Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ราชเทวี เขตพญาไท และเขตจตุจักร นับว่าเป็นหนึ่งเขตที่มีการแข่งขันดุเดือดที่สุดเขตหนึ่งในกทม. เพราะนอกจากจะเป็นที่รวบรวมผู้สมัครส.ส.ที่สื่อจับตามองแล้ว ทั้ง 3 เขตยังนับว่าเป็นพื้นที่ของ “สวิงโหวตเตอร์ – Swing voters” ที่คะแนนเสียงพร้อมจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกฤดูกาลเลือกตั้งอย่างแท้จริง หลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง เอกสารจากกกต.รับรองผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดของเขตนี้ได้แก่ นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ หรือ “วัน” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ชนะด้วยคะแนนที่นำจากผู้สมัครพรรคอื่น ๆ เพียงไม่กี่พันคะแนน

ในวาระนี้ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงนัดเธอที่ศูนย์ประสานงานของพรรคพลังประชารัฐ ในออฟฟิศขนาดกระทัดรัดตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 2 พร้อมทั้งขอนำบทสนทนาระหว่างเรากับเธอมาให้อ่านกัน

“ที่ผ่านมาจริงๆทำธุรกิจของตัวเอง ก็ทำหลากหลาย เคยอยู่ในวงการเทเลคอมมาประมาณเกือบ 10 ปี แล้วก็อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็ทำคอนโด แล้วก็อีกอันนึงก็จะทำหลักสูตรเกี่ยวกับการทำธุรกิจ” “ว่าที่”ส.ส.เขต 6 กทม.เริ่มจากการแนะนำตัวว่าเส้นทางธุรกิจของเธอนี่เองที่ทำให้ได้มารู้จักกับพรรคพลังประชารัฐ

“อาจจะเป็นเพราะรู้จักผู้บริหารในพรรคหลายคน แล้วพี่ ๆ ก็ชวนว่าอยากจะให้มาช่วยทำเวิร์คชอปว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรไหมเวลาเราทำธุรกิจ หรือว่ามีอะไรที่เราอยากจะนำเสนอให้เป็นนโยบายระดับประเทศชาติไหม? พอเราเข้ามาช่วยงานของพรรคในหลาย ๆ ด้าน ช่วงแรก ๆ วันช่วยเหลือเรื่องออนไลน์ เรื่องมาร์เก็ตติ้ง แบรนดิ้ง พอตอนหลังพรรคก็บอกว่าด้วยประสบการณ์ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างเขาเลยอยากให้ลงเป็นส.ส.เอง แล้วเขาก็มองว่าเขตที่จะให้วันลงเป็นเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เป็นเขตเมืองที่วันน่าจะเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของเมืองตรงนี้ด้วยตัววันเองก็เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมมา มีประสบการณ์มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ก็คุยกันอยู่สักระยะหนึ่งก็เลยตัดสินใจว่าได้ เป็นโอกาสที่ดี”

ภาพโดย จิรธัช สิงหะ

จากการสัมภาษณ์นักการเมืองจากพรรคต่าง ๆ เวิร์คพอยท์พบว่าหลายคนเข้ามาทำงานการเมืองเพราะมีความฝันจะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา เรื่องนี้ภาดาก็สารภาพว่าการเมืองเข้ามาในความคิดของเธอตั้งแต่เด็กเหมือนกัน

“ตอนประมาณสัก 10 ขวบ วันบอกคุณพ่อว่าวันอยากเป็นส.ส. ซึ่งจริง ๆ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอก ส.ส.คืออะไร รู้แค่ว่าถ้าโตมาเราอยากเป็นคนเก่ง อยากเป็นคนที่เอาความรู้มาพัฒนาช่วยเหลือคนตรงนี้ได้” เธอเล่าพร้อมหัวเราะไปด้วย ก่อนเล่าอีกว่าความฝันไม่ได้จบแค่ส.ส. เธอเคยอยากเป็นผู้ว่ากทม.ด้วย

