SHARE

คัดลอกแล้ว

นายกฯ ชื่นชมทุกฝ่ายติดตามโบราณ ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ 12 ชิ้น จากสหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลไทยได้สำเร็จ พร้อมขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ แนะบันทึกประวัติศาสตร์-เผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน

วันที่ 4 ส.ค. 2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ที่ร่วมกันติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้ส่งคืนโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ 12 ชิ้น จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ให้แก่รัฐบาลไทย ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ในความครอบครองของสตรีอเมริกันรายหนึ่ง

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้าใจและให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการส่งโบราณวัตถุกลับมายังประเทศไทย รวมถึงเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีบทบาทสนับสนุนให้การดำเนินการสำเร็จลงด้วยดี และย้ำว่า “การส่งคืนโบราณวัตถุครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ และเผยแพร่องค์ความรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ได้รับทราบถึงความเป็นมาและขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ รวมทั้งควรนำโบราณวัตถุเหล่านี้ไปจัดแสดง เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงคุณค่าและภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของประเทศไทย”

พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่กำลังเตรียมงานหรือดำเนินการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศชิ้นอื่นๆ เช่น ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์, ทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว, พระโพธิสัตว์ไมเตรยะสำริด, พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมสำริด, เศียรพระพุทธรูปหินทราย, นาคปักหินทราย และแผ่นทองคำดุนลวดลาย วัดถุโบราณทั้งหมดถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของสหรัฐฯ โดยขอให้ภารกิจที่ทุกคนทุ่มเทอย่างเต็มที่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้โดยเร็ว

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าด้วยว่า การทำหน้าที่ประธานอาเซียนเป็นเรื่องของประเทศไทยและคนไทยทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง และขณะนี้ยังไม่ทราบว่าหลังการเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลชุดใด วันนี้จึงไม่อยากให้จุดประเด็นสร้างความแตกแยกในสังคม

ทวงคืนสมบัติชาติ ‘5 โบราณวัตถุ’ ในสหรัฐฯ พิสูจน์แล้วของไทย

ก่อนหน้านี้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ส่งหลักฐานการติดตามโบราณวัตถุชาติในต่างแดนกลับคืน 5 รายการ หลังยืนยันได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในไทยจริง ปราสาทพนมรุ้ง 4 ชิ้น ปราสาทพิมาย 1 ชิ้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 1 / 2561 ที่มีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน เห็นชอบให้จัดส่งข้อมูล และหลักฐาน เพื่อดำเนินการติดตามนำกลับสู่ประเทศไทย ยืนยันได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง จำนวน 23 รายการ แบ่งเป็นองค์ประกอบ โบราณสถาน 5 รายการ ได้แก่

1. เสาติดผนัง แสดงรูปสตรีใช้มือซ้ายถือลายก้านต่อดอก มีรูปบุคคลขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ใน พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแหล่งข้อมูลปรากฏในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503-2504 ของกรมศิลปากร หนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” ของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2510 และหนังสือ “ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย” ของหม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2531 โดยผลการศึกษา ถือเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลดังนี้

ลวดลายของเสาติดผนัง ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีลักษณะและองค์ประกอบของภาพคล้ายกับเสาประดับผนังด้านอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ของปราสาทพนมรุ้ง คือ มีรูปแบบศิลปะบาปวนและแบบนครวัดผสมผสานกัน ลำตัวเสาสลักเป็นลายก้านต่อดอกซึ่งมีขีดสองขีดแบ่งก้านออกเป็นสามส่วน อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบบาปวน และส่วนโคนเสาสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบนครวัด นอกจากนี้กรอบของเสาทั้งสองข้างยังมีแนวลายเล็กๆขนาบอยู่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเหมือนกับเสาติดผนังต้นอื่นๆ ของปราสาทพนมรุ้ง และขนาดของเสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา สัมพันธ์กับขนาดของเสาติดผนังด้านทิศตะวันออกประตูมณฑปด้านเหนือปราสาทพนมรุ้ง สามารถต่อเข้ากันได้พอดีกับส่วนที่ยังคงเหลืออยู่

เสาติดผนัง ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐ / ช่องว่างที่โคนเสาติดผนัง ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ และการทดลองนำชิ้นส่วนไปเชื่อมช่องว่าง โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2.เสาติดกับผนัง แสดงรูปสตรีใช้มือซ้ายถือลายก้านต่อดอก มือขวาอยู่ในท่าคล้ายหลั่งทักษิโนทก ให้แก่บุคคลที่นั่งคุกเข่า ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแหล่งข้อมูลปรากฏอยู่ในรายงานและหนังสือทั้ง 3 เล่ม เช่นเดียวกับเสาติดผนังชิ้นแรก โดยผลการศึกษา ถือเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง ด้วยเหตุผลคือ รูปแบบศิลปะของเสาติดผนังดังกล่าว มีลักษณะและองค์ประกอบของภาพคล้ายกับเสาประดับผนังด้านอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ของปราสาทพนมรุ้ง คือมีรูปแบบศิลปะบาปวนและแบบนครวัดผสมผสานกัน ลำตัวเสาสลักเป็นลายก้านต่อดอกซึ่งมีขีดสองขีดแบ่งก้านออกเป็นสามส่วน อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบบาปวน และส่วนโคนเสาสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบนครวัด ขณะที่กรอบของเสาทั้งสองข้างยังมีแนวลายเล็กๆ ขนาบอยู่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเหมือนกับเสาติดผนังต้นอื่นๆ ของปราสาทพนมรุ้ง

