SHARE

คัดลอกแล้ว

ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว เปิดตัวพรรค และออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นต่างๆ มากขึ้น โดยประเด็นร้อนแรงที่ดูเหมือนจะแบ่งพรรคต่างๆ ออกเป็นสองฝั่งสองฝ่ายในขณะนี้ ก็คือเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ว่าจะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อหลังเลือกตั้งหรือไม่

สำหรับฝั่งที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า “ไม่สนับสนุน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจต่อ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “พรรคเพื่อไทย” ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับขั้วอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง มิหนำซ้ำเพื่อไทยเองยังย้ำจุดยืนว่าจะร่วมงานเฉพาะกับพรรคที่ไม่สนับสนุนกลุ่มทหาร โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย ว่าที่เลขาธิการพรรค ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ถ้ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เอานายกฯ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจ ก็สามารถคุยกันได้”

ส่วน “พรรคเพื่อธรรม” และ “พรรคเพื่อชาติ” ที่อาจถือได้ว่าเป็นพรรคพี่พรรคน้องกับเพื่อไทย รวมถึงสมาชิกหลายคนใน 2 พรรคนี้ก็เคยอยู่ในพรรคเพื่อไทย ดังนั้นถึงที่สุดแล้วสองพรรคนี้ก็คงเป็นแนวร่วมสำคัญของพรรคเพื่อไทย ในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในขณะที่พรรคที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่อย่าง “พรรคอนาคตใหม่” ก็เกิดขึ้นมาด้วยเจตจำนงในการต่อต้านเผด็จการอยู่แล้ว คำพูดของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่ว่า “ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทุกรูปแบบ” คงสามารถสรุปทุกอย่างได้อย่างดี

ส่วนพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “พรรคประชาชาติ” ของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่าง วันมูหะมัดนอร์ มะทา “พรรคเสรีรวมไทย” ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และพรรคที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่าง “พรรคสามัญชน” ก็ล้วนแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และคงไม่โหวตสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออย่างแน่นอน

ส่วนอีกฟากฝั่งหนึ่ง ก็มีพรรคการเมืองหน้าใหม่หลายพรรคที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาโดย “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และ “พรรคประชาชนปฏิรูป” ที่หัวหน้าพรรคอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า “ในปัจจุบันยังไม่เห็นว่าใครมีคุณสมบัติสู้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้”

สำหรับ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่แม้ว่า อุตตม สาวนายน จะยังกั๊กไม่พูดออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ แต่ด้วยความใกล้ชิดของพรรคพลังประชารัฐกับรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีสมาชิกพรรคถึง 4 คนที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ รวมถึงหลายคนก็ดำรงตำแหน่งอยู่ในกลไกอำนาจที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันวางเอาไว้ เช่น นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคที่เป็นทั้งรัฐมนตรีและเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย หรือนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ สมาชิกพรรคอีกคนที่มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยู่ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้คงหนีไม่พ้นที่พรรคพลังประชารัฐจะยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อหลังเลือกตั้ง

สำหรับ “พรรคพลังชล” ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่าง สนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรค กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ฝ่ายหลังทั้งแต่งตั้งสนธยาเป็นที่ปรึกษานากยกรัฐมนตรีด้านการเมือง และยังเคยใช้อำนาจตาม ม.44 ปลดนายกฯ เมืองพัทยาคนเก่า แล้วให้สนธยาดำรงตำแหน่งแทน คงเพียงพอที่จะทำให้ลูกกำนันเป๊าะคนนี้เทเสียงทั้งหมดของพลังชลไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อ

ในขณะที่ “พรรคพลังธรรมใหม่” ที่มีรากมาจากพรรคพลังธรรมเดิมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมถึงพรรคสีสันอย่าง “พรรคเห็นแก่ชาติ” ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก “พรรคเห็นแก่ตัว” ก็ล้วนประกาศตัวชัดว่าพร้อมหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

สำหรับพรรคที่ยังมีจุดยืนในเรื่องนี้ “ไม่ชัดเจน” ก็ยังมีอยู่หลายพรรค โดยพรรคการเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองในขณะนี้อย่าง “ประชาธิปัตย์” ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้งจะมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร เพราะหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดแง้มเปิดความเป็นไปได้ในการหนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ด้วย โดยระบุว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อย่างชอบธรรมตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้ ประชาธิปัตย์ก็อาจร่วมสนับสนุน แต่ถ้าไม่ก็คงร่วมงานกันไม่ได้ “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ แต่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่เข้าร่วม” นายอภิสิทธิ์กล่าว

สำหรับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่แม้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค จะได้เคยพูดไว้ว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ นั้น “ต้องดูผลการเลือกตั้งเป็นหลัก” แต่เมื่อดูจากท่าทีของคนในพรรคภูมิใจไทยเมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไป ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ ที่มีการเปิดสนามฟุตบอลต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ รวมถึงล่าสุดในการจัดโมโตจีพีที่บุรีรัมย์ ซึ่งเนวิน ชิดชอบ มาต้อนรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยตัวเอง ก็คงจะพอบอกได้เลาๆ ว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกแล้ว ก็มีความเป็นไม่ได้ไม่น้อยที่พรรคภูมิใจไทยจะยกมือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ส่วน “พรรคชาติไทยพัฒนา” ที่แม้ว่าที่หัวหน้าพรรคอย่าง วราวุธ ศิลปอาชา จะยังกั๊กไม่พูดออกมาอย่างชัดเจนเช่นกันว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ แต่จากจุดยืนของพรรคที่พร้อมจะเป็นรัฐบาลเสมอ เหมือนที่วราวุธเคยพูดไว้ว่า “ผลคะแนนการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน พรรคร่วมกับทุกพรรคได้หากมีแนวนโยบายเดียวกัน” ดังนั้นหากหลังการเลือกตั้ง แนวร่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวโน้มจะได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคชาติไทยพัฒนาก็คงพร้อมเข้าร่วมและโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับพรรคหน้าใหม่ อย่าง “พรรคพลังท้องถิ่นไท” ของชัช เตาปูน ที่ดึงอดีตนักร้องดังอย่าง ฟิล์ม รัฐภูมิ มาเป็นสมาชิกพรรคด้วย ก็ยังไม่ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ในขณะที่ “พรรคเพื่อคนไทย” ก็ประกาศชัดว่าขอเป็นกลาง ไม่สนับสนุนใครเป็นพิเศษ ส่วน “พรรคพลังพลเมืองไทย” ก็ประกาศว่าพร้อมสนับสนุนใครก็ได้ที่มาตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

ส่วน “พรรคชาติพัฒนา” ที่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้ง จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ทำงานต่อหรือไม่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า