SHARE

คัดลอกแล้ว

ความพยายามของรัฐบาลในการบริหารประเทศช่วงระยะเวลา 4 ปีครึ่ง ด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หวังว่าการใช้ มาตรา 44 แก้ไขปัญหาในประเทศ ด้วยความรวดเร็ว และเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ได้ทำให้กระแสตอบรับของสังคมต่อรัฐบาลเป็นไปในทางบวกมากนัก

​หลังจาก “ปลดล็อค” ปรากฎว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับคสช. ต่างออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารประเทศของรัฐบาลจากนโยบายที่ได้ดำเนินการมาตลอด 4 ปี จนคำว่า ผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ของ คสช. ที่มุ่งหวังว่า จะวางรากฐานให้กับประเทศ  กลายเป็นผลงาน “ชิ้นโบว์ดำ” ที่ดูเหมือนมีแต่ข้อติติง

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน”

เนื้อร้องของเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ที่ท้าทาย “โจทย์” เดิมของ คสช. จึงดูเหมือนไม่ตอบโจทย์ต่อกระแสสังคมเท่าใดนัก เมื่อนักการเมืองกำลังเริ่ม “รื้อถอน” มรดกของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ยังมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่อำนาจอีกรอบ จึงกลายเป็นเพลง “ในความทรงจำ” ที่ย้ำเตือนการทำงานของรัฐบาลด้วยระยะเวลาอันยาวไกล อย่าให้ใครมาทำลายสิ่งที่สร้างไว้ได้

​ในระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้สั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม และ คสช. รวบรวมผลงานทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อเตรียมแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเป็นช่องทางในการทำความเข้าใจผ่านสมาชิกฯ ว่า รัฐบาลได้ทำอะไรไปบ้างและหลายเรื่องเป็นการชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคการเมือง พร้อมทั้งย้ำว่ามี “ผลงาน” ของรัฐบาลที่มาจากการ “รัฐประหาร”

ปลด “ใบเหลือง” ! “ชาวเล” กลืนเลือด

​หลังจากเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 นายเคอเมนู เวลลา (Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) กล่าวหลังการหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยมว่า ทางอียูได้พิจารณาปลดใบเหลืองประมงของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาครั้งนี้ หลังให้ใบเหลืองเมื่อ 21 เม.ย. 2558 เพราะไทยได้ดำเนินการในการกำกับดูแลและประมงได้เป็นมาตรฐานสากล ส่วนที่สื่อมวลชนได้สอบถามว่าการปลดใบเหลืองของประมงไทยเกิดจากการที่ไทยจะเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการกำหนดกรอบเวลาเลือกตั้งชัดเจนในปี 2562 ทางอียูยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาใบเหลือง หรือปลดใบเหลืองของการทำประมงที่ยั่งยืน

เป็นเรื่องสุดท้ายที่ผูกติดกับพันธนาการเรื่องรัฐประหารและได้รับการปลดปล่อย หลังจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ICAO ประกาศปลดธงแดงออกจากประเทศไทย จากตรวจสอบมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยของสายการบินแล้ว พบว่า ประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานของ ICAO แล้ว รวมถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ปรับสถานะไทยอีกครั้งหนึ่งขึ้นมาอยู่ใน Tier 2 ซึ่งเป็นอันดับเดิมของไทยในปี 2552 ก่อนที่ในปีต่อมาจะถูกลดอันดับลงมาอยู่ใน Tier 2 watchlist และ Tier 3 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุด จากการที่ไทยดำเนินการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และรัฐบาลไทยไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

แต่นั่นจำเป็นต้องแลกมากับ “คะแนนนิยม” ในภาคใต้ ที่เคยเชียร์ “ลุงตู่” เนื่องจาก “ยาแรง” ที่รัฐบาลได้ใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ธุรกิจการประมงในประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาล  กลายเป็นอีก “นโยบาย” ที่พรรคการเมืองต้องการตีฐาน และ ยึดฐานภาคใต้  กำลังหาเสียงเรื่องการ ขุดราก-ถอนโคน นโยบายเรื่องนี้อย่างดุเดือด

(ภาพประกอบเท่านั้น)