“พอโตมาอีกนิดนึงก็เริ่มชอบเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็รู้สึกว่ามันต้องเป็นใครถึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงส่ิงแวดล้อมได้ ตอนนั้นอายุประมาณ 18-19 ปี เรียนอยู่ที่อักษรศาสตร์จุฬาฯ เราก็บอกเพื่อนว่าเดี๋ยวโตมาฉันจะเป็นผู้ว่ากทม. แล้วก็มีความมุ่งมั่นมาก ทั้งที่ผู้ว่ากทม.ก็คือตำแหน่งที่ยากเย็น ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาเป็น ทีนี้ก็เลยเบนเข็มไปเรียนเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่จุฬาฯ เป็นปริญญาโทอีกใบหนึ่ง พอเรียนยิ่งรู้สึกว่ามันใช่แล้วเราชอบมาก ก็ไปเรียนต่ออีกใบหนึ่งที่อเมริกาที่ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในโลก เราเองก็มีความมุ่งมั่นมาก ไฟแรง อยากทำ แต่พอกลับมาจริงๆก็ผิดหวังเพราะว่าในยุคนั้นประเทศเราอาจจะยังไม่ได้พร้อมสำหรับสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้มีตำแหน่งหรือไม่ได้มีงานรองรับเยอะเราก็เลย งั้นก็พักไว้ก่อน”

ภาดาท์เล่าให้ฟังว่าหลังจากนั้นก็ไม่ได้ทิ้งงานสิ่งแวดล้อมไปไหน เมื่อต้องมาจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ลืมที่จะแทรกสิ่งที่รักเข้าไปด้วย

“เราเบนเข็มมาทำธุรกิจ มาร์เก็ตติ้ง พอถึงจุดนึงเราก็บอกตัวเองว่า เราไม่ต้องเป็นผู้ว่าก็ได้ เราอยู่ตรงไหนของสังคมเราก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ วันก็มาคิดในตอนที่วันทำอสังหาริมทรัพย์ ทำคอนโดก็พยายามเอาทุกอย่างที่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาจับ เช่น วันก็จะดูว่ามีนวัตกรรมอะไรบ้างที่ช่วยเรื่องประหยัดพลังงาน ที่ช่วยเรื่องรีไซเคิลไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือขยะ ก็เริ่มสนุกกับมัน จริงๆเราอยู่ตรงไหนเราก็ทำสิ่งนี้ได้ ก็เริ่มจากตรงนั้นและมีใจรักมาก ๆ พอถึงจุดที่เข้ามาสู่วงการการเมือง วันก็ยิ่งรู้สีกว่ามันเป็นโอกาสดีจากที่เราเคยใฝ่ฝันตอนเด็ก ๆ ว่าอยากเอาความรู้และสิ่งที่เรารักมาทำให้ประเทศชาติ วันนี้วันก็หวังว่าถ้าวันมีโอกาสที่จะเข้าไปหรืออยู่ไปในกรรมาธิการที่ผลักดันเรื่องนโยบาย เราก็รู้สึกว่าเรามีของ เราอยากจะปล่อยของมากเลย และเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีคนรู้จริงหรือรักมันเยอะ วันรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสอยากทำให้เต็มที่จริง ๆ”

เมื่อเจ้าตัวกล่าวมาแบบนี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์เลยขอทดสอบ ด้วยการให้อธิบายสภาพปัญหาทางสิ่งแวดล้อมของเขตที่เธอลงสมัคร

“ปัจจุบันพื้นที่ของวันมี 3 เขต ราชเทวี พญาไท แล้วก็จตุจักร วันไม่รู้ว่าคนรู้หรือเปล่าว่าจตุจักรเป็นเขตที่มีปริมาณขยะต่อประชากรหรือต่อคนมากที่สุดในประเทศไทย น่าสนใจมาก อาจจะเป็นเพราะว่าจตุจักรเองมีสวนสาธารณะเยอะ มีสถานีขนส่งเยอะ รวมถึงมีห้างสรรพสินค้าเยอะ พอรวมๆกันแล้วปริมาณขยะเลยเยอะมากๆ อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้ว ที่ใดมีขยะเยอะก็จะเป็นเรื่องเชื้อโรค เรื่องหนู ลูกน้ำยุงลาย ส่วนพญาไทเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเมืองมาก คนก็อยากจะมาสร้างคอนโดฯตรงนี้ ก็จะมีปัญหาว่าปริมาณคนที่มาอยู่อาศัยเยอะขึ้น ปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้น ปัญหารถติด ปริมาณการใช้ทรัพยากรมากขึ้นปัญหาขยะก็ตามมา แล้วก็ลองจินตนาการตึกสูง ๆ ทุกคนอาบน้ำเยอะ ๆ หรือล้างมือ น้ำที่ลงมาจะเยอะมาก ถ้าบวกกับฝนตกก็จะเกิดปัญหาน้ำระบายไม่ทัน เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ส่วนราชเทวีเองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาพื้นฐานเรื่องลูกน้ำยุงลาย มีคนที่เป็นประชากรแฝงจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานอาจจะมีโรคเท้าช้าง รวม ๆ แล้วปัญหาก็จะประมาณนี้”

