SHARE

คัดลอกแล้ว

การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้เกิดยุคทองของการโต้เถียงอย่างมีเสรีภาพ แต่หลายเหตุการณ์ก็ทำให้เราหวั่นเกรงกับเสรีภาพอันไร้ขอบเขต

ปัญหาการให้ความสำคัญเรื่อง เสรีภาพในการแสดงออก (free speech) หรือ ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (hate speech) เป็นปัญหาที่กำลังสั่นคลอนโลกและยังหาทางออกไม่ได้

ขณะที่การยุยงเสริมสร้างความเกลียดชังระบาดไปทั่วโลกออนไลน์และส่งผลต่อการก่ออาชญากรรมในโลกจริง ๆ ที่เราอยู่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ไม่ให้ใครใช้ข้ออ้างข้างต้นมาควบคุมจนพูดอะไรก็ไม่ได้

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์สำรวจกรณีศึกษาในการพยายามหาจุดสมดุลระหว่างเสรีภาพและการควบคุม Hate Speech จากทั่วโลกมาให้ดูกัน

ในสหรัฐอเมริกา เสรีภาพในการพูด และ ถ้อยคำแสดงวามเกลียดชังไม่แตกต่างกัน

ชาวอเมริกาภาคภูมิใจกับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1791 มาก เพราะเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการออกกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพทางการแสดงออก และเสรีภาพสื่อ และที่ผ่านมาแม้จะมีกรณีดูหมิ่นชาติพันธุ์ เพศ หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ฝ่ายตุลาการของสหรัฐอเมริกามักไม่เอาผิด เนื่องจากให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูดมาก่อนเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 1969 ศาลสูงสุดตัดสินให้สมาชิกกลุ่ม Ku Klux Klan ซึ่งเป็นองค์กรเหยียดสีผิวให้สามารถเสริมสร้างความเกลียดชังได้เพราะเป็นเสรีภาพทางการแสดงออก หรือเร็วกว่านั้น เมื่อปี 2011 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้มีการจัดการเดินขบวนต่อต้านความหลากหลายทางเพศได้ ทั้งที่มีข้อความมากมายส่อไปทางประทุษร้ายต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

การแสดงออกทางความผิดจะเป็นความผิดได้ต่อเมื่อการแสดงออกนั้นเล็งเห็นผลได้ว่าจะก่อให้เกิดการทำผิดกฎหมาย (imminent illegal conduct) แต่หากเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองจะมีข้อต้องพิจารณาอีกว่าเป็นการหมายความตามตัวอักษรหรือเป็นการพูดเกินจริงเพื่อเพิ่มอารมณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ดี น้อยครั้งมากที่ศาลจะพิจารณาว่าคำพูดนั้นเล็งเห็นผลได้จริง เช่น เมื่อต้นปีสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า คีอาห์ มอร์ริส สมาชิกสภานิติบัญญัติของมลรัฐเวอร์มอนซึ่งเป็นหญิงผิวดำถูกคุกคามเพราะเรื่องสีผิวและเพศมาตลอด แต่ศาลกลับไม่ตัดสินว่าผู้คุกคามมีความผิดเนื่องจากผลการสอบสวนของอัยการบอกว่าไม่พบเจตนาในการทำร้ายจริง

มีเรื่องน่าสนใจอยู่ว่า แม้ปัจจุบันกระแสโลกมีแนวโน้มว่าต้องการจะต้องการควบคุมข้อความที่สร้างความเกลียดชัง และมีผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้มาก แต่คนอเมริกันกว่าครึ่งไม่ไว้วางใจให้มีกฎหมายนี้ เนื่องจากกังขาว่าใครจะมาเป็นผู้นิยามความหมายของคำว่า “สร้างความเกลียดชัง” และไม่มั่นใจว่ารัฐจะนิยามคำนี้ได้ดีพอโดยที่ไม่ริดรอนเสรีภาพของประชาชน

ในเยอรมัน เสรีภาพในการพูดและถ้อยทำแสดงความเกลียดชังแตกต่างกัน

วัฒนธรรมเยอรมนีให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกมากทั้งในข้อกฎหมายในและทางปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญมีการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และมีตำรวจอำนวยความสะดวกให้การประท้วงทุกรูปแบบ

แต่ขณะเดียวกันเยอรมันก็บอบช้ำจากการสร้างความเกลียดชังในสมัยโลกครั้งที่ 2 ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีคนตายหลักล้านคน หลังจากนั้นจึงเอาจริงเอาจังกับการป้องกันการสร้างความเกลียดชังมาก หากมีการสร้างความเกลียดชังต่อคนกลุ่มน้อย หรือปฏิเสธว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่มีจริงก็อาจทำให้ต้องโทษจำคุกได้

