นายกฯ พบปะนักศึกษา ม.อุบลราชธานี แนะให้พัฒนาตนเองให้ทันกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ เรียนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต
วันที่ 24 ก.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังอาคารเทพรัตนสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ราชธานีเจริญศรีโสธร : อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) และเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 ณ ห้องบอลรูม เอบี ชั้น 2 อาคารเทพรัตนสิริปภา โดยก่อนการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้พบปะกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มาให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองและอบอุ่น
พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย
1.โครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้จิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาค และเกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงจำหน่ายเป็นอาชีพหลักได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด 2 รูปแบบ คือ ชนิดผงพร้อมชง กับชนิดก้อนแบบคริกเก็ตคิ้ว ซึ่งสามารถรับประทานได้ง่ายและสะดวก โดยในอนาคตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดผงพร้อมชงให้มีกลิ่นที่ดียิ่งขึ้น
2. ผักเกษตรอินทรีย์ จากศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์เมืองศรีไค เป็นการรวมกลุ่มของประชาชนในชุมชนปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนแบบยกโต๊ะ ซึ่งการปลูกผักดังกล่าวนอกจากปลอดสารพิษแล้วยังป้องกันเชื้อราในดิน ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค
3. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเม่า เช่น ข้าวเม่าแปรรูปบรรจุถุงสำหรับหุงและรับประทานได้ทันที ก๋วยจั๊บญวนจากข้าวเม่า ผลิตภัณฑ์ผงข้าวเม่าพร้อมชง ฯลฯ
4. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลฯ นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปพืชสมุนไพรที่ดำเนินการร่วมกับศูนย์แพทย์แผนไทยพนา ทั้งผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากขมิ้น ฟ้าทะลายโจร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเซรั่มจากสมุนไพร สครับมะขาม อาหารเสริมเห็ดนางรม (แบบเม็ด) มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดสำหรับผู้มีอาการเป็นโรคเก๊า และเจลพริก บรรเทาอาการปวด ขณะนี้ผลิตภัณฑ์เห็ดนางรมและเจลพริก อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องการจดสิทธิบัตรจาก อย. คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เรียบร้อยในเร็ว ๆ นี้และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่อไป
5. ผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้าจากเปลือกไหม ผลงานของนายกฤษดา รัตนางกูร คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการนำเปลือกไหมที่ดึงทิ้งมาพัฒนาต่อยอดทอเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าเปลือกไหมที่สวยงาม ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืนในการสร้างตราสินค้าให้กับชุมชน
6. ทีมหุ่นยนต์ กันเกรา (นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลฯ) ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU แห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 (แชมป์ ABU Robocon 2018 Thailand) และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขัน ABU Robocon 2018 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในวันที่ 24 – 28 ส.ค. 2561
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมการดำเนินงานต่างๆ พร้อมย้ำการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตและราคาที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแนะนำให้นักศึกษาเรียนในสาขาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และการพัฒนาประเทศในอนาคต และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันได้ให้กำลังใจกับทีมหุ่นยนต์กันเกรา (นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลฯ) ซึ่งเป็นตัวประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขัน ABU Robocon 2018 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ขอให้ทุกคนตั้งใจมั่น ทำหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่แม้ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม และให้นำผลที่ได้มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีก และขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ
จากนั้นนายกฯ ไปเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เข้าร่วมประชุม โดยนายกฯกล่าวก่อนการประชุมว่า เป็นโอกาสดีที่ภาครัฐเอกชนได้มาพบปะหารือกันในวันนี้ เพราะการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการติดตามความก้าวหน้าแผนงานของโครงการต่างๆที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และมาติดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แก้ปัญหารวมทั้งอุปสรรค ที่อาจทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รวมถึงการปรับแก้แผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกในปัจจุบัน
นายกฯ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง เป็นกลุ่มจังหวัดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมีศักยภาพและส่วนที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่อื่น จึงต้องผลักดันให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยการเพิ่มโอกาสให้มากขึ้น ซึ่งมีลำดับความสำคัญในการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผน ที่ต้องเชื่อมต่อทั้ง 4 จังหวัดในกลุ่มให้ได้ เพื่อนําพาทั้งกลุ่มให้พัฒนาไปพร้อมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ มีการกระจายรายได้ มีการสร้างความต่อเนื่องเชื่อมโยง ในลักษณะไร้รอยต่อ และจากการตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาของประชาชนเมื่อวานนี้ (23 กค.) ยังพบว่าเป็นปัญหาเดิม โดยเฉพาะเรื่องรายได้ และผลผลิตตกต่ำ ซึ่งจะต้องหาเป้าหมายให้เจอ และนำไปสู่การแก้ปัญหาเป็นรายกรณี
อ่านข่าวอื่นได้ที่
เว็บไซต์ : workpointnews.com
เฟซบุ๊ก: ข่าวเวิร์คพอยท์ ตลาดข่าว
ยูทูบ: workpoint news
ทวิตเตอร์: workpoint news
อินสตาแกรม: workpointnews