SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายคนไม่รู้ตัวว่า ตอนที่ดูหนังแล้วร้องไห้ นอกจากจะอินกับบทแล้ว “เสียงดนตรี” ที่คลออยู่ คือตัวประกอบสำคัญที่กระตุ้นอารมณ์เรา และ “ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” คือนักประพันธ์ดนตรีประกอบ ที่เสียงดนตรีของเขาน่าจะเคยทำให้คุณร้องไห้หรือหัวเราะมาแล้ว

เสียงดนตรีที่คลออยู่ ขณะที่คุณกำลังชมภาพยนตร์ ละคร หรือโฆษณา คือสิ่งที่ขับกล่อมนำทางอารมณ์คุณให้คล้อยตาม นอกจากจะช่วยดึงบรรยากาศ ทำให้การแสดงดูมีมิติขึ้นแล้ว บางครั้งยังหลอกเราได้อีกด้วย กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็เหมือนถูกทิ้งอยู่ในเขาวงกตเข้าให้แล้ว และผู้ที่เปรียบเสมือนนักนำทาง ที่พาอารมณ์เราให้ออกเดินทางไปตามเสียงดนตรีก็คือ “ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ” (Composer) หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “นักเรียบเรียงดนตรี” นั่นเอง

โดยในวันนี้ “ทีมข่าวเวิร์คพอยท์” จะพาไปคุยกับ “พี่ต๋อย” เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน นักประพันธ์ดนตรีประกอบอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่มีฝีไม้ลายมือระดับสากล ซึ่งคนในวงการเดียวกันให้การยอมรับว่าเป็นยอดฝีมือชั้นเซียน เขาผ่านประสบการณ์การทำงานที่โชกโชน ฝากผลงานไว้นับไม่ถ้วน เชื่อว่าหากเอ่ยชื่อภาพยนตร์, ละคร, โฆษณา หรือแม้แต่เพลงของศิลปินขึ้นมา ต้องมีหลายชื่อที่คุณรู้จัก

“พี่ต๋อย” คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Secret: รักเรา กัลปาวสาน” ซึ่งเป็นการร่วมงานกับ “เจย์ โชว์” ซุปตาร์ชาวไต้หวัน ที่เลือกพี่ต๋อยมาร่วมงานด้วยตัวเอง และงานนี้ยังได้เข้าชิงรางวัลม้าทองคำของไต้หวันอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโฆษณาชุดไทยประกันชีวิตทั้งหลาย ที่เรียกน้ำตาคนดูทั่วบ้านทั่วเมือง, ดนตรีประกอบละครเรื่องเลือดข้นคนจางอันลือลั่น ที่พี่ต๋อยได้นำดนตรีออเคสตรามาใส่ ซึ่งนับเป็นการเปิดมิติใหม่ให้วงการละครไทย รวมทั้งยังเรียบเรียงเพลงให้ศิลปินทั้งเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่มากมาย ทำวงกล้วยไทย และทำเพลงให้ค่าย Banana Record ที่เขาเป็นคนก่อตั้ง พี่ต๋อยบอกว่าการทำเพลงเป็นสิ่งที่เขารัก และเหมือนได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยากทำอีกอย่าง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องรายได้เป็นหลัก หากแต่ “ทำเพราะอยากทำ” โดยเพลงที่เป็นที่รู้จักของค่ายเขาก็คือ “เจ็บจุงเบย” ของวงคาวบอย

พี่ต๋อยยังฝากผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ไว้อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เด็กหอ, 4-5 แพร่ง, ขุนพันธ์1-2, ยอดมนุษย์เงินเดือน ฯลฯ และล่าสุดคือภาพยนตร์เรื่อง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” ซึ่งพี่ต๋อยได้ถ่ายทอดประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ…

