SHARE

คัดลอกแล้ว

การตัดสินใจยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงในสภาถึง 377 จาก 500 เสียง (ต่อมาลดลงเหลือ 375 เพราะถูกใบเหลือง) น่าจะไม่อยู่ในความคิดของใคร แต่กระแสต่อต้านที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะการขายหุ้นชิน คอร์ป ให้เทมาเส็ก ก็ทำให้ ทักษิณ ต้องตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มี อยู่ 4 คนในตอนนั้น คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ  กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน 2549

ภาพจาก wikipedia.org

เชื่อกันว่า ทักษิณ ประเมินว่าหากผ่านการเลือกตั้งปัญหาเสียงต่อต้านจะลดลง แต่เขากลับเจอปัญหาที่ใหญ่กว่า เมื่อพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน บอยคอตไม่ลงเลือกตั้งด้วย

กติกาการเลือกตั้งในตอนนั้น กำหนดว่า ถ้าหากมีพรรคการเมืองลงสมัครในเขตนั้นเพียงพรรคเดียว ผู้ได้รับเลือกตั้งจะต้องได้รับเสียงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเท่ากับต้องลงสนามสู้กับ “โหวตโน” นั่นเอง

ถาวร เสนเนียม ในวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ภาพจาก 99 วันอันตราย ทำไม กกต.ติดคุก)

ในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 นอกเหนือจากพรรคไทยรักไทย มีพรรคเล็กมาลงสมัครด้วยแต่ไม่ครบทุกเขต ทำให้เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา มีหลายเขตที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ฝ่าเกณฑ์ร้อยละ 20 ไปไม่ได้และต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งความพยายามแก้ปมของ กกต.ให้เลือกตั้งได้และมี ส.ส.ครบจะถูกนายถาวร เสนเนียม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องดำเนินคดีในข้อหาพยายามช่วยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยและทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต.ในที่สุด (อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้ถึงชั้นฎีกาจะมีการยกฟ้องในภายหลัง ดู เนื้อหาในตอนที่ 1 ประกอบ)

แต่อีกคดีที่มีการไปยื่นฟ้องศาลอาญาในช่วงเดียวกัน โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกหนึ่งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ คือ คดีที่ กกต.ถูกกล่าวหาว่า ถ่วงเวลาในการดำเนินคดีและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย คดีนี้จะสู้กันจนถึงฎีกาเช่นกัน แต่ลงท้ายด้วยการที่ กกต. ต้องติดคุกจริง

(ภาพจาก หนังสือ คำแถลงการณ์ปิดคดีพรรคประชาธิปัตย์)

สุเทพ เล่าเรื่องนี้ ไว้ในหนังสือ “The Power of Change” ที่ตีพิมพ์ในระหว่างการชุมนุม กปปส.ว่า เขาพบข้อมูลว่า พรรคไทยรักไทย ได้ร่วมกันทุจริตกับเจ้าหน้าที่ กกต. เพื่อแก้ปัญหาในเขตที่ไม่มีผู้สมัครพรรคอื่นลงแข่ง ด้วยการว่าจ้างพรรคเล็กๆ หาคนลงสมัคร และมีการนำชื่อไปสลับกับสมาชิกพรรคที่มีอยู่ในฐานข้อมูลเดิมของ กกต.เพื่อให้มีหลักฐานเป็นสมาชิกพรรคเกิน 90 วันและลงสมัครประกบกับผู้สมัครไทยรักไทย ซึ่งจะทำให้ชนะกันเท่าไรก็จะได้เป็น ส.ส. ไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์ร้อยละ 20

สุเทพ อ้างว่า กระบวนการนี้มีการจ่ายเงินกันหลายล้านบาท แต่มีการเบี้ยวกัน ทำให้ผู้ถูกหักหลังตัดสินใจนำข้อมูลมาให้พรรคประชาธิปัตย์ โดย 2 คนที่มาให้ข้อมูล ยอมให้บันทึกเทปสิ่งที่พูดโดยระบุสถานที่รับเงินที่กระทรวงแห่งหนึ่ง มีหลักฐานการโอนเงิน และภาพวีดิโอห้องที่รับเงิน

