SHARE

คัดลอกแล้ว

ชื่อของ ‘หม่อง ทองดี’ ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่ 10 ปีก่อน เขาได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลรับปากว่าจะให้สัญชาติไทยแก่เขาเมื่อกลับมา แต่เรื่องก็เงียบหาย กระทั่งล่าสุด ‘หม่อง’ คว้าแชมป์และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยอีกครั้ง ในขณะเดียวกันเขาได้ยื่นเรื่องขอสัญชาติ และเป็นไปได้ว่าในปีหน้าหม่องจะได้เดินทางไปแข่งขันที่ญี่ปุ่นในฐานะ ‘คนไทย’

แต่นอกจาก ‘หม่อง’ แล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์และคนไร้สัญชาติอีกกว่า 480,000 คน ที่เกิดและใช้ชีวิตในประเทศไทยมายาวนาน โดยไม่เคยมี ‘ตัวตน’ ในทะเบียนราษฎร แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิ์ให้คนไร้สัญชาติกลุ่มนี้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม วันนี้ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจว่า คนไร้สัญชาติไทย ‘มีสิทธิ์’ และ ‘ไม่มีสิทธิ์’ ในเรื่องใดบ้าง

 มีสิทธิ์เรียนฟรี 15 ปี

ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 กำหนดให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่งรับ ‘เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย’ ทุกคนเข้าศึกษา และต้องออกหลักฐานรับรองผลการเรียนให้เมื่อเรียนจบ ทำให้เด็กไร้สัญชาติหรือเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้เช่นเดียวกับเด็กที่มีสัญชาติไทย

รวมถึงได้รับงบอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตั้งแต่ชั้นอนุบาล – ม.6 หรือ ปวช.3) ที่ประกอบไปด้วยค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เป็นงบอุดหนุนรายหัวเท่ากันกับเด็กนักเรียนไทยทุกคน

 ไม่มีสิทธิ์กู้เงิน กยศ.

ถึงแม้ ‘เด็กไร้สถานะทางทะเบียน’ จะมีโอกาสได้เรียนฟรีจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่เส้นทางการศึกษาของเด็กๆ กลุ่มนี้อาจต้องยุติลงที่วุฒิ ม.ปลาย หรือ ปวช. หากครอบครัวไม่มีกำลังมากพอจะส่งเสียพวกเขาให้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเด็กไร้สัญชาติไม่สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ เนื่องจาก กยศ.กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเอาไว้ในข้อแรกเลยว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

 ไม่มีสิทธิ์เดินทางอย่างอิสระ

‘คนไร้สถานะทางทะเบียน’ จะอาศัยและเดินทางได้เฉพาะในเขตจังหวัดที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติโดยกระทรวงมหาดไทย แต่ถ้าต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ไม่ว่าจะไปทัศนศึกษา เรียนต่อ หรือทำงาน ต้องขออนุญาตจากนายอำเภอก่อน เช่นเดียวกับกรณีที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ

บางคนอาจเคยเห็นข่าวของ ‘หม่อง ทองดี’ เด็กไร้สัญชาติที่ชนะการแข่งขันเครื่องบินกระดาษชิงแชมป์ประเทศไทยจนได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น หรือ ‘อาโย เมกากู่’ เด็กชาวอาข่า หนึ่งในทีมตัวแทนประเทศไทยที่ได้ไปแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่ฮ่องกง พวกเขาต่างพบอุปสรรคในการเดินทาง และต้องทำหนังสือขออนุญาตออกนอกประเทศเป็นกรณีพิเศษ

 มีสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรี

คนไร้สถานะทางทะเบียนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลฟรีตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2553 “อนุมัติให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการ”

ในปี 2558 มีคนไร้สถานะทางทะเบียนจำนวน 208,631 คน ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกระทรวงมหาดไทย และเข้าถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาลใน ‘กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ’ แล้ว ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้ครอบคลุมทั้งกรณีเจ็บป่วยทั่วไป อุบัติเหตุ และโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีคนไร้สถานะทางทะเบียนอีกมากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์ดังกล่าว

 มีสิทธิ์ทำงานทุกประเภท

นอกจากสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ‘คนไร้สถานะทางทะเบียน’ กลุ่มที่ผ่านการจัดทำทะเบียนประวัติโดยกระทรวงมหาดไทยแล้ว และกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ ยังสามารถทำงานได้ ‘ทุกประเภท’ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2559 แต่ในกรณีที่ต้องการออกไปทำงานนอกเขตจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ ก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตเดินทางก่อน

 มีสิทธิ์เปิดบัญชีธนาคาร

คนไร้สถานะทางทะเบียนสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารได้ โดยใช้เอกสารระบุตัวตนที่ภาครัฐออกให้ ดังนั้นในกรณีที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน สามารถใช้ ‘บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ เป็นหลักฐานในการขอเปิดบัญชีได้

 มีสิทธิ์เป็นเจ้าของรถ

คนไร้สัญชาติมีสิทธิในทรัพย์สินตามกฎหมายเอกชน จึงสามารถเช่าซื้อและเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ และตามแนวทางปฏิบัติของกรมขนส่งบางบก (หนังสือเวียนที่ คค 0408/ว.09 และ คค 0408/ว.10 ลงวันที่ 12 ม.ค. 2559) ได้อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติไทยสามารถใช้ ‘บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ เป็นหลักฐานในการจดทะเบียนรถและขอใบอนุญาตขับขี่ แต่ต้องดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนประวัติไว้เท่านั้น

 ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน

แต่คนไร้สถานะทางทะเบียนไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน หรืออาคารต่างๆ เพราะกฎหมายยังไม่รองรับ

 ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดคุณสมบัติของ ‘ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง’ ไว้ว่าต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือได้รับสัญชาติไทยมาแล้วไม่ต่ำว่า 5 ปี ก่อนถึงปีที่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น ‘คนไร้สถานะทางทะเบียน’ จึงไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงไม่มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอกฎหมาย แม้ว่าพวกเขาจะเกิดและใช้ชีวิตในประเทศไทยมาตลอดก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า