SHARE

คัดลอกแล้ว

  • ที่ผ่านมา คนเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ไม่มีตำแหน่งงานรองรับที่ชัดเจน จึงมักเจอคำถามที่ว่า “เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำงานอะไร” ทำให้ “คณะวิทยาศาสตร์” เป็นคณะและสาขาวิชาที่ถูกเลือกเป็นอันดับท้ายๆ
  • คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ยกเครื่องหลักสูตร การเรียนการสอน จับมือเอกชนจัด “สหกิจศึกษา” เรียน “ข้ามศาสตร์” ผลิตบัณฑิต – งานวิจัยป้อนอุตสาหกรรม พร้อมปั้นบัณฑิตสู่ผู้ประกอบการ
  • ภาพของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตคือ การทำวิจัยในห้องแล็ปสี่เหลี่ยมในหน่วยวิจัย แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่

——————————————————————————————————————-

นโยบายผลิตนักวิทยาศาสตร์ไม่ชัด ความมั่นคง ค่าตอบแทนไม่ตอบโจทย์ เด็กเก่งเรียนวิทย์น้อยลง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ยกเครื่องหลักสูตร การเรียนการสอน จับมือเอกชนจัด “สหกิจศึกษา” เรียน “ข้ามศาสตร์” ผลิตบัณฑิต-งานวิจัยป้อนอุตสาหกรรม พร้อมปั้นบัณฑิตสู่ผู้ประกอบการ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องใช้นักวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่พบว่าเด็กเก่งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ กลับมุ่งเป้าไปที่สายอาชีพยอดนิยมอย่างแพทย์ วิศวกร ซึ่งเด็กและพ่อแม่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีความมั่นคงและค่าตอบแทนสูง ในขณะที่คนจบด้านวิทยาศาสตร์ไม่มีตำแหน่งงานรองรับที่ชัดเจน เฉพาะเจาะจง จึงมักเจอคำถามที่ว่า “เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำงานอะไร” ทำให้ “คณะวิทยาศาสตร์” เป็นคณะและสาขาวิชาที่ถูกเลือกเป็นอันดับท้ายๆ

ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีแผนที่ชัดเจนในการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กที่จะเลือกเรียนสายนี้มองไม่เห็นตำแหน่งงาน และโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ เมื่อเทียบกับแพทย์หรือสายการแพทย์ ส่วนมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่รู้กำลังคนที่หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจต้องการ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้เรียน และทิศทางการผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แม้แต่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เอง ที่ผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์มานาน ต้องรอผลสอบคัดเลือกรอบที่ 4 ถึงจะได้เด็กตามจำนวนที่ต้องการ โดยเปิดรับรุ่นละ 900 คน แต่มีเด็กจบจริงเพียง 600 คน เท่านั้น เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งย้ายไปเรียนคณะอื่น เช่น เภสัชฯ ทันตแพทย์ และมีส่วนหนึ่งที่เรียนไม่จบ

“ขณะนี้ประเทศเรากำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุค 4.0 ซึ่งต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน จึงมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์พันธุ์ใหม่ที่ตลาดยุคใหม่ต้องการ เดิมนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะอยู่ประจำตามหน่วยงานราชการหรือมหาวิทยาลัย ต่อไปจะเปลี่ยนไปอยู่ในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมมากขึ้น และเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงสำหรับคนที่จบวิทยาศาสตร์คือ การเป็นผู้ประกอบการของตัวเองหรือ สตาร์ตอัป

ส่วนที่ไปเป็นนักวิจัยจริงมีเพียง 10 – 20 % เท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานราชการมีอัตราการเปิดรับน้อย และไม่มีการเปิดหน่วยงานใหม่เพื่อรับนักวิจัยเข้าทำงาน ขณะนี้บัณฑิตของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร้อยละ 70 ไปอยู่ในภาคธุรกิจ ส่วนอีก 30% ทำงานในภาครัฐและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้มีส่วนหนึ่งไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกทั้งในและต่างประเทศ เช่น จบตรีเคมีไปต่อโทด้านปิโตรเคมี แล้วทำงานในภาคเอกชน หรือเรียนต่อปริญญาเอกเพื่อเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือทำงานในภาคธุรกิจ เช่น ปตท. SCG เบทาโกร ซีพี ฯลฯ และส่วนหนึ่งทำงานต่างประเทศ” ศ.ดร.พลกฤษณ์ กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ เผยว่า สาขาที่ได้รับความนิยมและได้งานทำสูงของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจเอกชน เช่น สาขาเคมี เคมีเทคนิค วัสดุศาสตร์ จุลชีววิทยา ธรณีวิทยา วิทยาการคอมพิวเตอร์ อาหาร รวมถึงคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ต้องการของบริษัทประกันภัย รองรับงานทางด้านการคำนวณความเสี่ยง พบว่ามีบริษัทประกันภัยหลายแห่งที่ให้ทุนนิสิตเรียนสาขานี้ ส่วนสาขาที่เด็กเรียนน้อยและหางานค่อนข้างยาก เช่น พฤกษศาสตร์ ชีววิทยาศาสตร์ เด็กที่จบปริญญาตรีส่วนใหญ่จะเรียนต่อเฉพาะทางในระดับปริญญาโท/เอก นอกจากนี้ ความต้องการนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเปลี่ยนไป ทั้งลักษณะของการจ้างงาน และความต้องการผู้เรียนมีแนวโน้มไปทางภาคธุรกิจมากขึ้น