ภาพโดย จิรธัช สิงหะ

เมื่อถามว่าหากได้เป็นกกต.รับรองรายชื่อส.ส.แล้ว นโยบายเร่งด่วนที่อยากทำคืออะไร เธอตอบทันทีว่าเรื่องขยะ

“วันสนใจเรื่องขยะมา 20 ปีแล้ว เรื่องรีไซเคิลนี่ก็มีคนพูดมาก แต่ก็เห็นตอนนี้มีภาคเอกชนเรื่มตื่นตัวแล้วแต่ว่ามันไม่มากพอ ถ้าภาครัฐบาลหรือว่าคนที่มีอำนาจในการบริหารจัดการมีนโยบายบังคับใช้อย่างจริงจังหรือมีแรงจูงใจให้คนทำสิ่งนี้ วันก็ว่าน่าจะได้ผลดีกับทั้งสังคม แล้วก็ตัวเราด้วย”

“ทุกวันนี้ปริมาณขยะเยอะมาก แล้วเราหา landfill หรือที่ฝังกลบยากขึ้นทุกวัน แล้วที่ดินเราก็จำกัด ไปฝังกลบที่ไหนคนที่บ้านอยู่ตรงนั้นเขาก็ไม่อยาก สิ่งที่เราต้องช่วยกันก็คือเราต้องพยายามลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุด อะไรที่ควรจะรีไซเคิลได้ก็ควรจะรีไซเคิล อะไรที่เอามา reuse หรือเอากลับมาใช้ใหม่ก็ควรจะทำ”

“วันมีโครงการที่อยากนำเสนอพรรคหรือถ้าเราได้เข้าไปในสภา วันอยากทำเรื่องตู้รีไซเคิล ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่ต่างประเทศก็มีอยู่แล้วหรือในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ ที่วันก็เห็นว่าเขาก็ทำ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้ผลักดันอย่างจริงจังหรือแพร่หลาย

“สมมติให้ลองจินตนาการว่ามันมีตู้ตู้หนึ่งตั้งไว้ที่หน้าร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ต จะไปซื้อของในนั้น เราก็ถือขวดพลาสติก ขวดแก้วหรือว่ากระป๋องอะลูมิเนียม แล้วเราก็ใส่ในตู้ เสร็จแล้วของพวกนี้จะมีบาร์โค้ดให้เครื่องอ่าน เราก็จะได้สลิปออกมาซึ่งเป็นเงินที่เราสามารถเอาไปใช้ในร้านสะดวกซื้อหรือว่าใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ วันมั่นใจว่าสิ่งนี้คนจะรู้สึกสนุกกับการนำขยะมาใช้หรือว่ามันจะมีคนที่พยายามเก็บของพวกนี้เพื่อมาใส่ตู้ อันนี้มันอาจจะช่วยลดปริมาณขยะแน่นอน เหมือนเริ่มสร้างจิตสำนึกให้คนรู้สึกตระหนักว่า อีกหน่อยมันก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น”

“คนไม่รีไซเคิลเพราะบอกตัวเองว่าฉันทำแล้วฉันได้อะไร วันอยากจะบอกว่าคำถามถามไม่หมด คุณอาจจะไม่ได้อะไรแต่ต้องต้องถามว่ามีใครเสียอะไรหรือเปล่า แน่นอนว่าภาครัฐเสียเวลา เสียงบประมาณ เสียบุคคลากรที่จะต้องมานั่งแยกขยะหรือหาที่กำจัดขยะพวกนี้ หรือยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง อยากให้เราจินตนาการอีกนิดนึงว่าบางบ้านที่เป็นโรคเบาหวานแล้วต้องใช้เข็มฉีดยา แล้วเข็มฉีดยาพวกนี้ถ้าไม่ได้ทิ้งถูกวิธีหรือแยกขยะให้เรียบร้อย ถ้าคนที่มาเก็บขยะบังเอิญเอามือรวบถุง เข็มพวกนี้ก็จะปักเขา นอกจากจะเจ็บยังอาจมีเชื้อโรค อยากให้นึกถึงคนอื่นด้วย หรือแม้แต่ขยะอิเล็กทรอนิกทั้งหลาย ถ่านต่าง ๆ คนก็อาจไม่รู้ว่าทำไมต้องแยก แต่จริง ๆ แล้วพวกนี้ถ้าเอามาฝังกลบรวมกันมันจะมีสารเคมีไหลออกมาแล้วไปปนเปื้อนในน้ำ สุดท้ายตัวเราเองต้องดื่มต้องกินเข้าไป”

นอกจากเรื่องขยะแล้ว เธอยังบอกว่าพรรคพลังประชารัฐก็มีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นนโยบายการลดฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ

“อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ที่วันอยากรณรงค์ก็คือนโยบายที่พลังประชารัฐบอกไว้ว่าในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นระยะยาว โดยเฉพาะในกรุงเทพที่ปัญหาPM2.5มาจากปริมาณรถยนต์ในท้องถนนที่มันมากเกินไป เพราะฉะนั้นต้องแก้ที่ต้นตอ พลังประชารัฐจึงต้อการสร้างแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนจากรถปกติที่มันปล่อยควันพิษมาเป็นรถพลังงานสะอาดหรือพลังงานไฟฟ้า เราอาจจะมีเงินให้เขาก้อนหนึ่ง แล้วมาดูเรื่องข้อกฎหมายของภาษีหรือการนำเข้า รมถึงเราควรจะส่งเสริมให้ผลิตในประเทศได้เพื่อต้นทุนจะได้ต่ำและคนเอื้อมถึงได้”

เมื่อพูดเรื่องฝุ่นขึ้นมาแล้ว เราจึงถามเธอต่อทันที ว่าในฐานะนักสิ่งแวดล้อมแล้วคิดเห็นอย่างไรต่อทางออกปัญหาฝุ่นควัน

“อย่างแรกเราต้องให้ความรู้คนก่อน ในกรุงเทพเราอาจจะไม่ได้มีการเผาป่าเยอะคนก็จะคิดว่าการเผาไหม้นี่ไม่ได้มี แต่จริง ๆ คนรู้หรือเปล่าว่าปิ้งย่างทั้งหลาย หรือที่เราปิ้งไก่ปิ้งอะไรอยู่ริมถนน จริง ๆ นั่นคือมลพิษของ PM2.5” เราถามย้ำว่า แปลว่าที่รัฐสั่งห้ามปิ้งย่างนั่นคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้วหรือ “คือวันไม่ได้บอกให้ยกเลิกปิ้งย่าง แต่เราอาจจะต้องหาวิธีที่จะดูดควันหรือมีเทคโนโลยีอะไรในการปิ้งย่างไม่ให้ปล่อยควันแบบนี้ อันนี้เดี่ยวต้องมาคิดกันระยะยาว”

“ส่วนเชียงใหม่ปัญหาหลักมาจากการเผาป่า วันเข้าใจว่าชาวบ้านอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว แล้วก็ประหยัด แต่ว่ารัฐบาลอาจจะต้องเข้ามาช่วยว่ามันมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้เขาสามารถกำจัดวัชพืชพวกนี้ได้เร็วแล้วก็ไม่ต้องเผา มียาฆ่าหญ้าที่ไม่มีสารเคมีเยอะแยะ นี่ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่เราต้องคุยกันอย่างจริงจัง”

“ปัญหาพวกนี้แก้ได้ แต่ต้องใจเย็น ๆ ต้องใช้เวลา บางทีคนเราก็จะถามว่าทำไมไม่ทำให้มันเสร็จเลย แต่พฤติกรรมของคนเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ในทันที แต่ถ้าทุกคนอดทนและค่อย ๆ พัฒนากันไปวันนึงก็จะทำได้”

