SHARE

คัดลอกแล้ว

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้กำหนดบทบาทของ ส.ส. และ ส.ว. ไว้ ให้มีตั้งแต่การเลือกและตรวจสอบฝ่ายบริหาร การออกกฎหมายและแก้กฎหมาย รวมถึงมีบทบาทในการปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติ

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์อยากชวนท่านผู้อ่านไปดูบทบาทของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงดูว่าในแต่ละกิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กำหนดให้ต้องใช้ ส.ส. หรือ ส.ว. กี่เสียง

เลือกนายกรัฐมนตรี

มาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดไว้ว่า ในการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมี ส.ส. รับรอง “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” หรือก็คือผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้ นอกจากจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อ 3 คนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอแล้ว ยังจะต้องได้รับการรับรองจาก ส.ส. ในสภาอย่างน้อย 50 คนด้วย จึงจะมีโอกาสเป็นตัวเลือกให้สภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติอีกครั้ง ว่าจะโหวตรับรองให้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุดหรือไม่

โดยสภาร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. จะเป็นผู้ร่วมโหวตในครั้งสุดท้าย โดยผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภาร่วมที่มีสมาชิกรวมกันอยู่ทั้งสิ้น 750 คน หรือก็คือต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. อย่างน้อย 376 เสียงนั่นเอง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจและการลงมติถอดถอนนายกฯ และรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง

บทบัญญัติเกี่ยวกับ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” คณะรัฐมนตรีถูกกำหนดไว้ในมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยในมาตราดังกล่าวระบุไว้ว่า ผู้ที่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้ คือ “ส.ส. จำนวนไม่ต้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” หรือก็คือเท่ากับ ส.ส. 100 คนนั่นเอง

และหลังจากที่มีการอภิปราย ก็จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งหาก ส.ส. ในสภา ลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” มากกว่ากึ่งหนึงของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือก็คือได้รับการลงมติไม่ไว้วางใจมากกว่า 251 เสียง รัฐมนตรีคนดังกล่าวต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หรือในกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้รับการลงมติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็จะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพียงแต่ให้อำนาจ ส.ว. ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารไว้ในมาตรา 153 โดยระบุว่า ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ทั้งหมด หรือก็คือ 84 คน สามารถเข้าชื่อเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงได้ แต่จะไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ

การออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอร่าง พ.ร.บ. ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีทั้งสิ้น 3 กลุ่มบุคคลเท่านั้น ได้แก่ 1.) คณะรัฐมนตรี 2.) ส.ส. ไม่น้อยกว่า 20 คน หรือ 3.) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน

โดยหลังจากเสนอร่าง พ.ร.บ. กับสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีการประชุมพิจารณาทั้งสิ้น 3 วาระ โดยในทุกวาระให้ใช้หลักเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือก็คือร่างกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ส. ตั้งแต่ 251 คนขึ้นไปในแต่ละวาระ

การแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)

เนื่องจาก พ.ร.ป. เป็นกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่ากฎหมายทั่วไปที่เป็น พ.ร.บ. ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้การเสนอแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทำได้ยากกว่าการแก้กฎหมายระดับ พ.ร.บ.

โดยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 131 กำหนดไว้ว่าผู้ที่สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณามีเพียง 1.) คณะรัฐมนตรี (โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง) และ 2.) ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือก็คือ ส.ส. 50 คน

และในมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ว่าให้ “รัฐสภา” ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป. โดยออกคะแนนเสียงในวาระที่ 3 เท่านั้น และร่างดังกล่าวต้อง “มีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา” หรือก็คือต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียงนั่นเอง จึงจะสามารถปรับแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้

การแก้ยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้ระบุให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปจนไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนไว้ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ

แต่ขอให้สังเกตว่า ผู้ที่มีสิทธิเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติมีเพียง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” เท่านั้น โดยปัจจุบันคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งสิ้น 28 คน เป็นโดยตำแหน่ง 16 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีก 12 คน โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นที่รู้จักดีก็เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (เป็นโดยตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (เป็นโดยตำแหน่ง รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย) นายวิษณุ เครืองาม (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) นายอุตตม สาวนายน (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) เป็นต้น

แก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด และการแก้ไขเพิ่มเติมก็ทำได้ยากที่สุดกว่ากฎหมายในลำดับอื่นๆ โดยในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิยื่นญัติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ 1.) คณะรัฐมนตรี 2.) ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของที่มีอยู่ หรือก็คือ ส.ส. 100 คน 2.) ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของที่มีอยู่ในรัฐสภา หรือก็คือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 150 คน และ 4.) ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 50,000 คน

ส่วนการลงมติรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องกระทำใน 3 วาระ โดยแต่ละวาระมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้แตกต่างกัน

ในวาระที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นรับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะผ่านวาระนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา นั่นก็คือต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง นอกจากนั้นในวาระ 1 นี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดไว้ด้วยว่า ต้องมี ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ในวุฒิสภา เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว หรือก็คือต้องมี ส.ว. เห็นด้วยในวาระที่ 1 นี้อย่างน้อย 84 เสียง

ในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา ได้กำหนดหลักเกณฑ์การออกเสียงในวาระนี้ไว้ว่าให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ นั่นก็คือต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง

ในวาระที่ 3 (วาระสุดท้าย) ซึ่งเป็นการออกเสียงโหวตว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขออกใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ ในวาระนี้ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบใน 2 วาระแรกมาแล้ว จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก 2 ข้อได้แก่ ส.ส. ที่ยกมือโหวตเห็นชอบในวาระนี้ต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. ทั้งหมด หรือก็คืออย่างน้อย 84 คน นอกจากนี้ ส.ส. 20% ของพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาฯ รวมกัน (พูดอย่างหยาบๆ ก็คือ ส.ส. 20% ของพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด) จะต้องยกมือสนับสนุนในวาระที่ 3 นี้ด้วย

เมื่อผ่านการเห็นชอบในทั้ง 3 วาระนี้ ร่างรัฐธรรมนูญจึงจะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า