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าของเสาติดผนังก่อนที่จะหายไปในเอกสารต่างๆ และขนาดของเสาติดผนังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ตรงกับขนาดของเสาติดผนังด้านตะวันตกของประตูมณฑปด้านเหนือ ปราสาทพนมรุ้ง และเมื่อทดลองนำภาพชิ้นส่วนเสาติดผนังไปเชื่อมต่อกับพื้นที่ว่างของเสาที่ปราสาทพนมรุ้ง พบว่าสามารถเชื่อมต่อเข้ากันได้พอดี

(2 รูปแรก) เสาติดผนัง ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย สหรัฐฯ / (2 รูปหลัง) ช่องว่างที่เสาติดผนัง ประตูปราสาทพนมรุ้ง และการทดลองนำชิ้นส่วนมาเชื่อมต่อโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์3. ทับหลังแสดงภาพเล่าเรื่องรามายณะ ตอนกุมภกรรณต่อสู้กับกองทัพวานร ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่าอาจเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง หรือปราสาทพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ด้วยเหตุผลดังนี้ รูปแบบศิลปกรรม ได้แก่ การแต่งกายและเครื่องประดับ รวมทั้งการจัดวางองค์ประกอบของภาพ เป็นลักษณะของศิลปะที่ปรากฎบนปราสาทหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่ พิมาย พนมรุ้ง จัดอยู่ในศิลปะบาปวน-นครวัด ขณะที่ขนาดความสูงของทับหลังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย สามารถเข้ากันได้พอดีกับขนาดพื้นที่ว่างเหนือกรอบประตูของมณฑปปราสาทประธานด้านทิศใต้ (สูง 88.9 เซนติเมตร)

(ภาพเล็ก) ทับหลังสลักภาพเล่าเรื่อง รามายณะตอนกุมภกรรณต่อสู้กับกองทัพวานร ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย

4. ประติมากรรมลอยตัวรูปม้า (เทพพาหนะ) มีเครื่องประดับที่คอ หลัง และขาทั้งสี่ ม้าเป็นพาหนะของพระวายุ เทพผู้รักษาทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย โดยปรากฏแหล่งข้อมูลในนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย. กรมศิลปากร. 2542. และปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. 2531. ผลการศึกษาพบว่า เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง ด้วยเหตุผลดังนี้ ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าในหนังสือ “ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งระบุว่า เป็นประติมากรรมที่นำไปจากปราสาทพนมรุ้ง

นอกจากนี้ จากการขุดแต่งปราสาทพนมรุ้ง โดยกรมศิลปากร ได้พบประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ ที่เป็นสัตว์พาหนะของเทพประจำทิศ เช่น โค ช้าง ระมาด กระบือ หงส์ คชสีห์ ประติมากรรมเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบทางศิลปกรรม พบว่ารูปแบบลวดลายเครื่องประดับของประติมากรรมรูปม้า มีลักษณะเหมือนกับประติมากรรมรูปสัตว์อื่นๆ ที่ได้จากปราสาทพนมรุ้ง และลักษณะของเนื้อหินยังเป็นชนิดเดียวกันอีกด้วย รวมถึงขนาดและสัดส่วนของประติมากรรมรูปม้า มีขนาดใกล้เคียงกันกับประติมากรรมรูปสัตว์อื่นๆ ที่ได้จากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

4.ประติมากรรมลอยตัวรูปม้า (เทพพาหนะ) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย 

5.ทับหลังแสดงภาพรูปบุคคลเหนือแนวหงส์ โดยทับหลังสลักภาพแบ่งเป็น 2 แนว แนวบนสลักภาพบุคคลประทับนั่งอยู่กึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยบุคคลฟ้อนรำ แนวล่างเป็นแถวรูปหงส์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย โดยปรากฏแหล่งข้อมูลในกลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยผลการศึกษาพบว่า เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากปราสาทพิมาย ด้วยเหตุผลคือ ทับหลังดังกล่าวมีรูปแบบศิลปะและอายุสมัยตรงกับอายุของปราสาทพิมาย และลวดลายบนทับหลัง เป็นลักษณะเดียวกันกับทับหลังที่พบจากปราสาทพิมาย เช่น ลักษณะการแต่งกาย การจัดวางองค์ประกอบบนทับหลังที่มีการแบ่งภาพออกเป็น 2 ตอน ตอนบนสลักรูปบุคคล และตอนล่างสลักเป็นแนวของหงส์ ทับหลังลักษณะนี้ได้ค้นพบอยู่หลายชิ้นที่ปราสาทพิมาย ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ส่งข้อมูลข้อคืนโบราณวัตถุ ประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย ที่ยืนยันแหล่งกำเนิดในประเทศไทย อีก 18 รายการด้วย

ทับหลังแสดงภาพรูปบุคคลเหนือแนวหงส์ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย

 

ที่มา : กรมศิลปากร

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า