ปราบทุจริตฯ “หยิกเล็บ-เจ็บเนื้อ” 

การปราบการเดินหน้าปราบปรามทุจริต เช่น การตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) ที่ถูกจัดการไปหลายราย กระทรวงศึกษาธิการได้ตรวจพบการทุจริตกองทุนเสมา โดยมีข้าราชการระดับสูงระดับสูงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2561 พบว่า ได้ทำการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 88 ล้านบาท รวมไปถึงการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับปลัดกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีการกระทำผิดใน 53 จังหวัด

ถือเป็นการ “ทุบหม้อข้าว” ของเหล่ามาเฟีย ที่เกาะกินงบประมาณของรัฐมาอย่างยาวนาน ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่กล้าแตะ และนักการเมืองที่เข้ามาบริหาร ก็ “หลับตาข้างหนึ่ง” ต่อพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากไม่กล้า “หัก” กลับกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอิทธิพล

แต่เมื่อคนในรัฐบาล คสช. พูดเรื่องการปราบทุจริตฯ เมื่อไหร่ กระแสสังคมดูเหมือนจะไม่ขานรับ เมื่อองค์กรอิสระที่ตรวจสอบฯ กรณีครอบครองนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่พบความผิดปกติ

บัตรคนจน “ไม่ต่าง” และ “ไม่เหมือน”

นโยบายประชานิยม ลด-แลก-แจก-แถม ของรัฐบาลที่มาจากการพรรคการเมืองถูกโจมตีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการละลายงบประมาณเพื่อสนองตอบคะแนนเสียงของผู้แจก แต่เป็นสูตรสำเร็จของทุกประเทศที่เมื่อมีรัฐบาลใดริเริ่มทำแล้ว รัฐบาลต่อมาก็ต้องเดินหน้าต่อไป

แม้กระทั่งรัฐบาล คสช. ที่ย้ำมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นภารกิจเบื้องต้น เริ่มเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและให้การช่วยเหลือทั้งการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มคนเหล่านี้มามากกว่า 2 ปี แต่ยิ่งเหมือนใกล้เลือกตั้ง รัฐบาลก็เร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงไป ท่ามกลางการโจมตีเรื่องการเอื้อให้กับกลุ่มทุน เครือข่ายของรัฐบาล ที่ได้รับอานิสงค์จากการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของคนรายได้น้อย อีกทั้งเกิดกระแส “บัตรคนจน” รอบพิเศษในภาคอีสาน ที่ส่งผลให้มีคนเข้าร่วมกิจกรรม กับพรรคพันธมิตรกับคสช.

กระนั้น คสช. แจงว่า ไม่ได้มาเร่งแจกกันช่วงนี้ แต่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมบัญชี การลงทะเบียน และจัดทำเป็นฐานข้อมูลที่แน่นอน ซึ่งในรัฐบาลก่อน ๆ ไม่เคยมี ทำให้งบประมาณรั่วไหล ผลในการดำเนินงานของคสช. จะทำให้ต่อไปมี “บัญชีคุม” เพื่อให้การดำเนินการมีความรัดกุมมากขึ้น

แก้หนี้นอกระบบ-แจกโฉนด อีเว้นท์ส่ง “ลุงป้อม”

​การประกาศแก้หนี้นอกระบบครั้งใหญ่ ทั้งส่วนที่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยและการบังคับใช้กฎหมาย นำไปสู่การคืนโฉนดให้กับลูกหนี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชนของตำรวจ สามารถคืนทรัพย์สินให้ประชาชนแล้ว 6 ครั้ง มูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 15,100 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดิน 11,596 ฉบับ พื้นที่กว่า 30,000 ไร่

​ในแต่ละครั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานในการไปแจกโฉนดพร้อมกับผบ.เหล่าทัพ และผบ.ตร. หรือตัวแทน โดยมีประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่ มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่น เพราะจากทั่วประเทศที่มีผู้เป็นหนี้นอกระบบ 900,000 ราย เป็นคนอีสานประมาณ 500,000 ราย