“มาตรการก็จะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นก็อาจจะทำอะไรที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพียงแต่คงไม่ยั่งยืน เช่น เราอาจจะแจกหน้ากากให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ตามโรงเรียนเด็กอนุบาล ตามสถานที่รอรถประจำทางก่อน หรือเราอาจจะต้องมีจิตสำนึกว่าคนที่อยู่บนรถ ถ้ายังไม่ขับก็อาจจะดับเครื่อง” เธอยังบอกเราด้วยว่าจริง ๆ แล้วอยากเคาะกระจกรถเลย แต่ก็รู้สึกว่าถ้าทำเป็นภาพใหญ่เป็นโครงการรณรงค์ให้เป็นจิตสำนึกร่วมของสังคมน่าจะได้ผลมากกว่า

ภาพโดย จิรธัช สิงหะ

ที่ผ่านมาเราจะพบปรากฎการณ์ที่นโยบายเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับปัญหาปากท้อง ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือการลุกฮือของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการเก็บภาษีน้ำมัน อีกทั้งบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะมีประเด็นฝุ่น PM2.5 มาแทรก แต่ทิศทางนโยบายก็พุ่งตรงไปยังเรื่องเศรษฐกิจ มองอย่างนี้แล้วเราจึงถามเธอไปว่าทำไมถึงเลือกวางตัวเองในบทบาทผู้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ตัววันเองเชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนมาก คนเราเศรษฐกิจดีแค่ไหนแต่ถ้าเกิดว่าสิ่งแวดล้อมเราไม่ดี เราไม่มีความสุข นึกถึงตอนที่ฝุ่นหนักมาก ๆ ไม่มีใครออกจากบ้าน ทุกคนป่วย เศรษฐกิจดีแค่ไหน มีเงินในกระเป๋าเยอะแค่ไหน แล้วเราป่วย มันก็ไปไม่ได้”

“ประเทศชาติจะพัฒนาไปได้ต้องควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างเรื่องนักท่องเที่ยว เขารักการมาประเทศไทยเพราะประเทศไทยน่าอยู่น่าเที่ยว อาหารดี แต่ลองนึกว่าถ้ามาแล้วฝุ่นมันแย่มาก  หายใจไม่ได้เลย การท่องเที่ยวก็จะกระทบใช่ไหมคะ เงินที่ได้มาก็จะหายไป วันเลยคิดว่าสิ่งนี้ต้องพัฒนาไปด้วยกัน”

หลังจากฟังนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของเธอมา เราเชื่อว่าเป็นทิศทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่มีใครแก้ได้เนื่องจากติดขัดกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องการกระทบสิทธิส่วนบุคคนของประชาชนทำให้การบัคับใช้นโยบายเป็นไปได้ยาก ตลอดจนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน พรรคพลังประชารัฐที่เธออยู่เองก็มีผู้สมัครเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย รวมแล้วทั้งพรรคมีทุนจดทะเบียนธุรกิจถึง 218,592.09 ล้านบาท (จากการรวบรวมของเว็บไซต์ Elect.in.th ) คำถามสุดท้ายเราจึงถามเธอว่า เธอคิดว่าพรรคพร้อมจะทำตามวาระของเธอหรือไม่ ซึ่งเธอก็ตอบทันทีว่าเธอมั่นใจว่าพรรคพังประชารัฐพร้อมทำสิ่งที่ดีแก่ประเทศ

“จริงๆเราก็มองว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย เราเข้ามาในฐานะที่เราไม่อยากเป็นนักการเมือง เราอยากทำงานการเมือง อยากช่วย แล้วสิ่งที่เราเสนอ นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่วันคิดมา พรรคก็รับเอาไปทำแล้วเอาไปเป็นนโยบายในการหาเสียง แค่นี้วันก็ว่ามันภูมิใจมาก ๆ แล้ว แล้ววันก็เลยมั่นใจว่าพรรคใจกว้างเปิดรับความคิด เพราะฉะนั้นสิ่งไหนที่น่าจะดีกับประเทศ วันก็คิดว่าถ้าเรามีโอกาสที่ไปอยู่ในสภา หรือว่ามีวาระ วันก็คิดว่าพรรคก็น่าจะช่วย ในการผลักดันนโยบายที่วันอยากทำเพื่อสังคมในเรื่องของสิ่งแวดล้อม วันก็คิดว่าเราน่าจะมีโอกาสได้ทำสิ่งนั้นจริง ๆ”

เป็นที่คาดการณ์กันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศรับรองรายชื่อส.ส.ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม หากไม่มีอะไรผิดพลาด ภาดาท์ก็จะเป็นหนึ่งใน 500 คนที่เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า