
Image by caio_triana on Pixabay
แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป คาดการณ์ภาวะการว่างงานในปีนี้ ว่า จะมีคนว่างงานเพิ่มร้อยละ 1.1-1.2 จาก 38 ล้านคน พร้อมเสนอภาครัฐเร่งการพัฒนา เสริมทักษะ รับยุค 4.0
นายวรรณชัย ไพบูลย์บารมี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทบุคลากรและที่ปรึกษาด้านแรงงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดแรงงานในประเทศไทยในปีนี้ อาจอยู่ในภาวะชะลอตัว และ คาดว่าอัตราว่างงาน จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1-1.2 หรือราว 4 แสนคน จากจำนวนผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่กว่า 38 ล้านคน
สาเหตุหลักมาจาก ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกและบริการโดยตรง อีกทั้ง ในหลายอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี โดยช่วงดังกล่าวอัตราการว่างงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ
สำหรับกลุ่มสายงานที่มีความต้องการของตลาด หลังจากการเพิ่มทักษะ มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร, กลุ่มดิจิทัล เช่น โปรแกรมเมอร์ ไอที และ กลุ่มอาชีพอิสระที่หารายได้เสริมผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างไรก็ดี ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภาครัฐควรจะต้องส่งเสริมการพัฒนาคน ซึ่งแรงงานไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องภาษา รวมทั้งการเสริมด้านทักษะแก่แรงงานและการศึกษา เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ซึ่งเป็นการต่อยอดกลุ่มธุรกิจเดิมให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์, ค้าปลีกค้าส่ง, บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ รองลงมา คือ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์, วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับสาม คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ทางด้านนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลการสำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนความต้องการจัดเป็น 10 อันดับ ดังนี้
10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่
- งานขายและการตลาด 22.65 เปอร์เซ็นต์
- งานบัญชีและการเงิน12.16 เปอร์เซ็นต์
- งานวิศวกร และการผลิต 8.62 เปอร์เซ็นต์
- งานไอที 8.11 เปอร์เซ็นต์
- งานธุรการ 7.15 เปอร์เซ็นต์
- งานบริการลูกค้า 6.39 เปอร์เซ็นต์
- งานระยะสั้นต่างๆ 6.28 เปอร์เซ็นต์
- งานระดับผู้บริหาร 5.63 เปอร์เซ็นต์
- งานทรัพยากรบุคคล 5.02 เปอร์เซ็นต์
- งานโลจิสติกส์ 3.04 เปอร์เซ็นต์
10 อันดับแรกสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่
- งานขายและการตลาด 22.57 เปอร์เซ็นต์
- งานวิศวกร 13.42 เปอร์เซ็นต์
- งานธุรการ 11.48 เปอร์เซ็นต์
- งานทรัพยากรบุคคล 8.66 เปอร์เซ็นต์
- งานบัญชีและการเงิน 8.57 เปอร์เซ็นต์
- งานบริการลูกค้า 8.26 เปอร์เซ็นต์
- งานโลจิสติกส์ 6.42 เปอร์เซ็นต์
- งานไอที 4.73 เปอร์เซ็นต์
- งานระดับผู้บริหาร 4.18 เปอร์เซ็นต์และ
- งานด้านการผลิต 4.14 เปอร์เซ็นต์