​นอกจากภาพการสนองตอบนโยบายของรัฐบาล ที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ภาพของ “ลูกหนี้” ที่ถูกปลดเปลื้องพันธนาการ ได้รับโฉนดด้วยความปลาบปลื้ม เข้ามากอดรัด “บิ๊กป้อม” ที่ช่วยทำให้ปัญหาคลี่คลาย สร้างกระแสตอบรับนโยบายรัฐบาลผ่าน “อีเว้นท์” จัดงานในแต่ละครั้งด้วย

งานเข้าทาง “ปราบอาวุธสงคราม-ยาเสพติด”

​นโยบายที่เรียกว่า เข้าทาง-เข้ามือ รัฐบาลมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง โดยเฉพาะงานที่ คสช.ดำเนินการ ภายใต้การขับเคลื่อนของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ที่เจ้าหน้าที่ คือ กำลังพลของกองทัพภาคต่าง ๆ หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงาน คสช.ด้วย ได้เข้ามารับหน้าที่ซึ่งได้เน้นย้ำเรื่องการปราบปรามยาเสพติดเป็นพิเศษ

​โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการรายงานผลการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนและตอนใน จากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยระบุว่า ตั้งแต่ ต.ค. 61– 21 ธ.ค. 61 ยึดของกลาง ยาบ้า 179,500,858 เม็ด ไอซ์ 3,463.61 กิโลกรัม กัญชา 2,194.38 กิโลกรัม เฮโรอีน 296.87 กิโลกรัม คีตามีน 213.03 กิโลกรัม โคเคน 6.37 กิโลกรัม และจับกุมผู้กระทำผิด 73,540 คดี มีผู้ต้องหา 76,545 คน นอกจากนี้ได้จัดกำลังทหาร ตำรวจ เข้าบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสถานบริการที่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดยาเสพติด 1,862 แห่ง ตรวจโรงงาน 1,458 แห่ง เข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันและโทษของยาเสพติดให้กับนักเรียน 10,042 สถานศึกษา

ส่วนมาตรการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและอาวุธสงคราม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า หากย้อนปฏิบัติการปราบปรามอาวุธสงครามภายใต้รัฐบาล คสช. เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 โดยฝ่ายความมั่นคง มีสถิติจับกุมอาวุธสงครามสูงสุดในปี 2557 หลังการเข้ามาของ คสช.ทำให้กวาดล้างจับกุมได้จำนวนมาก หรือแม้แต่พบการนำระเบิด อาวุธสงคราม มาทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ การจับกุมอาวุธสงครามกลับน้อยลงไปในช่วงปี 2558 และใน 2559 เริ่มทรงตัว จนมาถึงปี 2560-2561 มีการจับกุมและยึดอาวุธสงครามได้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่า เริ่มมีการนำอาวุธสงครามออกมาใช้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้คดีเกี่ยวกับอาวุธสงครามเริ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ แต่เป็นที่สังเกตว่า คดีที่เกิดจากการระเบิดน้อยลงตามลำดับนับตั้งแต่ปี 2557

​ยังไม่นับนโยบายการจัดระเบียบสังคม ที่ในช่วงแรก กกล.รส.เป็นแกนหลักในการเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย ทั้งการตั้งแผงค้าริมถนน จัดระเบียบรถตู้โดยย้ายไปยังสถานีขนส่งหมอชิต การขึ้นทะเบียนวินจักรยานยนต์ รวมถึงการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติของแรงงานชาวกัมพูชา เมียนมา และลาว แต่ช่วงหลังที่ กกล.รส.มีการปรับลดบทบาทลงและได้ส่งมอบงานกลับไปให้กระทรวง ทบวง กรม ดูแลไปตามกรอบงานเดิม  ทำให้มาตรการที่เคยเข้มงวดกลับผ่อนผันมากขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบหลายส่วน

​ขณะที่ การเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งในเมืองที่มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วเป็นรูปเป็นร่าง การลงทุนโครงการเมกะโปรเจก โครงการสำคัญของรัฐบาล คือ โครงการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) ซึ่งประกอบด้วยโครงการใหญ่มากมาย ทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือ แหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3

บทความโดย วิญญู เวฬุวัน

ขอบคุณภาพบางส่วน Thaigov. / กระทรวงการต่างประเทศ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า