SHARE

คัดลอกแล้ว

ย้อนตำนาน “วัดพระธาตุดอยตุง” สถานที่ทำพิธีบวชทีมหมูป่า ก่อนจะไปปฏิบัติศาสนกิจต่อที่ “วัดพระธาตุดอยเวา” จนกระทั่งลาสิกขา

ผ่านไปแล้วสำหรับงานบรรพชาอุปสมบท ทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีและผู้ฝึกสอน รวม 12 คน ที่วัดพระธาตุดอยตุง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในช่วงเช้าของวันที่ 25 ก.ค. 61 ที่ผ่านมา เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมทดแทนพระคุณบิดา-มารดา และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือจ่าแซม นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ กองทัพเรือ ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน โดยได้ทำพิธีอุปสมบทที่ “วัดพระธาตุดอยตุง” ก่อนที่ทั้งหมดจะไปปฏิบัติศาสนกิจที่ “วัดพระธาตุดอยเวา” จนกระทั่งลาสิกขา

โดยวัดทั้งสองแห่งล้วนเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดในปัจจุบันด้วย “ทีมข่าวเวิร์คพอยท์” จึงอยากพาผู้อ่านทุกท่าน ย้อนเวลาไปดูประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่งของวัดทั้งสองกัน

ประวัติ “วัดพระธาตุดอยตุง” สถานที่ทำพิธีบวชทีมหมูป่า

วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่า “หน้าอก” ของ “ดอยนางนอน” ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา โดยดอยตุงมีระยะทางจาก อ.เมืองเชียงราย ประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย มองเห็นได้ในระยะไกล เนื่องจากพระธาตุดอยตุงตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 เมตร

พระธาตุดอยตุง เป็นพระธาตุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ จ.เชียงราย ซึ่งมีความเก่าแก่ สวยงาม มองเห็นวิวธรรมชาติของเมืองเชียงรายได้อย่างเต็มตา มีลักษณะเป็นเจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กัน ในรูปแบบทรงปราสาทยอดทรงระฆังกลมขนาดเล็ก ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม กรุกระเบื้องดินเผา และถือเป็น พระธาตุประจำปีกุน ซึ่งปีกุนในคติล้านนานั้น สัญลักษณ์คือช้าง (กุญชร) ไม่ใช่หมูดังที่เราเข้าใจกัน นอกจากนี้ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุง จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ สปป.ลาว เดินทางเข้ามานมัสการเป็นประจำทุกปี และในฤดูหนาวบรรยากาศรอบองค์พระธาตุจะสวยงามเป็นพิเศษ เพราะถูกหมอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณ

ตำนานแห่งพระธาตุ

ตำนานของพระธาตุดอยตุงกล่าวว่า นี่คือเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนาอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ที่พระเจ้าอชุตราชทรงอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่ากันว่าในอดีตได้มีการปักธงตะขาบ (ตุง) ที่มีความยาวถึงพันวาไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงไปตกที่ไหน ก็จะยึดเอาเป็นที่ตั้งพระสถูป เหตุนี้เองจึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อพระธาตุดอยตุง

แต่เดิมพระธาตุดอยตุงมีองค์เดียว รูปแบบการก่อสร้างเป็นศิลปะเชียงแสนย่อมุมไม้สิบสอง คล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ ทั้งนี้ เมืองเชียงรายสมัยก่อนเป็นเมืองร้างอยู่หลายครา พระธาตุดอยตุงจึงขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ ตัวพระธาตุทรุดโทรมและพังทลายลง พระเจ้ามังรายมหาราชจึงทรงมีรับสั่งให้สร้างเจดีย์อีกองค์ไว้ใกล้กันอีกองค์หนึ่ง จึงทำให้พระธาตุดอยตุงมี 2 องค์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 องค์พระธาตุทรุดโทรมมาก ครูบาเจ้าศรีวิชัย กับประชาชนเมืองเชียงรายจึงได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็ก 2 องค์ บนฐาน 8 เหลื่ยม ตามศิลปะแบบล้านนา การบูรณะครั้งหลังสุดมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2516 โดยกระทรวงมหาดไทยได้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบพระเจดีย์เดิมไว้

สำหรับการเดินทางไปวัดพระธาตุดอยตุง ใช้เส้นทางเชียงราย – แม่สาย – พระตำหนักดอยตุง ก่อนจะถึงทางแยกเข้าพระตำหนักดอยตุง ให้ตรงไปทางสวนรุกขชาติดอยช้างมูบ จะมีป้ายบอกทางขึ้นวัดพระธาตุดอยตุง ระยะทางจากแยกพระตำหนักถึงวัดประมาณ 7 กม. ต้องขับด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีรถสวนลงมาได้ ส่วนระยะทางจากเชียงรายถึงพระธาตุดอยตุงประมาณ 60 กิโลเมตร โดยเปิดให้นมัสการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่วัดพระธาตุดอยตุง โทร. 053-767-015-7

