“บีทีเอส” ชี้แจงผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน กระทบเดินรถ บทลงโทษจะพิจารณาตามขึ้นผลกระทบที่มีต่อการเดินรถ ขอความร่วมมือผู้โดยสารกดปุ่มกระดิ่งที่อยู่บริเวณเดียวกับคันโยกฉุกเฉินหากต้องการความช่วยเหลือ
วันที่ 3 ก.ค. 2562 จากกรณีเหตุการณ์ผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER – Passenger Emergency Release หรือ พีอีอาร์) เพราะต้องการให้ขบวนรถไฟฟ้าหยุดรอเพื่อนของเธอ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องรีเซ็ตระบบขบวนรถไฟฟ้าใหม่ และเป็นเหตุทำให้เกิดความล่าช้ากระทบผู้โดยสารคนอื่นๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุดนายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการบีทีเอส เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่ดึงคันโยกฉุกเฉินจะกระทบต่อการเดินรถ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมรถจะต้องใช้เวลาในการรีเซ็ตขบวนรถทุกครั้ง ขบวนที่ตามหลังมาก็ต้องจอดคอยต่อๆ กันไปเพื่อรักษาระยะห่างให้ปลอดภัย จึงเกิดความล่าช้าสะสมและกระทบผู้โดยสารคนอื่นๆ จึงขอความร่วมมือผู้โดยสารไม่ดึงคันโยกฉุกเฉิน ส่วนบทลงโทษกรณีที่มีการดึงคันโยกฉุกเฉินจะพิจารณาตามขึ้นผลกระทบที่มีต่อการเดินรถ
สำหรับคันโยกฉุกเฉินมีไว้ใช้เปิดประตูขบวนรถ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในขณะที่รถจอดสนิท ติดตั้งบริเวณด้านข้างประตูทุกประตูและทุกขบวนรถ พร้อมติดสติ้กเกอร์ที่มีคำแนะนำการใช้งานคาดไว้ทุกชิ้นโดยการใช้งานคันโยกฉุกเฉิน เช่น ขบวนรถไฟฟ้าจอดสนิทที่สถานีแต่พบผู้โดยสารขาตกในช่องว่างระหว่างชานชาลา ก็สามารถดึงคันโยกฉุกเฉินเพื่อไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้ ขณะที่การดึงคันโยกฉุกเฉินส่วนใหญ่พบว่ามาจากกรณีที่มีคนเป็นลมในขบวนรถ และมีผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉินซึ่งหากพบว่ามีผู้เป็นลม หรือป่วย หรือต้องการความช่วยเหลือขณะที่อยู่ในขบวนรถ สามารถกดปุ่มกระดิ่งที่อยู่บริเวณเดียวกับคันโยกฉุกเฉินซึ่งมีอยู่ทุกตู้โดยสาร หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที