SHARE

คัดลอกแล้ว

กว่าครึ่งชีวิตของการต่อสู้ในสนามการเมือง ของนักการเมืองมากประสบการณ์ จาตุรนต์ ฉายแสง วัย 63 ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาครบทุกรูปแบบ บทบาทสูงสุดได้เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง และวิบากกรรมของชีวิตที่สุด ดิ่งสู่คุก สู่ตะราง ถูกแบนตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถูกอายัดบัญชี และไม่สามารถเข้าโหวตลงคะแนนเลือกตั้งได้

การหวนสู่สนามเลือกตั้ง ปี 2562 “จาตุรนต์ ฉายแสง” นักการเมืองดาวเด่น จากบ้านเลขที่ 111 ในวันที่สวมบทบาทเป็น “ขงเบ้ง” ฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เผยกับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต้องล้มล้างอำนาจเผด็จการให้ได้

ผมอยู่กับการเมืองมานาน ผ่านช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน บางช่วงตกงานแล้ว ตกงานอีก เพราะถูกยึดอำนาจ ถูกยึดอำนาจ บางช่วงเป็นรัฐบาลก็เป็นอยู่นาน ทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจว่าจะเปลี่ยนประเทศ ในการร่วมรัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่ในการเปลี่ยนประเทศ แต่ว่าถึงจุดนี้ ผมได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญมาก คือความไม่เป็นประชาธิปไตย และก็อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

ชัดเจนว่าต้องประชาธิปไตย ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจแน่นอน พูดให้ชัดเจนก็คือว่า ถ้าคุณประยุทธ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เราไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯแน่นอน ถ้าพลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ เราเป็นฝ่ายค้าน ถ้าพลเอกประยุทธ์แพ้ไปฝ่ายเราจัดตั้งรัฐบาล

          การทวงคืนประชาธิปไตย เป็นจุดยืนทางการเมืองของ “จาตุรนต์” ที่ยังตอบได้ชัดเจนในวันนี้ หากดูจากเส้นทางชีวิต ภายใต้ร่มเงาของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา จนต้องเข้าป่าในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 และเริ่มเข้าสู่อาชีพนักการเมืองตั้งแต่วัยหนุ่ม ตามคำชักชวนของพ่อ อดีต ส.ส.ดังเมืองแปดริ้ว จวบจนปัจจุบัน

โบกมือลา เพื่อไทยเพราะยุทธศาสตร์แยกกันเราอยู่ ไม่ได้ขัดแย้งอุดมการณ์

          เมื่อจาตุรนต์ ได้ปรากฏตัวในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้เผยถึงเหตุผลการตัดสินใจแยกทางกับพรรคเพื่อไทยว่า เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความหมายมากสำหรับคนทั้งประเทศ ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ที่เขามักคิดว่าจะได้รับเลือกเป็นผู้แทนหรือไม่ หรือจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แต่ครั้งนี้เป็นความท้าทายที่ต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการ อีก 10 – 20 ปี ข้างหน้า

เมื่อถามว่า นอกจากยุทธศาสตร์แยกกันเราอยู่ ที่ดูเหมือนต้องการวัดพลังกับฝ่ายเผด็จการแล้ว เหตุผลสำคัญเพราะกลัวการตัดสินยุบพรรคหรือไม่นั้น เขายอมรับว่า “กลัวถูกยุบพรรค” ก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ที่นักการเมืองส่วนหนึ่งรู้สึกอย่างนั้น เพราะต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองสายพรรคไทยรักไทย มีประสบการณ์ถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์กรรมการพรรคทั้งหมดมาแล้ว

นักการเมืองในพรรคการเมืองสายไทยรักไทย ก็อาจจะรู้สึกกังวลเรื่องการถูกยุบพรรค มากกว่าการเมืองพรรคอื่น หรือ กลุ่มอื่น แต่ยืนยันว่าส่วนตัวแล้ว ยังไม่เห็นเหตุเพียงพอที่จะยุบพรรคเพื่อไย แล้วก็ไม่ใช่ตัดสินใจแยกจากพรรคเพื่อไทยมา เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะถูกยุบ รวมทั้งไม่ได้เห็นต่างทางอุดมกรณ์อะไร