ขณะที่ถาวร เสนเนียม เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “99 วันอันตราย ทำไม กกต.ติดคุก” ว่า พรรคเล็กถูกหลอก โดยผู้ที่มาหลอกสัญญาจะแก้ฐานข้อมูล กกต.ให้ เพื่อให้ลงสมัครได้ และจะให้เงินก้อนใหญ่เป็นการตอบแทน ตั้งแต่ 1 แสน – 3 ล้านบาท แต่ตอนหลังมีการอมเงินกันจนได้ไม่ครบ จึงเกิดการแฉกันเกิดขึ้น

พรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดร้องเรียนไปยัง กกต. และ กกต.ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้ โดยมี นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธาน ผลสอบออกมาพบว่ามีการกระทำผิดจริง แต่เมื่อส่งเรื่องกลับไปให้ กกต. มีการสั่งสอบเพิ่มเติมอีกในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย

สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงฟ้อง กกต.ชุด พ.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ เป็นจำเลย (ซึ่งภายหลังมีการถอนฟ้อง พล.อ.จารุภัทร หลังยอมลาออกจาก กกต.)

ศาลชั้นต้นตัดสินว่า กกต.ทั้ง 3 คนมีความผิดจริงให้จำคุกคนละ 3 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลยทั้ง 3 นำสืบ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 2 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี

ทั้ง 3 สู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จึงมีการยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า โจทก์ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้เสียหายหรือไม่ ซึ่งศาลพิจารณาว่า หาก กกต.ไม่จัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชน โจทก์จึงย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง (ขณะที่ในอีกคดีที่นายถาวร เสนเนียม ฟ้อง กกต. ศาลฎีกา จะยกฟ้องเพราะพิจารณาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง – ดูตอนที่ 1)

ปริญญา นาคฉัตรีย์ (แฟ้มภาพ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)

ทั้งนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายวีระชัย แนวบุญเนียร เสียชีวิต จึงเหลือจำเลย 2 คน คือ พล.ต.อ.วาสนา เและนายปริญญา

เหตุการณ์ที่อยู่ในผลสอบของอนุกรรมการของ กกต.และนำมาสู่คำพิพากษาศาล สรุปได้ ดังนี้

พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ (ภาพจาก คำแถลงการณ์ปิดคดีพรรคประชาธิปัตย์)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือร้องเรียน กกต.ว่ามีข้อมูลและพยานหลักฐานที่ พรรคไทยรักไทย จ้างวานพรรคพัฒนาชาติไทย ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยร่วมกันปลอมแปลงแก้ไขทะเบียนสมาชิกในฐานข้อมูล กกต. เพื่อส่งคนไม่มีคุณสมบัติครบลงสมัครได้ หลังรับเรื่อง พล.ต.อ.วาสนา ประธาน กกต. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องเรียน ผลสอบพบว่า พรรคพัฒนาชาติไทย กับพรรคแผ่นดินไทย ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย คือ
พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคม รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ให้ลงสมัคร และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงเอกสารราชการ โดยการแก้ไขฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

บุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย (ภาพจาก คำแถลงการณ์ปิดคดีพรรคประชาธิปัตย์)

กกต.ได้นำผลสอบเข้าสู่การพิจารณา เมื่อ 21 เมษายน 2549 และมีมติให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย กับหัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยกับพวก และแจ้งแก่อัยการสูงสุดเพื่อให้ยุบพรรคการเมือง แต่กรณีของพรรคไทยรักไทย ให้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงต่ออีก 10 วัน แล้วให้เสนอกลับมาอีกครั้ง

ซึ่งในประเด็นนี้เอง ที่คำพิพากษาระบุสรุปได้ว่า เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำโดยไม่สุจริต กกต.ควรแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วสืบสวนต่อไป แต่กลับดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ กกต.ที่แก้ไขฐานข้อมูลผู้สมัคร ให้ดำเนินคดีและแจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบ 2 พรรคการเมือง ส่วนพรรคไทยรักไทยให้มีการสอบเพิ่ม

“เป็นการวินิจฉัยที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เท่าเทียมกัน จำเลยกับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย”

