ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมของทุกปี (ในช่วง 8 ปีหลังสุด) ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐานตลอด สาเหตุเพราะในช่วงเวลานี้อากาศนิ่งกว่าช่วงอื่นๆ ของปี นอกจากนี้เมื่อดูแนวโน้มระยะยาว ยังพบว่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย
รายงานเรื่อง “โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล” โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้นำเสนอข้อมูลความเข้มข้นฝุ่นพิษ PM2.5 รายวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2554-2561 ซึ่งพบว่าในช่วงเดือนธันวาคม ต่อเนื่องเดือนมกราคมถึงมีนาคม “ของทุกปี” ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรทั้งหมด
ทั้งนี้จากกราฟข้อมูลจะสังเกตได้ว่า หลังจากผ่านช่วงเดือนมีนาคมไปแล้วของทุกปี ค่าฝุ่น PM2.5 ในอากาศจะลดลง ซึ่งน่าจะเกิดจากการการเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ซึ่งอากาศจะมีการไหลเวียนมากกว่าในช่วงต้นปี จึงทำให้ฝุ่น PM2.5 ถูกลมหอบพัดไป ไม่กระจุกตัวค้างอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่ากังวลก็คือ รายงานระบุว่าเมื่อเปรียบเทียบกันปีต่อปี แนวโน้มระยะยาวของฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นก็คือ รายงานฉบับนี้ของกรมควบคุมมลพิษบอกว่าไม่สามารถระบุได้ว่าระดับฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นมาตลอด 8 ปีหลังสุดนี้มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่
ที่มา รายงานของกรมควบคุมมลพิษ : https://goo.gl/rGWbkV