SHARE

คัดลอกแล้ว

 

เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่พระองค์ทรงงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับปวงชนชาวไทย ผ่านสี่พันกว่าโครงการ ตลอดการทรงครองราชย์ของพระองค์

ซึ่ง “เกษตรทฤษฏีใหม่” คือหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงวางแนวทางให้กับเกษตรกร โดยมี โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ติดกับ “วัดมงคลชัยพัฒนา” เป็นศูนย์สาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ แห่งแรกของประเทศไทย

ต่อมาทางวัดได้ซื้อที่ดินเพิ่มแล้วจัดสร้างศูนย์สาธิต “โคก หนอง นา โมเดล” สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการบริหารทรัพยากร ทั้งดิน น้ำ ลม แดด รวมถึงพืชพันธุ์ต่างๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกว่าจะสำเร็จลุล่วง ก็ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วน

และเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพเกษตรทฤษฎีใหม่  “โคก หนอง นา โมเดล” ได้อย่างชัดเจน เวิร์คพอยท์นิวส์จึงได้เดินทางไปชมโครงการดังกล่าว ที่วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

พร้อมกับนมัสการสัมภาษณ์ “พระวิสิฐคณาภรณ์” เจ้าอาวาส , “พระมหาสายชล ฐานุตฺตโร” รองเจ้าอาวาส  รวมถึงสนทนากับ “อาจารย์เฉลิมชัย ไวยชิตา” ฆราวาสที่เข้ามาช่วยดำเนินงานในด้านต่างๆ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนและลุ่มลึกว่า “โคก หนอง นา โมเดล” นอกจากเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังแฝงปรัชญา หลักคิดในการจัดสรรชีวิต เพื่อให้เกิดความสมดุล และความสุขที่ถ่องแท้ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ก่อนจะเป็น “โคก หนอง นา โมเดล” 

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทีมงานเวิร์คพอยท์นิวส์ได้เดินทางไปยังวัดมงคลชัยพัฒนา ถึงสถานที่ดังกล่าวในช่วงเช้า โดยมี “อาจารย์เฉลิมชัย ไวยชิตา” ให้การต้อนรับและบอกเล่าข้อมูลต่างๆ ในเบื้องต้น

ก่อนที่ “พระวิสิฐคณาภรณ์” เจ้าอาวาส จะนำทีมงานไปชมแปลงสาธิต “โคก หนอง นาโมเดล” บทเนื้อที่ 12 ไร่ แม้วันนั้นแสงแดดจะแผดจ้า แต่ด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ในโครงการ ประกอบกับลมเอื่อยๆ ที่พัดโชยตลอดเวลา ก็ก่อให้เกิดความร่มรื่นเละร่มเย็น โดยมีเพิงมุงจากหลายหลัง ที่สร้างอย่างเรียบง่าย เป็นจุดให้ทีมงานได้พักดื่มด่ำบรรยากาศ ก่อนที่จะกราบนมัสการถามท่านเจ้าอาวาส ถึงความเป็นมาของวัดแห่งนี้

หลวงพ่อเล่าว่า เดิมทีที่นี่ชื่อ “วัดมงคล” เมื่อปี พ.ศ. 2531 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดซื้อที่ดินที่ติดกับวัด เพื่อจัดสร้างศูนย์สาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศไทย และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้วัดว่า “วัดมงคลชัยพัฒนา”

ส่วน “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ทางวัดได้ดำเนินการเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา หลวงพ่อเล่าว่า ได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยวัดได้ซื้อที่ดิน 10 ไร่ และเจ้าของที่ดินได้ถวายเพิ่มอีก 2 ไร่ รวมเป็น 12 ไร่ มี ดร.นิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน เป็นรับผิดชอบดูแลการจัดทำแผนผังของโครงการ หลังจากนั้น พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้ส่งทหารพัฒนาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา มาทำการขุดหนองน้ำขนาดใหญ่ให้

หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า นอกการจัดทำศูนย์สาธิตแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขานำแนวทางนี้ไปปฏิบัติในพื้นที่ของตน

“อาตมาบอกกับชาวบ้านว่า ขอความร่วมมือได้ไหม ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่าใช้ปุ๋ยเคมี เพราะถ้าเราใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเอง ร่างกายก็จะปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ โยมก็เข้าใจ”

สิ่งที่วัดมงคลชัยพัฒนาดำเนินการ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ศาสนสถานแห่งนี้ไม่เพียงเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจ แต่ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร เป็นแหล่งพึ่งพาทางการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถพึ่งตัวเองได้ในที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน

โดยหลวงพ่อได้กล่าวว่า “ทุกโครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็สอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ชื่อ “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง ได้แก่ 1. อุฏฐานสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยความหมั่น 2. อารักขสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ 3. กัลป์ยาณมิตตตา คือ การมีกัลยาณมิตรที่ดี และ 4. สมชีวิตา หมายถึง การอยู่อย่างพอเพียง นั่นเอง

การขุดหนองน้ำ   

หลังจาก พระวิสิฐคณาภรณ์เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของวัดและโครงการดังกล่าว ลำดับต่อมาเพื่อให้เข้าใจการทำการเกษตรแนวทางนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง  พระมหาสายชล ฐานุตฺตโรรองเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระวิทยากรอบรม “โคก หนอง นา โมเดล” ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ได้นำทีมงานไปชมหนองน้ำขนาดใหญ่ภายในโครงการ ก่อนอธิบายหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และวิธีปฏิบัติ ตั้งแต่การขุดหนอง ทำโคก ร่วมถึงเรื่องของผืนนา อย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า

“หลักทฤษฎีใหม่ พระองค์ทรงพระราชทานสูตรให้ว่า 30 30 30 และ 10 (ที่ดินเพาะปลูก , แหล่งน้ำ , นา และที่อยู่อาศัย) ซึ่งในการทำการเกษตรตามแนวทาง ‘โคก หนอง นา โมเดล’ จะเริ่มต้นด้วยการขุดหนองน้ำก่อน ตามหลักให้สูตรไว้ว่า 30 % ของพื้นที่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่ม ก็ลดขนาดลงมาได้ หรือถ้าเป็นพื้นที่ดอน ก็สามารถเพิ่มขนาดได้เช่นกัน โดยให้พิจารณาจากสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก

“การขุดหนอง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้หลักการคำนวณว่า โดยเฉลี่ยแล้วน้ำในหนองจะระเหยวันละ 1 เซนติเมตร ดังนั้น 1 ปี น้ำจะระเหยประมาณ 3.6 เมตร เราจึงควรขุดสระเผื่อไว้ ให้มีความลึก 4-8 เมตร เพื่อให้มีน้ำพอเพียงสำหรับการทำการเกษตรตลอดทั้งปี”

การทำโคก

การขุดหนองน้ำ ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในการกักเก็บน้ำเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงกับการทำ “โคก” อีกด้วย เพราะดินที่ได้นั้น จะนำไปถมเป็นพื้นที่ในส่วนที่อยู่อาศัย และการเพาะปลูก ตลอดจนเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ทั้ง วัว ควาย หมู เป็ด และไก่ ฯลฯ

โดยพระอาจารย์อธิบายว่า “โคก ไม่ได้หมายถึงส่วนที่เป็นเนินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคันนา ซึ่งคันนาตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จะใหญ่กว่าคันนาทั่วไป เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชต่างๆ ด้วย”

ในการปลูกพืช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้หลัก ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างไม้ 3 อย่าง ได้แก่  1. ไม้ใช้สอย  คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา , ไผ่ 2. ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่างๆ และ 3. ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ไม้สัก เป็นต้น

ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1. ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ฟืน 2. ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร 3. ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และ 4. ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งการปลูกพืชที่หลากหลาย จะสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นที่

การขุดหนองนั้น พระอาจารย์บอกว่าจะขุดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง หรือหลายแห่งก็ได้ โดยมี “คลองไส้ไก่” เป็นเส้นทางน้ำขนาดเล็ก เชื่อมต่อแหล่งน้ำทั้งหมดในพื้นที่เข้าด้วยกัน

และเพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน จึงได้มีการเปรียบเปรยหนองน้ำว่า  “หลุมขนมครก” ซึ่งถ้าในท้องถิ่นนั้นๆ มีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 100 ครัวเรือน ก็จะมีหนองน้ำ หรือหลุมขนมครกอย่างน้อย 100 หลุม ที่นอกจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อีกด้วย

การทำนา และแนวทางการเพาะปลูก ตามหลักทฤษฎีใหม่

ส่วนในเรื่องการทำนา และการปลูกพืชในพื้นที่ เพื่อบริโภคและนำผลผลิตไปขายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรนั้น พระอาจารย์ได้กล่าวว่า “พื้นที่ทำนา 30 % ที่ใช้ในการปลูกข้าว หลังจากเก็บเกี่ยว เราควรพักดินเพื่อให้เกิดการสะสมแร่ธาตุ ด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปลูกพืชหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไป

ในการเริ่มต้นทำการเกษตรตามหลัก “โคก หนอง นา โมเดล” พระอาจารย์กล่าวว่า สิ่งแรกที่เกษตรกรจะต้องปรับ ก็คือแนวคิดของตน จากที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน และไม่พึ่งพาสารเคมี

