ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จอมบึงมาราธอน ครั้งที่ 34 เป็นกังวลปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หลังพบว่าสถานนีตรวจวัด ใน อ.เมือง จ.ราชบุรี สูงเกินค่ามาตรฐาน หวั่นกระทบสุขภาพนักวิ่งจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่จัดงาน
การแข่งขันจอมบึงมาราธอน ครั้งที่ 34 จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคมนี้ มีนักวิ่งส่วนหนึ่งออกมาตั้งคำถามเรื่องคุณภาพอากาศ เนื่องจากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.ราชบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ตรวจพบว่า ค่าฝุ่นละอองในอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
นายพรพิทักษ์ ปลื้มภวังค์ หนึ่งในนักวิ่งที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันนี้ เล่าว่า จากการพูดคุยกับผู้ร่วมแข่งขันหลายคน ส่วนใหญ่ค่อนข้างกังวลกับเรื่องคุณภาพอากาศ เพราะจากการติดตามข่าวมีรายงานว่า พื้นที่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ค่ามลพิษสูงติดต่อกันหลายวัน จึงไม่มั่นใจว่าสถานที่จัดงานวิ่งครั้งนี้ ค่ามลพิษจะสูงเหมือนกันหรือไม่ เพราะไม่มีสถานีตรวจวัดค่ามลพิษ หากฝุ่นหนาแน่นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักวิ่ง เพราะระยะทางที่วิ่งค่อนข้างไกล และใช้เวลาหลายชั่วโมง โดยกลุ่มนักวิ่งได้ขอให้ผู้จัดงาน ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และประกาศให้ผู้ร่วมงานรับทราบ เพื่อการป้องกันตัวเอง
“จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ค่อนข้างจะอยู่ในพื้นที่สีแดง เราก็เลยมีความกังวลในการวิ่งมาก แต่ก็คงจะไปวิ่ง เพราะจอมบึงมาราธอน เป็นมาราธอนในตำนานที่ทุกคนอยากไป และถึงแม้ว่าค่ามลพิษ PM 2.5 ที่ตรวจวัดจะอยู่ใน อ.เมือง แต่ฝุ่นขนาดเล็กอาจกระจายมาในพื้นที่ใกล้เคียงได้ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจวัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักวิ่งทุกคนว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” นายพรพิทักษ์ กล่าว
อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
ด้านอาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผู้จัดงานจอมบึงมาราธอน เปิดเผยกับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า ทางทีมงานได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองมาตลอด และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประสานกับกรมควบคุมมลพิษ ขอนำรถตรวจค่าฝุ่นละอองเคลื่อนที่มาวัด แต่พบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเครื่องมือมีจำนวนจำกัด และขณะนี้นำไปใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
หลังรับฟังปัญหาจากผู้เข้าร่วมงานวิ่ง ทีมงานได้ประชุมร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพื่อหาแนวทางแก้ไข เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะใช้เครื่องพ่นละอองน้ำ มาฉีดพ่นบนเส้นทาง ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่มีการแข่งขัน (ตั้งแต่วันที่ 18-20 ม.ค.62) และให้ทีมแพทย์ คอยเฝ้าระวังนักวิ่งกรณีมีเหตุฉุกเฉิน จะมีสัญญาณเตือน ธงเหลือง ธงแดง หรือถ้าเกิดวิกฤตรุนแรงชัดเจน ก็อาจจะต้องยุติการแข่งขัน โดยให้อำนาจกับผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของงานเป็นผู้วินิจฉัย โดยมาตรการนี้ทีมงานจะชี้แจงให้ผู้ร่วมแข่งขันทั้ง 15,000 คน รับทราบอย่างเป็นทางการ
“ทางชมรมนักวิ่งเองได้ฝึกซ้อมวิ่งในบริเวณจัดงานทุกวัน ขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติของร่างกาย ระบบทางเดินหายใจแต่อย่างใด โดยลักษณะภูมิประเทศใน อ.จอมบึง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่มีต้นไม้จำนวนมาก สภาพอากาศดี และอยู่ห่างจากจุดตรวจวัดใน อ.เมือง กว่า 30 กิโลเมตร เชื่อว่า คุณภาพอากาศอาจจะแตกต่างกัน เพียงแต่ไม่มีสถานีตรวจวัดในพื้นที่” อาจารย์ณรงค์ กล่าว