 

ประวัติ “วัดพระธาตุดอยเวา” สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของทีมหมูป่า

สำหรับ “วัดพระธาตุดอยเวา” นอกจากเป็นสถานที่ที่สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีทำพิธีปลงผม และพิธีบายศรีสู่ขวัญนาคแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่สมาชิกทีมหมูป่าจำวัดปฏิบัติธรรมด้วย หากไปดูประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุแห่งนี้แล้วจะเห็นว่า มีความเก่าแก่และเป็นที่เคารพบูชาของชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านมาช้านาน

พระธาตุดอยเวา สร้างขึ้นใน พ.ศ.296 ในรัชสมัยพระองค์เวา รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองนครโยนกนาคพันธุ์ โดยชื่อนั้นได้นำมาจากพระนามของพระองค์เวา ต่อมาพระธาตุเจดีย์ได้พังลงตามกาลเวลา ซึ่งในตอนนั้นคฤหบดีอำเภอแม่สาย ได้ร่วมกับ พระภิกษุดวงแสง รัตนมณี พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และกรมศิลปากร จึงร่วมกันจัดสร้างขึ้นใหม่

ในการขุดแต่งครั้งนั้น พบผอบหินสีดำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 พระองค์ จึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในองค์พระธาตุดังเดิม ซึ่งมีการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2494 และสร้างเสร็จพร้อมฉลองสมโภชพระธาตุในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 โดยมีพุทธบริษัททั้งสองประเทศเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง เพราะถือว่าเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับความสำคัญของวัดพระธาตุดอยเวานั้น นอกจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระธาตุดอยเวา พระธาตุที่เชื่อกันว่า มีความเก่าแก่เช่นเดียวกับพระธาตุดอยตุงแล้ว พระธาตุดอยเวายังตั้งอยู่บนยอดดอยเวา แต่พระอุโบสถและเขตสังฆาวาสจะอยู่ที่เชิงดอย โดยผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการต้องเดินขึ้นบันไดไปนมัสการ ขณะที่การจัดประเพณีนมัสการพระธาตุในทุกๆ ปีนั้น จะมีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ หรือตรงกับเดือน 3 ใต้ คือ “วันมาฆบูชา” และมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุในวันสงกรานต์ของทุกปี

จุดชมวิวมองเห็นได้ไกลถึงองค์เจดีย์ชเวดากองจำลองในประเทศเมียนมา

สิ่งสำคัญในวัดพระธาตุดอยเวาแห่งนี้  นอกจากจะมีพระธาตุเก่าแก่ให้ได้กราบสักการะบูชาแล้ว หากขึ้นมาที่นี่ ยังมีหอชมทิวทัศน์ ซึ่งสามารถชมทิวทัศน์ในตัวเมืองแม่สาย และจังหวัดท่าขี้เหล็กของประเทศเมียนมา หรือประเทศพม่าได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยาด้วย

ปัจจุบันนี้ บนพระธาตุดอยเวาได้ตกแต่งให้มีความร่มรื่นมากขึ้น และมีถนนขึ้น – ลงดอยเป็นถนนคอนกรีตอย่างดี แต่เส้นทางค่อนข้างชัน มีรูปปั้นแมงป่องช้าง หรือแมงเวาขนาดใหญ่ ตั้งเป็นสัญลักษณ์อยู่บริเวณลานกว้างทางด้านเหนือขององค์พระธาตุ ศาสนสถานที่เหมาะแก่การไหว้พระบำเพ็ญกุศล และเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย

แมงเวา สัญลักษณ์ของวัดพระธาตุดอยเวา

สำหรับการเดินทางไปวัดพระธาตุดอยเวา ให้ใช้เส้นทางไป อ.แม่สาย ตัววัดจะอยู่ก่อนถึงชายแดนแม่สายราว 100 เมตร โดยทางเข้าวัดอยู่ทางซ้ายมือ มีบันไดขึ้นไปสู่พระธาตุ หรือนำรถไปจอดบริเวณจุดชมวิวเลยก็ได้เช่นกัน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วัดพระธาตุดอยเวา โทร. 053-731-527

(ภาพและข้อมูลบางส่วนจาก: chiangmainewschiangraifocuswikipediatourismthailand)

 

อ่านข่าวอื่นได้ที่
เว็บไซต์ : workpointnews.com
เฟซบุ๊ก: ข่าวเวิร์คพอยท์ ตลาดข่าว   
ยูทูบ: workpoint news   
ทวิตเตอร์: workpoint news   
อินสตาแกรม: workpointnews

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า