เช่น เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรกรที่เป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ งานถ่ายภาพสำหรับคนที่จบด้านเคมีประยุกต์ ดังนั้น คณะฯ จึงได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและความสนใจของผู้เรียน

เช่น จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของการ “เรียนข้ามศาสตร์” โดยเปิดช่องทางให้นิสิตเลือกเรียนวิชาโท/เอกของคณะอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น บัญชี เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แพทย์ วิศวะ เพื่อเพิ่มโอกาสการทำงานที่หลากหลายขึ้น และอนาคตจะพัฒนาไปสู่การเปิดหลักสูตรร่วม อย่างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ที่สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตรของจุฬาฯ เปิดสอนอยู่ในขณะนี้ เป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตเกษตรกรพันธุ์ใหม่ด้านพืช สัตว์

ภาพจาก ingeniumcanada

อย่างด้านสัตว์ จะมีสัตวแพทย์มาสอนเรื่องการทำฟาร์ม มีสอนด้านบัญชี การตลาด โลจิสติกส์ ซึ่งต่อไปคณะวิทยาศาสตร์จะทำหลักสูตรในลักษณะนี้เช่นกัน เพื่อเปิดโอกาสให้บัณฑิตสามารถเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัปได้ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ “สหกิจศึกษา” เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้าไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานจริง และร่วมวิจัยกับสถานประกอบการที่เป็นพาร์ตเนอร์ เช่น ปตท. SCG โดยเรียนที่คณะฯ 2 ปี และฝึกสหกิจ 2 ปี โดยเปิดสอนนำร่อง 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรีด้านเคมี หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non – degree) ด้านเทคโนโลยีอาหาร และหลักสูตรปิโตรเคมีในระดับปริญญาโท/เอก เริ่มปีนี้เป็นปีแรก

“การฝึกสหกิจศึกษาจะทำให้นิสิตได้ประสบการณ์อาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริง ได้ทำวิจัยจริงๆ เรียนจบแล้วสามารถทำงานหรือทำวิจัยได้จริง ภาครัฐหรือภาคธุรกิจเองก็จะได้คนทำงานที่มีทักษะความรู้ที่ตรงกับความต้องการ รุ่นแรกคาดว่าจะมีนิสิตสมัครเรียนไม่ต่ำกว่า 20 คน โดยเน้นความสมัครใจ เพราะค่อนข้างเรียนหนัก สำหรับนิสิตที่เรียนหลักสูตรปกติเดิม เพราะทั้งเรียนและทำงาน แต่นิสิตใหม่ที่เข้าเรียนหลักสูตรสหกิจเต็มรูปแบบ ไม่มีปัญหาเรื่องเวลาเรียน” ศ.ดร.พลกฤษณ์ กล่าว

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงมหาวิทยาลัยที่เปิดคณะวิทยาศาสตร์จะต้องปรับคือ หลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้บัณฑิตสามารถออกไปทำงานท่ามกลางการเปลี่ยนของตลาดงานในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่กำลังจะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 รวมถึงงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และตอบโจทย์ภาคการผลิต ภาคสังคม เช่น ภาคการเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ในส่วนของภาครัฐ เชื่อว่าพยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ แต่ต้องวางแผนเรื่องตำแหน่งงานและอัตรากำลังที่ต้องการให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เด็กที่จะเข้ามาเรียนว่า จบแล้วมีงานรองรับ มีความมั่นคงก้าวหน้า เชื่อว่าจะมีเด็กเก่งมาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตคือการทำวิจัยในห้องแล็บสี่เหลี่ยมในหน่วยวิจัย หรือหน่วยงานราชการ แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ รวมถึงเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงคือ การเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

ดังนั้น เรียนวิทยาศาสตร์ยุคนี้ จึงหมดข้อกังขากับคำถามที่ว่า “จบวิทยาศาสตร์ไปทำอะไร ?”

———-

บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า

ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน

 

อ่านข่าวอื่นได้ที่
เว็บไซต์: workpointnews.com
เฟซบุ๊ก: ข่าวเวิร์คพอยท์ ตลาดข่าว
ยูทูบ: workpoint news
ทวิตเตอร์: workpoint news
อินสตาแกรม: workpointnews

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า