SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจาก คสช. ประกาศคลายล็อกการเมืองบางส่วน พรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ก็เริ่มกลับมาเคลื่อนไหว เปิดตัวพรรค เปิดหน้าขุนพล รวมถึงประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนมากขึ้น 

เพื่อเป็นการเตรียมตัวท่านผู้อ่านให้พร้อมกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทีมข่าวเวิร์คพอยท์อยากชวนไปสำรวจพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่ามีจุดยืนอย่างไรในเรื่องการ่วมรัฐบาล และส่งใครมาเป็นขุนพลนำสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งนี้

สำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่น ๆ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จะทยอยนำเสนอให้แฟนข่าวได้รู้จักมากขึ้นในโอกาสต่อ ๆ ไป

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยสโลแกน “พรรคเพื่อไทย หัวใจคือ ประชาชน” ซึ่งคล้ายกับสโลแกนที่พรรคไทยรักไทย เคยใช้เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ที่ว่า “ไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน”

พร้อมมีจุดยืนชัดเจน ไม่จับมือกับเผด็จการ และไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจต่อ โดยในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเพิ่งจะแถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์ว่า “มุ่งสร้างประชาธิปไตย ร่วมยืนหยัดกับประชาชน ไม่จำนนต่อเผด็จการ”

สำหรับผู้ที่จะนำพรรคเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้ง 2562 ในส่วนของหัวหน้าพรรคยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในขณะที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ซึ่งขณะนี้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีโอกาสเป็นตัวสอดแทรก แต่ความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นคงไม่มากนัก

ในส่วนของเลขาธิการพรรค คงหนีไม่พ้น นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ขณะนี้ก็เป็นรักษาการเลขาฯ พรรคอยู่ด้วย

พรรคประชาธิปัตย์

สโลแกนล่าสุดของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ ยังมุ่งไปที่โจทย์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ด้วยสโลแกนที่ว่า “ประชาธิปัตย์ มุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำและความยากจน” ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากภายในพรรคเอง ที่หลายคนเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของพรรค และออกมาประกาศว่า ต่อไปนี้ประชาธิปัตย์จะต้องเป็นพรรคที่ยึดมั่นในเสรีนิยมประชาธิปไตย

แต่พรรคจะเดินหน้าไปทางนั้นได้หรือไม่ คงต้องอยู่ที่ตัวผู้นำพรรคด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครจะยืนในตำแหน่งหัวหน้าพรรคในศึกเลือกตั้งที่จะมาถึง สถานการณ์ล่าสุดเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นตัวสอดแทรก

ในทางการเมือง ถึงอย่างไรก็ดูเหมือนว่าประชาธิปัตย์คงไม่สามารถเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยได้ โดยหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบันเคยพูดไว้ชัดเจนว่า หากพรรคเพื่อไทยยังอยู่ใต้เงาของตระกูลชินวัตร ก็คงไม่มีทางที่จะร่วมงานกันได้

ในขณะเดียวกัน สำหรับการร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทางพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ปิดความเป็นไปได้นี้เสียทั้งหมด เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อย่างชอบธรรมตามเจตนารมณ์ของประชาชนให้ได้ นั่นคือต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ในสภาเกิน 250 เสียง (จากทั้งหมด 500 เสียง) โดยนายอภิสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ แต่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่เข้าร่วม”

พรรคอนาคตใหม่

ถือเป็นอีกหนึ่งพรรคที่มีจุดยืนตรงข้ามกับ คสช. อย่างชัดเจน โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทุกรูปแบบ” พร้อมทั้งตอกย้ำจุดยืนประชาธิปไตยของพรรค ด้วยการชู นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคอนาคตใหม่สู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยสโลแกน “ไทย 2 เท่า : เท่าเทียมกัน เท่าทันโลก”

พรรคพลังประชารัฐ

ถือเป็นพรรคน้องใหม่ที่สมาชิกพรรคไม่ได้ใหม่ตาม เพราะเต็มไปด้วยผู้มากประสบการณ์ที่หลายคนทำงานอยู่ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาฯ พรรค ที่ตอนนี้สวมหมวกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีอีก 2 รัฐมนตรี ได้แก่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มาร่วมพรรคพลังประชารัฐแห่งนี้ด้วย