แม้ต่อมาเมื่อผลสอบของผู้สอบสวนชุดใหม่ 5 คนออกมา กกต.จะมีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งสำนวนการสืบสวนไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา แต่ศาลพิจารณาว่า กกต.กลับอ้างอิงไปถึงผลสอบของอนุกรรมการชุดแรกที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน โดยไม่ได้อ้างจากผลสอบของกรรมการชุดใหม่ จึงเห็นว่า กกต.เชื่อตามผลสอบของคณะอนุกรรมการชุดแรก ตั้งแต่แรกแล้ว แต่กลับวินิจฉัยสั่งการให้สอบสวนเพิ่มเติมจนพ้นเดือนเมษายน 2549 โดยระหว่างนั้น ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 386 จาก 400 คน

“เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยกับพวกเร่งรีบประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหากประกาศผลการเลือกตั้งได้ครบจำนวนย่อมทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับคืนสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่ง”

การกระทำของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดโดยพลัน น่าเชื่อว่าทราบอยู่แล้วว่าจะมีผลต่อการที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทยได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่พรรคไทยรักไทย มิได้กระทำตามหน้าที่โดยสุจริต

ที่สุดแล้ว 3 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่ให้จำคุก กกต.ทั้ง 2 คนเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงโทษ ส่วนฎีกาที่จำเลยขอให้พิจารณารอการลงโทษจำคุก โดยระบุว่า เคยรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ทำคุณความดี ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมายระหว่างดำรงตำแหน่ง ศาลได้ยกฎีกาเช่นกัน โดยระบุตอนหนึ่งว่า

“จำเลยยอมละทิ้งคุณความดี คุณประโยชน์ของตนเองที่เคยมีมาก่อนจนหมดสิ้น จำเลยจึงไม่ควรยกคุณความดี คุณประโยชน์ที่เคยทำมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์แก่ตนได้อีก”

พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ระหว่างขึ้นศาลรัฐธรรมนุญเพื่อซักพยานคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในห้วงเวลาเดียวกับการยุบพรรคไทยรักไทย (ภาพจากคำแถลงปิดคดีพรรคประชาธิปัตย์)

หลังถูกจำคุกผ่านไป 1 ปีครึ่ง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสาร ผลการพิจารณาพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาด 283 ราย ในจำนวนนั้นมี  น.ช.วาสนา เพิ่มลาภ อายุ 76 ปี และ น.ช.ปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 76 ปี ที่ต้องโทษจำคุกมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน 13 วัน อยู่ด้วย โดยทั้งคู่พ้นจากเรือนจำแต่ต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขการคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติ ตามโทษจำคุกที่เหลือเป็นเวลา 5 เดือน 22 วัน ถือเป็นการให้โอกาสผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้ก่อนกำหนดต้องโทษ

นิตยสาร COP’S รายงานข่าวนี้ในเว็บไซต์ในวันถัดมาพร้อมคำพูดของ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ที่สัมภาษณ์กับนิตยสารไว้ก่อนหน้านั้นว่า เป็นกรรมอะไรที่ต้องโดนแบบนี้ หัวใจของ กกต.คือต้องอำนวยความสะดวกในเรื่องที่ถูกต้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายก็โดนจนได้ ทำงานเป็นตำรวจหลายหน่วยงานไม่เคยถูกร้องเรียน รับสินบนแม้แต่บาทเดียวก็ไม่เคย มาอยู่ กกต.ไม่นานโดนเลย เศร้าใจจริงๆ

ส่วนชะตากรรมของพรรคไทยรักไทย จะมีอันเป็นไปตั้งแต่ปี 2550 โดยถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารมีกำหนด 5 ปี จากข้อกล่าวหาการจ้างวานพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549

ที่ต้องบันทึกไว้ด้วยคือ ผู้ที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องในการจ้างวานพรรคเล็กล้วนยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง และสมาชิกพรรคไทยรักไทยในตอนนั้น ก็มั่นใจว่าจะอย่างไรพรรคก็จะไม่ถูกยุบ เพราะการกระทำใดๆ ที่หากจะเกิดขึ้นถือเป็นเรื่องของบุคคลจะถือเป็นเรื่องของพรรคไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นมติพรรค แต่สุดท้ายพรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบ

ปิดฉากพรรคการเมืองที่เคยบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เป็นรัฐบาลที่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นและเคยเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวมาแล้ว โดยมีอายุแค่ 8 ปีเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อ่านเรื่อง ย้อนตำนานการเมืองในอดีตเรื่องอื่นๆ 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า