“จินตนาการ” และ “ประสบการณ์” คือที่มาของเสียงดนตรี

“ดนตรีประกอบที่ทำออกมา มาจากจินตนาการแล้วก็ประสบการณ์ที่เราได้ดูหนัง แน่นอนว่าหนังพวกนี้ (รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน) ได้อิทธิพลมาจากหนังเกาหลีเยอะ บังเอิญแฟนเป็นคนดูหนังเกาหลีเยอะมาก บางทีก็ชวนเรานั่งดูด้วย งานที่ออกมาก็เหมือนได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ด้วย ซึ่งตอนแรกมองคนละทางกันเลยกับผู้กำกับ สิ่งที่วาดไว้ในหัวไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเล่าเลย นึกว่าหนังคล้ายๆ ฉลาดเกมโกง ต่อสู้แล้วก็ลุ้นกันไปตลอด พอหนังออกมาดราฟต์แรกที่ดู อ้าว ไม่ใช่แบบที่คิดเลย เป็นหนังโรแมนติกคอเมดี แทบไม่มีสู้อะไรกันเลย ถ้าสู้ก็สู้กันแบบน่ารักมากกว่า แต่พอมันเป็นภาพออกมา เราก็เห็นด้วยกันแล้ว ก็ไม่ต้องเดาทางแล้ว”

“ขั้นตอนแรกก็รับฟังว่าผู้กำกับต้องการอะไร อย่างหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของชีวิตผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้หญิงมีพื้นเพชอบเกี่ยวกับแรป ส่วนผู้ชายเด็กเนิร์ด เก่งด้านคำนวณ ก็ต้องเล่าพื้นเพพวกนี้ออกมา เหมือนจินตนาการว่าจะใส่คาแร็กเตอร์นางเอก พระเอกยังไงดี ก็แน่นอนว่านางเอกต้องมีความเป็นบีทฮิปฮอป มีความเป็นซาวนด์ฮิปฮอปหน่อยๆ”

สำเนียงในเมโลดี้ แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

เนื่องจากพี่ต๋อยเคยร่วมงานกับ “เจย์ โชว์’” เราจึงอยากรู้ว่า การทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ในโซนเอเชียมีความเหมือนหรือแตกต่างกันบ้างไหม ซึ่งพี่ต๋อยก็ช่วยไขคำตอบว่า…

“ไม่เหมือน มันก็เหมือนเราพูดแหละ มันจะมีสำเนียงอยู่ในเมโลดี้ ตัวเพลงเองก็มีสำเนียงเป็นของตัวเอง อย่างพอเราฟังปุ๊บทำไมเพลงนี้มันฟังเป็นซีรีส์เกาหลีจังเลย ทำไมฟังเพลงนี้ดูเป็นจีนๆ แต่ไทยเองไม่ค่อยมีเป็นของตัวเองนะ ถ้ามีก็เป็นไทยจ๋าไปเลย สำเนียงไทยจริงๆ ไม่ค่อยมีเป็นของตัวเอง พี่ก็พยายามหาอยู่ แต่ก็หาไม่เจอ ไทยเราจะเอาจีนมานิดนึง เกาหลีมานิดนึง ญี่ปุ่นมานิดนึง ฝรั่งมาอีกนิดนึง มาผสมผสาน เนี่ยไทย นอกจากว่าเป็นหนังไทยจริง ๆ อย่าง นเรศวร เราก็ใช้โน้ต ใช้เครื่องดนตรีบางอย่างที่ไทยจริงๆ ใช้ได้แทบจะเต็มร้อย แต่ถ้าเป็นหนังวัยรุ่นมันก็ต้องเอาความผสมผสานของทุกๆ อย่างมา”

“อย่างเรื่อง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” ซึ่งไทยร่วมลงทุนกับเกาหลี มันก็มีกลิ่นอายซาวนด์เกาหลี มีอิทธิพลมานิดๆ แต่ก็ไม่ทั้งหมด แต่มันก็เป็นความตั้งใจด้วย มันจะไม่เกาหลีซะทีเดียว จะมีความกวนๆ แบบไทยๆ ผสมกัน บอกไม่ได้ชัดเจน จะว่าเกาหลีจ๋าก็ไม่เกาหลี จะว่าไทยจ๋าก็ไม่ไทยจ๋า”