แม้ว่า นายอุตตม หัวหน้าพรรคจะยังกั๊กไม่บอกออกมาอย่างชัดเจนว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ แต่ดูจากความใกล้ชิดที่คนในพรรคหลายคนได้ทำงานในรัฐบาลแล้ว สุดท้ายคงหนีไม่พ้นที่พรรคพลังประชารัฐจะหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า

พรรคภูมิใจไทย

พรรคการเมืองลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2554) ครั้งนี้มีผู้นำคนใหม่คือ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล นำพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง ด้วยระบบการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบใหม่ มีการวิเคราะห์กันว่าพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากที่สุด และมีโอกาสได้ ส.ส. มากถึง 50 ที่นั่งในการเลือกตั้ง 2562

สำหรับจุดยืนของพรรคว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ แม้นายอนุทินจะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ต้องดูผลการเลือกตั้งเป็นหลัก” แต่เมื่อดูจากท่าทีของคนในพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไป ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ ที่มีการเปิดสนามฟุตบอลต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ก็มีแนวโน้มไม่น้อยที่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว พรรคภูมิใจไทยจะยกมือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

พรรคชาติไทยพัฒนา

แม้จะยังไม่ได้มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ท็อป วราวุธ ศิลปะอาชา ลูกชายคนสุดท้องของ นายบรรหาร ศิลปะอาชา ผู้ล่วงลับ โดยในขณะนี้พรรคชาติไทยพัฒนา ยังไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี

“ผลคะแนนการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน พรรคร่วมกับทุกพรรคได้ หากมีแนวนโยบายเดียวกันและนำนโยบายของเราไปปฏิบัติ” ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาระบุ

พรรครวมพลังประชาชาติไทย

คอการเมืองคงไม่มีใครปฏิเสธว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยได้ดึงสมาชิก กปปส. หลายคนมาร่วมพรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคถือธงปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสโลแกนหลัก

สมาชิกพรรคได้ลงมติเลือก “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นหัวหน้าพรรค ในขณะที่จุดยืนของพรรคนี้นั้นชัดเจนว่าต้องการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

พรรคประชาชนปฏิรูป

พรรคประชาชนปฏิรูปมีจุดยืนชัดเจน นั่นคือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ พรรคมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายมโน เลาหวณิช เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคเพื่อธรรม

อาจถือได้ว่า “พรรคเพื่อธรรม” เป็นพรรคพี่น้องกับ “พรรคเพื่อไทย” มีการวิเคราะห์กันว่าที่ต้องตั้งพรรคเพื่อธรรมขึ้นมา ก็เพื่อเอาไว้รองรับในกรณีฉุกเฉิน หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยอีก สมาชิกพรรคเพื่อไทยจะได้โยกย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อธรรมได้ รวมถึงบางคนก็วิเคราะห์ว่านี่เป็นการแก้เกมของพรรคเพื่อไทย เพื่อรับมือกับการเลือกตั้งในระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ทั้งนี้ พรรคเพื่อธรรมเปิดตัวมาพร้อมสโลแกน “ยึดมั่นประชาธิปไตย สร้างโอกาสใหม่ให้ประชาชน” โดยมี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายพงศกร อรรณนพพร เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคประชาชาติ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อมอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคน ได้ออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ “พรรคประชาชาติ” โดยมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมถึงไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอกด้วย ทั้งนี้ พรรคมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ พื้นที่เป้าหมายสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือภาคใต้ตอนล่าง ตั้งเป้าหมายคว้า ส.ส. 20 ที่นั่ง

พรรคพลังชล

หากพรรคพลังชลไม่ยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคอื่นตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ ก็มีแนวโน้มอยู่ดีกว่า นายสนธยา คุณปลื้ม จะนำพลังชลไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งแต่งตั้งนายสนธยาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง รวมถึงเพิ่งจะใช้อำนาจตาม ม.44 ปลดนายกฯ เมืองพัทยาคนเก่า แล้วให้นายสนธยาดำรงตำแหน่งแทน

ความสัมพันธ์อันดีเช่นนี้ คงเพียงพอที่จะทำให้พรรคพลังชลยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า