แม้ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นักการเมืองมืออาชีพ” ชื่อ “จาตุรนต์ ฉายแสง” จะเป็นผู้ถือหางเสือเรือ ทษช. แล่นในสนามเลือกตั้งนี้  ชู ส.ส.หนุ่มคนรุ่นใหม่ “ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช” สวมบทบาทหัวหน้าพรรคทันสมัย สู้พรรคการเมืองยุคใหม่

จาตุรนต์ กลับตอบว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายบทบาท อยู่กับการเมืองมานาน ขึ้นสู่การเป็นรัฐมนตรี และก็อยู่กับการเมืองมาแบบไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็เคยเป็นมาแล้ว เป็นสมาชิกธรรมดาๆ ของพรรคเพื่อไทยอยู่อีกหลายปี ก็ทำงานการเมืองมาได้ มาอยู่พรรคไทยรักษาชาติ ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร มีงานให้ทำ ได้รับมอบหมายให้ทำงาน ก็ยังใช้ความสามารถของตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้ ก็ยังมีความสุขดี

ไทยรักษาชาติ เปิด 12 นโยบาย สายพันธุ์ไทยรักไทย พลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศ

จากประสบการณ์อดีตขุนคลัง สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และขุนพลคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ เขาประกาศ 12 นโยบายพรรค ทษช. ภายใต้แนวคิด “พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสใหม่ เพิ่มรายได้ กระจายมั่งคั่ง สังคมเป็นสุข” พร้อมระบุว่า ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล “ปัญหาเศรษฐกิจ” จะเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไข  ซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยนักลงทุนต่างคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าต่างๆ เช่น FTA 12 ฉบับ

ผมคิดว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย มันต้องการ ทั้งเทคนิค วิธีการ แล้วก็มันต้องการทิศทาง มันต้องการความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ซึ่งในส่วนนี้เราเชื่อว่ามันจะเป็นจุดต่างที่สำคัญ จุดต่างที่ ไม่ใช่จุดต่างระหว่างพรรคการเมืองเท่านั้น มันเป็นจุดต่างของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ และรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย

สำหรับ 12 นโยบายที่จะแก้ปัญหาประเทศ ในแบบฉบับของพรรคไทยรักษาชาติ ที่ “จาตุรนต์” มั่นใจว่า จะสามารถแก้ปัญหาผลพวงจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนา ช่วง 4-5 ปีนี้ จนปัญหาไปสู่ประชาชนทั้งในแง่เชิงสังคม เชิงการบริการของรัฐ ที่ทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหา เรื่องการศึกษาก็ต้องมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกมาก สังคมสูงวัย กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เขามั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุม และเป็นเรื่องที่ต้องการการดูแลรักษา มันเลยมาเป็น “ไทยรักษาชาติ” กับ 12 นโยบายดังนี้

