SHARE

คัดลอกแล้ว

จีนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการสั่ง “แบน” และ “เซนเซอร์” ข้อมูลและเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่เป็นภัยต่อ “ความมั่นคง” ของรัฐบาล (ใช่ค่ะ ประโยคนี้อาจฟังดูคุ้น แต่เป็นข้ออ้างคลาสสิกที่ทุกประเทศใช้เพื่อควบคุมการเผยแพร่ของข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์)

 

ล่าสุด รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศแบนตัวการ์ตูนยอดฮิตของดิสนีย์ วินนี แอนด์ เดอะ พูห์ทั้งในรูปแบบข้อความและรูปภาพจากเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าเจ้าตัวการ์ตูนหมีอ้วนกลมตัวเหลืองเสื้อแดงที่ว่า ถูกชาวเน็ตใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อล้อเลียนนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ไม่ว่าจะในวาระพบปะกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น หรือเมื่อพบปะกับนายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลจีนก็เริ่มต้นแบน WhatsApp แอปพลิเคชันแชตสัญชาติอเมริกัน ในขณะที่แอปพลิเคชันอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง WeChat ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของจีนเองนั้น อนุญาตให้ทางการจีนสามารถสอดส่องบทสนทนาได้ โดยการแบน WhatsApp ในขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มแบนเพียงบางส่วนเท่านั้น คือส่งแต่ข้อความได้ แต่ไม่สามารถส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือไฟล์เสียงได้

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่ากระแสการแบนและเซนเซอร์ทั้งข้อมูลและแอปพลิเคชันในรอบนี้มีความเกี่ยวข้องกับการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะในการประชุมฯ ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 5 ปีมีความสำคัญต่อการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงคณะผู้บริหารประเทศ ซึ่งหมายความว่าจะมีผลสำคัญต่อการต่อรองตำแหน่งของกลุ่มก้อนต่างๆ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์​ และการดำรงตำแหน่งต่ออีกหนึ่งสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงด้วย

 

ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การห้ามเผยแพร่สัญลักษณ์ที่ใช้ในการล้อเลียนผู้นำ แสดงให้เห็นความพยายามของจีนในการสถาปนาภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีจีนให้ดูน่าเกรงขาม และจับต้องไม่ได้นั่นเอง

 

เซนเซอร์เพื่อความมั่นคงของชาติ

อันที่จริง  พฤติกรรมการแบนและเซนเซอร์เนื้อหาที่มีผลต่อความมั่นคงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ นับตั้งแต่จีนเริ่มมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก ทางการจีนก็ได้ประกาศแบนสินค้าทางวัฒนธรรมและแอพพลิเคชันต่างๆ มาแล้วนักต่อนัก ที่เราได้รวบรวมมานี้เป็นเพียงสินค้าเพียงบางส่วนที่ทางการจีนสั่งแบนเท่านั้น

 

1. Facebook ทางการจีนประกาศบล็อกเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2009 โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุมาจากทางการจีนไม่ต้องการให้มีการกระจายข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์และชาวจีนเชื้อสายฮั่นในบริเวณมณฑลซินเจียง

 

2. Twitter เช่นเดียวกับแอพพลิเคชันสังคมออนไลน์อื่นๆ ทวิตเตอร์ถูกทางการจีนบล็อกตั้งแต่ปี 2009 โดยนักวิเคราะห์เชื่อกันว่าสาเหตุหลักในการตัดสินใจดังกล่าว คือบทบาทของทวิตเตอร์ในการเป็นสื่อกลางแพร่กระจายกระแสประท้วงต่อต้านเผด็จการในประเทศแถบอาหรับและแอฟริกาเหนือ ที่รู้จักกันในปรากฏการณ์ “ฤดูใบไม้ผลิอาหรับ”

 

3. Instagram ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าเมื่อไปถึงประเทศจีนแล้วคุณจะไม่สามารถอัพโหลดรูปภาพอวดเพื่อนๆ ของคุณได้ เพราะทางการจีนเริ่มบล็อก Instagram ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากมีภาพการประท้วงของชาวฮ่องกง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง และต่อต้านอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เข้ามาก้าวก่ายการเลือกตั้งคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง

 

4. Google ในปี 2010 กูเกิลพบว่าถูกโจมตีทางไซเบอร์จากภายในประเทศจีน และพบว่าอีเมลของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนบนเซอร์เวอร์ Gmail ถูกแฮค หลังจากการยื้อยุดกันหลายรอบกับรัฐบาลจีน ในปี 2014 ทางการจีนระงับการเข้าถึงการบริการเกือบทั้งหมดของกูเกิล รวมถึง Gmail และ Chrome นอกจากนี้ เมื่อประมาณต้นปี 2017 ทางการจีนยังออกคำสั่งห้ามถ่ายทอดและเผยแพร่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันหมากล้อมระหว่าง AlphaGo กับเคอเจีย นักหมากล้อมอันดับหนึ่งของโลกชาวจีน เพราะกลัวว่าหากเคอเจียแพ้การแข่งขันหมากล้อมนัดสำคัญนี้ จีนจะสูญเสียเกียรติของชาติ