“เพราะถ้าไม่ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม จะไม่สามารถทำหลักสูตรศาสตร์พระราชาได้เลย โดยเราจะไม่ปลูกพืชประเภทเดียว (พืชเชิงเดี่ยว) แต่เราจะพิจารณาจากฤดูกาล เช่นฤดูน้ำเยอะ เราก็อาจปลูกข้าวเยอะ เมื่อถึงฤดูแล้ง ก็เปลี่ยนไปปลูกพืชประเภทอื่น ที่ใช้น้ำน้อยกว่า

“ข้อเสียของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็คือ หากปีใดประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยแล้ง ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะได้ผลผลิตน้อย หรือผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเราปลูกพืชผสมผสาน ที่มีความหลากหลาย ถึงแม้ปีนั้นราคาข้าวตกต่ำ แต่เราก็ยังได้ผลผลิตจากพืชนิดอื่นๆ มาทดแทน

“ดังนั้น การทำเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรเจอปัญหาแมลงศัตรูพืชรบกวน หรือเกิดภัยน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าเกษตรกรที่ทำเกษตรทฤษฏีใหม่ รอดทุกราย เพราะว่าเมื่อนาโดยน้ำท่วม ข้าวตาย แต่ไม้ผลยังอยู่ พืชที่อยู่บนโคกก็ยังพอมีอยู่ ทำให้เขาสามารถฟื้นตัวได้ไวกว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว”

“บวร” การรวมพลังจากทุกภาคส่วน

ส่วนในอนาคต มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด ที่เกษตรกรไทยจะนำแนวพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ ไปใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น พระอาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้

“การที่จะให้ทฤษฎีใหม่เเพร่หลายไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่ง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิดที่เรียกว่า “บวร” หมายถึง บ้าน วัด และราชการ หรือที่เรียกว่าระบบ 3 ประสาน ที่ต้องช่วยกัน

“ในช่วงนี้มีการตื่นตัวในเรื่องเกษตรกรรม คนรุ่นใหม่หันกลับมาทำการเกษตรมากขึ้น ดังนั้นหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ช่วยกันผลัก ช่วยกันดัน นำทฤษฎีใหม่ไปเผยแพร่ อาตมาก็คิดว่า การทำการเกษตรแนวทางนี้ จะขยับขยายไปได้อย่างกว้างไกล ขอเจริญพร”

ปลูกป่าในใจคน

ในวันที่ทีมงานเวิร์คพอยท์นิวส์ไปยัง “วัดมงคลชัยพัฒนา” เพื่อชมโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้มีพิธีที่เป็นมหามงคลยิ่ง โดยเป็นวันที่คณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี ร่วมกับจังหวัดสระบุรี จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

โดยมี “พระธรรมปิฎก” เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ “นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธี (ฝ่ายฆราวาส) มีข้าราชการ หน่วยงาน ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประชาชน เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งวันดังกล่าวยังตรงกับวันที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “วัดมงคลชัยพัฒนา” เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2534

และหลังจาก “พระมหาสายชล ฐานุตฺตโร” รองเจ้าอาวาส บอกเล่าถึงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล” อย่างละเอียด “อาจารย์เฉลิมชัย ไวยชิตา” ก็ได้นำทีมงานไปชม “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งเป็นศูนย์สาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ แห่งแรกของประเทศไทย ที่อยู่ติดกับวัดมงคลชัยพัฒนา

ระหว่างที่เดินชมโครงการ อาจารย์ก็เล่าว่า ตนเป็นจิตอาสาที่เข้าช่วยงานของทางวัด ด้วยการนำความรู้ด้านดิจิทัล มาใช้ในการเผยแพร่โครงการต่างๆ เช่น จัดทำเวบไซต์ จัดแผนผังโคก หนอง นา โมเดล ออกมาในรูปแบบ 3 มิติ เป็นต้น

โดยในการทำงานเพื่อสังคมนั้น อาจารย์บอกว่า ตนได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “…ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…” มาเป็นแนวทางในการทำงาน

ซึ่งพระราชดำรัสข้างต้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย รวมถึงการเผยแพร่เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่พระองค์ไม่เพียงทรงปลูกต้นไม้ ปลูกป่าในใจคน แต่จากการทรงงานอย่างหนัก เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกร พระองค์จึงยังทรงสถิตอยู่ในใจของปวงชนชาวไทยเสมอมา…และตลอดไป

https://www.youtube.com/watch?v=24UXX0yOnvM&feature=share

ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม : เรื่อง

กานต์ ศรียาภัย : ถ่ายภาพ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า