จากข่าวหนุ่มไทยตัดสินใจทำการุณยฆาตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง โดยจากข้อมูลการุณยฆาตถูกกฎหมายในประเทศ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม โคลัมเบีย ลักเซ็มเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และ แคนาดา
บทความของ The Guardian ลงรายละเอียดของแต่ละประเทศเอาไว้
เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกที่การุณยฆาตถูกกฎหมาย โดยเกิดขึ้นในปี 2002 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เข้ารับจะต้องอยู่ในอาการป่วยหนัก รักษาไม่ได้ และการขอการุณยฆาตจะต้องเกิดขึ้นภายใต้การร้องขออย่างมีสติ เงื่อนไขเช่นนี้คล้ายกับเบลเยียม ซึ่งเป็นประเทศที่สองที่การุณยฆาตถูกกฎหมาย และยังมีเงื่อนไขว่าผู้ที่เข้ารับการุณยฆาตจะต้องมีแพทย์คอยดูอาการจนสิ้นชีวิต
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขของผู้ขอเข้ารับการุณยฆาตในเบลเยียมมีเป็นหลักพันต่อปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ที่เยอรมันเคยมีการสอบถามประชาชนถึงความเห็นต่อเรื่องนี้และผลสะท้อนว่า สองในสามโหวตสนับสนุน
ส่วนประเทศไทยข้อมูลจากเพจ จับเข่าคุย Law บอกว่าปัจจุบันนี้การการุณยฆาตโดยวิธีการให้ยาหรือวิธีอื่น ๆ ไม่สามารถทำในประเทศไทยได้ เพราะว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ป่วยก็ยังมีอีกสิทธิหนึ่งที่อาจจะเรียกสั้น ๆ ได้ว่า สิทธิในการจากไปอย่างสงบ โดยสามารถทำได้โดยการเซ็นหนังสือยินยอมสั่งการไว้ว่าในกรณีที่ตนเองป่วยหนักมากจนถึงวาระสุดท้ายแล้ว
ผู้ป่วยไม่ต้องการให้หมอรักษาโดยวิธีที่ทำไปเพียงเพื่อยืดระยะเวลาการเสียชีวิตออกไปตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ตัวอย่างเช่น ไม่ต้องปั๊มหัวใจ หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือให้อาหารทางสายยาง เป็นต้น