ผู้ช่วยศาสตราจารย์อเมริกันถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตร หลังส่งอีเมลถึงนักศึกษาชาวจีนให้พูดภาษาอังกฤษในตึกคณะ โลกออนไลน์วิพากษ์หนักเหยียดเชื้อชาติหรือไม่
วันนี้ (28 ม.ค. 62) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เมแกน นีลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวสถิติและชีวสารสนเทศศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยดุ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท หลังจากอีเมลของเธอที่ส่งไปติติงนักศึกษาชาวจีนให้พูดภาษาอังกฤษ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Weibo สังคมออนไลน์จีน ได้มีผู้คนนับล้านติดแฮชแท็ก “มหาวิทยาลัยดุ๊ก ห้ามพูดภาษาจีน” หรือ “อาจารย์มหาวิทยาลัยดุ๊กที่ห้ามพูดภาษาจีนต้องลาออก” โดยมีชาวเน็ตระบุถึงกรณีนี้ว่า เป็นการเหยียดผิวหรือไม่
One professor from Duke University sent out an email asking Chinese students not to speak Chinese in school building. pic.twitter.com/6xGkIeScJo
— Hua Sirui 华思睿 (@siruihua) 26 January 2019
ตามรายงานระบุว่า อีเมลของ อ.นีลี ระบุว่า อาจารย์ประจำภาควิชา 2 ท่าน ได้บ่นกับเธอว่ามีนักศึกษาพูดภาษาจีนในตึกคณะ ซึ่งการไม่พูดภาษาอังกฤษอาจนำไปสู่ผลที่ไม่ตั้งใจสำหรับนักศึกษาต่างชาติ พร้อมเสริมว่า เธอนับถือนักศึกษาต่างชาติในการเรียนรู้ภาษาที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา แต่ “ฉันขอแนะนำให้คุณใช้ภาษาอังกฤษ 100% เวลาที่คุณอยู่ในตึกคณะหรือสถานที่อื่นๆ”
ทำให้อาจารย์สาวแห่งภาควิชาชีวสถิติฯ ถูกหลายคนมองว่าเธอเป็นพวกแบ่งแยกชนชั้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่าอาจารย์ประจำภาควิชาดังกล่าว จะเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาปริญญาโทจำนวนหนึ่งกล่าวว่า อ.นีลี ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติอย่างแน่นอน และยินดีที่จะช่วยเหลือนักศึกษาทุกชนชาติ
ประเด็นดังกล่าวเป็นกระแสร้อนแรงในมหาวิทยาลัยดุ๊ก โดยมีกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวพร้อมเรียกร้องให้สอบสวนอาจารย์สาวรายนี้ เพราะมีความกังวลเป็นอย่างมากว่านักศึกษาที่มาจากหลากหลายชาติ จะได้รับผลกระทบในเรื่องการเรียนและโอกาสในการจ้างงาน จากการพูดภาษาของตนเองนอกห้องเรียน
ด้านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาและดูแลภาควิชาชีวสถิติและชีวสารสนเทศศาสตร์ ออกมากล่าวว่า นักศึกษาต่างชาติจะไม่ถูกจำกัดการใช้ภาษาของตัวเองในการสื่อสารระหว่างกัน ขณะที่โอกาสในการจ้างงานก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการสนทนาภาษาของพวกเขาที่ใช้นอกห้องเรียน และความเป็นส่วนตัวของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครองเสมอ
นอกจากนี้ ทางคณบดีฯ ได้สั่งตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ส่วน อ.นีลี แม้จะถูกปลดออกจาก ผอ.หลักสูตร แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา และยังไม่ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณชนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนเริ่มแชร์ภาพ อ.นีลี พร้อมเรียกร้องให้เธอถูกไล่ออก