 

5. Avatar ทางการจีนแบนภาพยนตร์ Avatar ในรูปแบบ 2D เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์อาจถูกตีความเชื่อมโยงกับการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของจีนในปี 1949

 

6. ดอกมะลิหลังจากที่ดอกมะลิถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการปฏิวัติที่ตูนิเซีย ทางการจีนก็ประกาศเซนเซอร์คำว่า “ดอกมะลิ” จากอินเตอร์เน็ต และห้ามการวางขายดอกมะลิจากตลาดในกรุงปักกิ่ง

 

7. หลิวเสี่ยวโป เมื่อไม่นานมานี้หลิวเสี่ยวโป นักเรียกร้องสิทธิในการแสดงออก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวจีนเพิ่งเสียชีวิตลงในระหว่างที่ถูกคุมขัง การเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและการยุติการครองอำนาจโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวของเขา ทำให้ชื่อของหลิวเสี่ยวโปถูกเซนเซอร์จากสื่อสังคมออนไลน์ทุกแห่ง รวมถึงแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับการพูดคุยด้วย โดยหากคู่สนทนาพิมพ์ชื่อหลิวเสี่ยวโปลงไป ฝ่ายที่พิมพ์จะเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนถูกส่งไปยังผู้รับเรียบร้อย หากแต่ผู้รับจะไม่ได้รับข้อความดังกล่าว

 

8. K-Pop ราวปี 2016 ดารา-นักร้องเกาหลีหลายวงถูกแบนจากการเผยแพร่เพลงและทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศจีน การแบนนี้ครอบคลุมไปถึงการเบลอหน้าดาราเกาหลีหรือแทนที่ดาราเกาหลีด้วยดาราภายในประเทศในภาพยนตร์โฆษณาหลายชิ้น ทางการจีนให้เหตุผลว่าการเปิดรับวัฒนธรรมเกาหลีมากเกินไปมีผลต่อการบ่อนทำลายวัฒนธรรมจีน แต่นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศหลายคนเชื่อว่า การแบนสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลี ซึ่งพึ่งพิงตลาดขนาดใหญ่ของจีนอยู่ไม่น้อย น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮของเกาหลีใต้กำลังติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ซึ่งจีนเชื่อว่าจะสามารถใช้สอดแนมความลับทางการทหารของจีนได้

 

นอกจากนี้ เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศบางสำนักก็ยังโดนบล็อกเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น BBC, Wall Street Journal, Reuters, The Economist, TIME, The Epoch Times, The Independent, The New York Times, Bloomberg เป็นต้น

 

แน่นอนว่ารัฐไม่สามารถปิดกั้นความอยากเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้ไปเสียทั้งหมด ดังนั้นเหล่าชาวจีนและชาวต่างชาติที่อยู่ในจีนจึงใช้ VPN หรือเครือข่ายส่วนตัวจำลองจากผู้บริการรายต่างๆ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์ผ่าน VPN จะทำให้ตำแหน่งที่เราใช้บริการเสมือนกับอยู่ในประเทศอื่นๆ และเข้าถึงข้อมูลที่ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาลจีนได้ อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อผ่าน VPN ก็อาจทำได้ยากขึ้น เมื่อรัฐบาลจีนมีแผนที่จะห้ามการใช้งาน VPN แม้ว่าจะยังไม่ได้มีคำสั่งและการบังคับใช้จริงก็ตาม

 

ท่ามกลางโลกที่ถูกย่นย่อและเชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ต รัฐบาลสีจิ้นผิงได้ประกาศให้ อธิปไตยด้านไซเบอร์”​ เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของชาติ และได้ขอร้องให้สื่อมวลชนเสนอข่าวตามทิศทาง “โฆษณาชวนเชื่อในทางบวก”​ ของพรรคคอมมิวนิสต์

 

อันที่จริงการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่จีนเพียงอย่างเดียว หลายประเทศก็กำลังกลับมาจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในยุคที่ข้อมูลเข้าถึงง่ายนี้มากขึ้น ด้วยจุดประสงค์ในการ “รักษาความมั่นคงของชาติ” หลายประเทศพัฒนาเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนเว็บไซต์ที่อาจมีข้อมูล “ที่ไม่พึงประสงค์” แฝงอยู่ เช่นจีนพัฒนาไป่ตู้ขึ้นมาใช้แทนกูเกิล ขณะที่ไทยก็จับมือกับรัสเซียเพื่อพัฒนาเสิร์ชเอ็นจินของตัวเองเช่นกัน แม้ตลาดของไทยจะเล็กกว่าตลาดจีนอยู่มากก็ตาม

 

 

ข้อมูล: BBC, CNN, The Guardian, The Atlantic, The Epoch Times, กรุงเทพธุรกิจ

บทความโดย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์     

โพสต์เมื่อ 28 ก.ค. 2560

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า