 

กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ดนตรีประกอบมีความแตกต่าง

“ดนตรีมันมีความเป็นแฟชั่น อย่างการร่วมงานกับโจ้ (โจ้ วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้กำกับภาพยนตร์รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งแรกทำด้วยกันตอนที่โจ้กำกับเรื่อง ยอดมนุษย์เงินเดือน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว อย่างสมัยนี้ใครจะไปนึกว่าเพลงประกอบฉากเศร้าจะเอาบีทฮิปฮอปมาใช้แบบ ตึกโป๊ะ ตึกตึกตึกโป๊ะ ถ้าเป็นสมัยก่อนคนดูคงตกใจ ขัดหู ประหลาด พอมาสมัยนี้มันใช้ได้นะ มันอยู่ได้ด้วยแฟชั่นของมัน มันเลยมีความแตกต่าง แต่ใส่ทั้งหมดเลยก็ไม่ได้ อันนี้หนักไป มันเลยมีบางจังหวะ ฉากไหนที่เศร้าจริงๆ ก็ยังคงเสียงเปียโน เสียงสตริง เป็นปกติ”

“ดนตรีประกอบ” มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นอารมณ์คนดู ?

“อันนี้เยอะมาก เยอะชนิดที่บางคนไม่รู้เลยว่ากำลังโดนพี่พาไปในจุดที่แบบไหน เอาเข้าจริงพาไปไหนก็ได้ พี่จะหลอกคนดูไปอีกทางก่อนก็ได้ หลอกให้ว่าไอ้คนนี้น่าสงสัย แค่เอาเพลงน่าสงสัยไปแปะกับหน้าเขาเนี่ย บางทีเขาพูดไดอะล็อกเดียวกัน แต่เพลงที่ไปอยู่กับหน้าเขาแตกต่างกัน อารมณ์ก็จะต่างกันทันทีเลย พี่หลอกไปได้หมดเลย เพราะงั้นนำทางไปได้หมด มันเลยมีส่วนสำคัญมากโดยที่คนดูอาจจะไม่รู้ว่า ทำไมเราถึงสงสัยไอ้คนนี้วะ จริงๆ มันมีเพลงปูอยู่ตลอด”

 

รู้ได้อย่างไรว่า ทำดนตรีออกมาแบบนี้แล้วเรียกน้ำตาคนดูได้แน่ๆ

“มันเหมือนวัดจากตัวเองมากกว่า วัดจากประสบการณ์ตัวเอง แล้วก็คิดเอาเอง เหมือนว่าถ้าจะปรุงอาหารให้เขา เราก็ปรุงเอาเองว่าอันนี้มันอร่อยแล้ว เหมาะสำหรับคนคนนี้ ไม่สามารถเจาะได้ว่าเบอร์ไหนมันจะทำงานได้ถึงขั้นนั้นจริงๆ ต้องใช้ประสบการณ์อย่างเดียวเลย อย่างฉากที่เศร้ามากๆ เครื่องดนตรีแต่ละประเภทมันก็เล่นได้ทุกอารมณ์ เล่นได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ส่วนใหญ่เสียงไวโอลินมันจะมีความบาดลงไปบางอย่าง แต่จริงๆ ไวโอลินอย่างเดียวมันก็เศร้ารันทดไปหน่อย ต้องพึ่งพาเครื่องดนตรีอย่างอื่นด้วย”

