ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด รวมเป็นเงิน 1,790,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย กรณีสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ลดลงจากที่ประมาณการไว้
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 932/ 2561 ซึ่งบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จํากัด ผู้ร้อง ขอให้ศาลบังคับตามคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สํานักงานศาลยุติธรรม ที่ชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชําระเงินค่าชดเชย รายได้ และคดีหมายเลขแดงที่ อ. 933/2561 ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยร้องขอให้ศาลเพิกถอน คําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
กรณีสืบเนื่องมาจากการที่ บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จํากัด ได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ตามสัญญาที่รัฐมนตรีมีมติให้เอกชนเข้าร่วมดําเนินการ และกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับ ดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต ซึ่งบริษัทเห็นว่าเป็นทางแข่งขันกับทางด่วน สายบางปะอิน – ปากเกร็ด ตามที่กําหนดในสัญญา เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ว่าเป็นทางที่ไม่มี ลักษณะแข่งขัน จึงร้องขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชําระเงินค่าชดเชยที่ปริมาณจราจรและรายได้ ลดลงจากที่ประมาณการไว้
ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคําชี้ขาดว่า ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทําให้ปริมาณการจราจรและรายไดค่าผ่านทางของ ทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งมีผลกระทบตามสัญญา จึงชี้ขาดให้การ ทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชําระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จํากัด สําหรับ ปี พ.ศ. 2542 จํานวน 730,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กําหนดในสัญญา และสําหรับปี พ.ศ. 2543 จํานวน 1,059,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กําหนดในสัญญา
ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคําชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีคําพิพากษายืนตามคําพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชําระเงินแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จํากัด และยกคําร้องของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ขอให้เพิกถอนคําชี้ขาดดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เป็นบริษัทย่อยของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)