ค. 2559 ตำรวจทหารก็สนธิกำลังภายใต้ปฏิบัติการ “นครปฐมร่มเย็น” เข้าค้นบ้านของตระกูล “สะสมทรัพย์” คราวนี้พบอาวุธปืนและสัตว์ป่าหลายชนิด ทำให้พวกเขาโดนข้อหาครอบครองอาวุธสงครามโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหามีสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง รวมถึงข้อหาลักลอบใช้ไฟฟ้า จากการต่อสายจากไฟสาธารณะเข้ากับสปอตไลท์ในบ้าน และพบการลักลอบตั้งสถานีวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต

เรียกได้ว่าหลังการรัฐประหาร เขาเป็นเป้าหมายในการตรวจค้นกดดันลำดับต้นๆ

แต่ต่อมากลับปรากฏภาพถ่ายรูปร่วมกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเหล่า คสช.  ในการไปตีกอล์ฟที่สนาม “นิกันติ” ซึ่งเป็นธุรกิจของกลุ่ม “สะสมทรัพย์” ท่ามกลางการจับตาถึงการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง  แม้ในขณะนั้นจะออกมาปฏิเสธว่าเป็นเพียงการตีกอล์ฟธรรมดา และไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนและไม่มีนัยทางการเมือง

จนถึงขณะนี้กลุ่ม “สะสมทรัพย์” กลับยังไม่ไปยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากพ้น 30 เม.ย. แล้วยังไม่ไป พวกเขาก็จะพ้นจากพรรคโดยอัตโนมัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.

แม้แกนนำพรรคเพื่อไทยจะพยายามกลับไปจีบพวกเขาให้มายืนยันตัวโดยนัดไปตีกอล์ฟที่สนาม “นิกันติ” ย้อนรอบ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่ก็ไม่มีคำมั่นว่าพวกเขาจะกลับพรรคแต่อย่างใด

 

3. กลุ่มบ้านริมน้่ำ

“สุชาติ ตันเจริญ”  นักการเมืองเก๋าประสบการณ์ หัวหน้ากลุ่ม “บ้านริมน้ำ” จ.ฉะเชิงเทรา อดีตสมาชิกกลุ่ม 16 ที่ชื่อเสียงคล้ายจะเลือนหายไปช่วงหนึ่ง แต่เมื่อกติกาเอื้อให้พวกเขากลับมา พวกเขาก็ไม่พลาดโอกาส พวกเขามีสมาชิกในกลุ่มไม่น้อย กลุ่ม “สะสมทรัพย์” ก็เคยเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ และพวกเขาก็มี ส.ส. ในหลายพื้นที่ โดยมีทั้งในภาคกลางและภาคอีสาน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามเชื่อมโยง “สุชาติ” เข้ากับคดี “วิคตอเรีย ซีเคร็ท” อาบอบนวดหรูกลางกรุงซึ่งมีพฤติการณ์ค้ามนุษย์ โดยขณะนี้ “นายใหญ่” กำพล วิระเทพสุภรณ์ ได้หลบหนีออกไปต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้มีข้อมูลว่า “วิตอเรียซีเคร็ท” นั้น “กำพล” ซื้อมาจาก “ชูวิทย์ กมลวิศิฏฐ์” อดีตเจ้าพ่ออ่างที่ล้างมือไปแล้ว โดย “กำพล” นั้นมีความมีความสนิทชิดเชื้อกับ “สุชาติ ตันเจริญ” ที่เป็นคน จ.ฉะเชิงเทรา เช่นกัน และเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ ทั้งนี้มีการระบุว่าทั้งสองช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหลายๆ เรื่องและอาจจะรวมถึงเรื่องเงินทุนด้วย

เมื่อการเมืองได้ขยับ พวกเขาก็มีข่าวว่าจะเข้ามาร่วม โดยมีการระบุว่าเป็นการประสานงานของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

 

4.กลุ่ม กปปส.

กลุ่ม กปปส. ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ คสช. ตั้งแต่ต้น นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคน แม้การรัฐประหารจะเสร็จสิ้น แต่ดูเหมือนภารกิจยังไม่จบ ที่ผ่านมา กปปส. ให้ความสนับสนุนและประกาศจุดยืนชัดว่าหนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ แต่เมื่อยังไม่มีความชัดเจน พวกเขาก็ดำเนินการริเริ่มตั้งพรรคการเมืองในแบบของตัวเอง เพราะประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”  ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก

อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมีการตั้งพรรคที่แนวทางเหมือนกัน จึงมีความพยายามพามาร่วมถนนเส้นเดียวกัน โดยเราจะเห็นแกนนำ กปปส. อย่าง “สกลธี ภัททิยกุล” และ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เข้าพบ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ “สกลธี” จะได้ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการ กทม. ไปในที่สุด โดยเชื่อกันว่าจะเข้ามาช่วยในการสู้ศึกเลือกตั้ง กทม.

หากที่ผ่านมาเส้นทางของ กปปส. ก็ไม่ได้ราบรื่นเพราะมีคดีรออยู่เป็นหางว่าว โดยเฉพาะ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”  ที่ต้องสู้คดีกบฏ และเส้นทางข้างหน้าก็ต้องต่อสู้อีกยาวนานเช่นกัน เช่นเดียวกับกลุ่ม กปปส. ปีกพันธมิตรเดิมที่จะมาทำงานด้วยกัน ต่างก็ต้องคดีกันถ้วนหน้า อาทิคดีปิดสนามบินที่เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ 13 แกนนำแล้ว

——-

บทความโดย “อสรพิษ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า