“เช่น เศร้าแบบโอ๊ยชีวิตนี้รันทด ก็ใช้ไวโอลินหลายๆ ตัวเล่นกับเปียโน เล่นกับเบส เล่นกับเชลโล่ เล่นกับเครื่องอื่นที่มันอุ้มกันไป เปียโนมา แต๊ง แต๊ง เศร้าๆ เศร้าเสร็จปุ๊บ พอตรงที่จะกระแทกอารมณ์ให้น้ำตาไหล เครื่องดนตรีอื่นๆ ทุกอย่างโหมกระหน่ำ คนดูก็จากที่น้ำตาจะไหลอยู่แล้ว เจอทุกอย่างมันโหมขึ้นไปด้วย น้ำตามาเลยทีนี้ ซึ่งมันอาจจะต้องบวกกับหลายอย่างด้วย บวกกับซีนนั้นด้วย บวกกับอารมณ์ตัวละครตรงนั้นด้วย ทุกอย่างต้องสอดคล้องประสานกันหมด ทำหน้าที่ด้วยกันหมด แม้กระทั่งภาพเองก็มีหน้าที่ด้านภาพ อย่างฉากเศร้า บางทีก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพหน้านางเอกก็ได้ อาจจะถ่ายไปที่แหวนที่พระเอกเคยให้นางเอกไว้ แต่ว่าตอนนี้ สมมติว่าแหวนหล่นลงไปที่พื้น จมลงไปในน้ำ อะไรก็ว่าไป แค่นี้ก็รู้สึก บางทีมันก็อยู่ในด้านภาพด้วย องค์ประกอบทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน”

เสียงดนตรีประกอบ ใช้เครื่องดนตรีจริง หรือคอมพิวเตอร์ ?

“ใช้คอมพิวเตอร์เกือบทุกอย่าง มีใช้เครื่องดนตรีจริงบ้างนิดหน่อย อย่างเชลโล่ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ Sampling หมดเลย ก็ต้องยอมรับว่า Sampling ปัจจุบันวิวัฒนาการไปจนแทบเหมือนจริง แทบจะไม่สามารถแยกได้แล้วว่าอันไหนมาจากเสียงดนตรีจริง หรือเสียงที่ทำจากคอมพิวเตอร์ ซึ่ง Sampling ถ้าจะเปรียบก็เหมือนการทำ CG (Computer generated / Computer Graphic) นี่แหละ อย่างฉากพระเอกนางเอกไปทะเล ก็แทบมองไม่ออกว่าฉากที่เห็นว่าเป็นทะเลนั้น ไปถ่ายที่ทะเลจริงๆ หรือเป็น CG อย่าง Sampling ก็เหมือนกัน สมมติเราบันทึกโน้ตดนตรีตัวนี้ไว้ ก็ให้คนเล่นโน้ตนั้นพร้อมกัน เสร็จแล้วเราก็มาเลือกว่าดนตรีเราจะประกอบไปด้วยโน้ตไหนบ้าง ซึ่งมันก็เอามาจากเสียงจริงนั่นแหละ มันเลยเหมือนจริงมาก”

 

ภาพยนตร์ไทยมักใช้เสียงออเคสตราเป็นดนตรีประกอบ ?

“ไม่ทุกเรื่อง เพราะงบอัดเสียงออเคสตราค่อนข้างสูงมาก โปรดักชั่นในบ้านเรายังไม่มีงบส่วนนี้มากพอขนาดที่จะทุ่มกับการทำตรงนี้ มันเลยไม่สามารถใช้ได้ทุกเรื่อง อุตสาหกรรมตรงนี้มันยังยากในบ้านเรา แล้วบ้านเราประสบการณ์ตรงนี้ยังไม่ค่อยมี แต่หลักสำคัญเลยคืองบมากกว่า พองบมันไม่มี ก็ยาก งบมีแค่รถจักรยาน แต่เราอยากได้รถยนต์ มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่อย่างเรื่องรัก 2 ปี โดยเฉพาะฉากซึ้งๆ จะเป็นออเคสตรา”