  1. รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น เพื่อฟื้นการลงทุนจากในและต่างประเทศ
  2. เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และดูแลพืชผลเกษตรที่ราคาตกต่ำ ด้วยการสร้างผู้ประกอบการด้านเกษตรสมัยใหม่ (Smart farmer) ใช้ Digital marketing เชื่อมผลิตภัณฑ์เกษตรไทยสู่ตลาดโลก, จัดหาสินเชื่อเกษตรระยะยาว, ตั้งกองทุนปรับโครงสร้างเกษตร
  3. เร่งการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้า 12 ฉบับ, เปิดเจรจาการค้าใหม่, ส่งเสริมการค้าชายแดน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว
  4. ปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น กลาโหม และเร่งลงทุนใน Mega project ด้านคมนาคม
  5. ลดการผูกขาด, ไม่เอื้อทุนใหญ่ ยกเลิกและแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรค (Deregulation)
  6. สร้างความมั่งคั่งใหม่ด้วยกองทุนสร้างโอกาส, OTOP plus, Digital Economy, เปิดประตูสู่ 5 G, จัดตั้ง TSN startup และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
  7. ยกระดับการให้บริการและการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข 30 Plus + “สร้างนำซ่อม”
  8. กำหนดให้การจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ, พัฒนากลไกขีดความสามารถ ในการควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะการลดมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่อย่างจริงจัง จัดระบบจัดการขยะที่ทันสมัยใหม่
  9. พลิกโฉมการศึกษาไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างเด็ก สร้างหลักสูตรและสร้างครู ด้วยหลัก 7Cs และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งยกระดับโครงการ ICL
  10. เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วย Retraining aging workforce สร้างความมั่นคงทางรายได้และส่งเสริมการออม
  11. เร่งแก้ปัญหายาเสพติด ฟื้นนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย และลดปัญหาคอรัปชั่น โดยปรับแก้กฏหมายและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
  12. ฟื้นฟูประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ยกเลิกกฏหมายที่ไม่เป็นธรรม ส่งเสริมการกระจายอำนาจ คืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชน

ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมาก ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ขอชูแนวคิดสร้างโอกาสและศักยภาพใหม่ๆให้คนไทยด้วยหลักการ Techsynomics (Technology Sync Economics) โดยใช้เทคโนโลยีควบคู่กับเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันการเปลี่ยนระบบพื้นฐานเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชน ปรับตัว เท่าทันและสามารถการแข่งขันบนเวทีระดับโลก โดยจะเน้นนำเทคโนโลยีไปสร้างโอกาสให้คน 5 กลุ่มคือ 1. กลุ่มเกษตรกร 2. กลุ่มแรงงาน 3. กลุ่มบริการ 4. กลุ่มธุรกิจขนาดย่อย 5. กลุ่มธุรกิจที่กำลังจะเกิดใหม่

หยุดยั้งกติกาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ลดทอนอำนาจประชาชน

          ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ เผยว่า พร้อมทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่หากสามารถยกเลิกระบบนี้ได้ก็จะยกเลิก ซึ่งอาจจะหมายถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเนื้อหาอย่างหนึ่งในการแก้รัฐธรรมนูญ คือ ยกเลิกระบบยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ต้องให้มียุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นเรื่องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็ดี

พร้อมมองว่า การแก้ปัญหาประเทศ ควรเป็นเรื่องที่รัฐบาลปรึกษาประชาชน พรรคการเมืองปรึกษาประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แล้วไปกำหนดนโยบายผ่านรัฐสภา จะแก้ไขปรับปรุงต้องเป็นไปตามสถานการณ์ของประเทศ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศ ไม่ใช่การวางแผนล่วงหน้า 20 ปี โดยคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย และคนที่ไม่มีความทันสมัย ไม่ได้รับฟังความเห็นประชาชนเลย แล้วไปวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้กับคนอีก 15 – 20 ปี ข้างหน้า

วันนี้เขายังเป็นหนุ่มๆ สาวๆ ข้างหน้าเขาต้องไปใช้ หรือว่ายิ่งหนุ่มๆ สาวๆ ในวันข้างหน้า วันนี้เขาเป็นเด็ก เขาเป็นหนุ่มๆ สาวๆ ขึ้นมา เขารับรู้อะไรที่มันทันสมัยมาก เขารู้ว่าโลกควรจะเป็นยังไง โลกควรจะเป็นยังไง แตกต่างจากคนปัจจุบันมาก แต่เขาไปเจอยุทธศาสตร์ชาติ ที่เขียนล็อกเอาไว้โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เคยปรึกษาใครไม่ได้ ระบบอย่างนี้ต้องไม่ให้มี

ดังนั้น การเลือกตั้ง 2562 จึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ ที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” มีภารกิจสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจ นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล ตามคำที่จาตุรนต์บอกไว้ว่าต้องการ “ให้ได้รัฐบาลประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า