หากคนรุ่นหลังต้องการเดินตามรอย สิ่งสำคัญที่เขาควรมีคืออะไร

“อันดับแรกต้องชอบก่อน พอชอบแล้วก็จะอยากทำ พออยากทำก็ต้องลงมือทำเลย มันเหมือนเรากำลังจะต่อจิ๊กซอว์ใหญ่ๆ ในชีวิต อันแรกอาจจะเริ่มได้ อีกที่เหลือ โห มันอยู่ไหนวะ อ้าว เราก็ต้องมีกระบวนการ เริ่มจากเลือกสีที่เหมือนกันก่อนแล้วกัน เลือกสีที่มันเหมือนกันกองมารวมกันก่อน สีนี้ตรงนี้ๆ เพราะมันน่าจะต่อด้วยกันได้ เราก็จะเริ่มหาวิธีการมาแล้ว พอหาวิธีการ ก็ว่ากันไปตามสิ่งที่มันเข้ามา จริงๆ แล้วถ้าอยากทำก็ทำเลย ฝึกเยอะๆ มันคือทั้งหมด ทุกอย่างจะถูกหล่อหลอมไม่เหมือนกัน มันก็จะได้บุคคลไม่เหมือนกัน ถ้าเขามัวแต่ฟังเยอะ แต่ไม่ค่อยได้ทำเยอะ เขาก็จะไม่เก่ง เวลาทำก็จะ เอ๊ะ ไอ้นี่จะทำยังไง แต่ในหัวมีภาพเต็มไปหมด บางคนทำเก่งแต่ไม่เคยฟังเลย ก็จะไม่มี Reference ว่าจะไปทางไหนดี”

“แต่อย่างน้อยต้องมีความรู้ทางด้านดนตรีประมาณหนึ่ง ถ้ายิ่งมากยิ่งดี ถ้าเราศึกษามามันจะรู้เอง ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงาน ควบคู่ไปกับการฝึกได้ วันนี้เราอาจจะไม่รู้สิ่งนี้ พอถึงจุดจุดหนึ่ง สิ่งที่เคยไม่รู้วันนั้น เรามารู้เอาวันนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางที่เราเดินไป”

สิ่งที่ทำคือดนตรีประกอบ แต่ “พี่ต๋อย” คือตัวจริงของวงการ

ตลอดเวลาที่ได้นั่งคุยกัน เราจะได้ยินคำว่า “พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าทำแล้วสนุก ทำแล้วมีความสุข ยิ่งยากยิ่งสนุก ยิ่งอยากค้นคว้าหาทางทำมันให้ได้” บ่อยมาก เราเชื่อว่าคุณเองก็จะได้รับแรงบันดาลใจ และมีพลังในการทำสิ่งที่ชอบให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเช่นกัน และพี่ต๋อยยังทิ้งท้ายถึงภาพยนตร์เรื่อง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” ที่ร่วมทำไว้ด้วยว่า

“พูดในฐานะคนดู ไม่ใช่คนทำ เพราะพี่ได้ไปดูหนังเรื่องนี้มาแล้วในโรงภาพยนตร์ อยากบอกว่าเป็นเรื่องที่ทำให้มีความสุขมาก  สิ่งที่ได้กลับไปคือความสุขแน่ๆ ในความสุขนั้นมันได้มุมมองความรักที่หลากหลายมาก คนที่อาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อในรักแท้ น่าจะได้คำตอบ มันอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด แต่ว่ามันน่าจะได้ประสบการณ์ไปอย่างหนึ่งที่ว่า เออ ความรักมันมีความหมาย จริงๆ ความหมายมันกว้างมาก มันมีหลายความหมายมาก แต่น่าจะได้ไปหนึ่งความหมายให้กับชีวิต น่าจะนำไปใช้หรือไปดำเนินชีวิต คือน่าจะไปเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ดี แต่ที่สำคัญเลยที่สุดคือได้ความสุขแน่ๆ”

เรื่อง: บรรเจิดลักษณ์ คำเจริญ, รัตติยา นาเมืองรักษ์

ภาพ: นลิน อรุโรทยานนท์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า