แต่หลังจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ประกอบกับวิกฤติผู้ลี้ภัยที่ถั่งโถมเข้ามาเยอรมนีทำให้เกิดการใช้วาทะรุนแรง (Hate Speech) สูงขึ้นมาก ทำให้สภานิติบัญญัติเยอรมันตัดสินใจผ่านกฎหมายควบคุมอินเตอร์เน็ต (the Network Enforcement Act : NetzDG) ในกลางปี 2017 และบังคับใช้ในปี 2018

กฎหมายนี้ระบุว่ามีการกระทำ 22 อย่างที่ผิดกฎหมายชัดเจนและต้องควบคุมเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น ใช้สัญลักษณ์ขององค์กรที่ขัดรัฐธรรมนูญ (เช่น สวัสดิกะ) สร้างความเกลียดชังต่อ ชนชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือทำลายความเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ทำลายความสงบของสังคมโดยข่มขู่ว่าจะทำผิดกฎหมาย เช่น ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายหรือขู่ฆ่า หรือ ยุยงให้เกิดการทำผิดกฎหมาย เป็นต้น

หากมีการเผยแพร่เนื้อหาตามที่กฎหมายกำหนดนี้ บริษัทโซเชียลมีเดียที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต้องลบเนื้อหา มิเช่นนั้นจะถูกปรับเป็นค่าปรับมากกว่า 50 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี องค์กร Human Right Watch ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กฎหมายนี้สร้างข้อถกเถียงขึ้นมาว่าการผลักภาระนี้ไปให้เจ้าของโซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดการะแวดระวังจนเกินไป โซเชียลมีเดียมักเลือกลบข้อความเสี่ยงไว้ก่อน เพื่อกันไม่ให้ตัวเองโดนปรับ ทั้งที่บางข้อความไม่ได้ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ
อย่างนี้แล้วจะชดเชยคนที่ถูกริดรอนสิทธิ์ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายได้อย่างไร?

ในฝรั่งเศส เสรีภาพในการพูดและถ้อยทำแสดงความเกลียดชังแตกต่างกัน

ฝรั่งเศสที่มีคำขวัญว่าเสรีภาพ ความเท่าเทียม ภารดรภาพ มีการเปิดใช้เสรีภาพทางความคิด แต่มีข้อจำกัดมากกว่าสหรัฐอเมริกา

ในอินโฟกราฟฟิกที่รัฐบาลฝรั่งเศสทำไว้ในเว็บไซต์ ระบุว่าฝรั่งเศสคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกมาตั้งแต่มีการประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมืองหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกันก็ระบุว่าเว้นแต่เป็นกรณีเหยียดเชื้อชาติ ดูหมิ่นชาวยิว สร้างความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์ใดใด หรือสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อการร้าย

เหตุการณ์สำนักงานนิตยาสาร “ชาร์ลี เอบโด” ถูกกราดยิงหลังตีพิมพ์ภาพศาสนาของศาสนาอิสลามในเชิงล้อเลียน สร้างความสลดใจแก่วงการสื่อเป็นอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับการกราดยิ

เรื่องนี้สร้างการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมาก เพราะหลายคนก็บอกว่า ชาร์ลีเอบโด แม้จะมีเสรีภาพสื่อแต่ก็ล้อเลียนศาสนาที่คนเคารพศรัทธา แต่เจ้าหน้าที่กลับมาไล่จับคนที่เห็นด้วยกับการกราดยิงทั้งทั้งที่คนเหล่านี้ถูกชาร์ลี เอบโด ย่ำยีศาสนาก่อน

เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสให้เหตุผลว่า เราต้องแยกกันระหว่าง “การโจมตีแนวคิด” ซึ่งฝังอยู่กับวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวฝรั่งเศสที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี กับ “การโจมตีคน”หรือ “สร้างความเกลียดชังต่อคนหรือกลุ่มคน” ที่นำมาซึ่งความรุนแรงจริง ๆ ได้

สรุปง่าย ๆ ว่าสิ่งที่ชาร์ลี เอบโดทำคือ Free Speech ส่วน สิ่งที่คนที่เห็นดีเห็นงามกับการกราดยิงคน เป็น Hate Speech

ล่าสุดฝรั่งเศสเพิ่มผ่านกฎหมายการควบคุมความเห็นในโลกออนไลน์โดยบังคับให้แพลตฟอร์มใหญ่ของโลกต้องลบความเห็นที่ผิดกฎหมาย คล้ายกับกฎหมายเรื่องอินเตอร์เน็ตของเยอรมัน และมีข้อกังวลคล้าย ๆ กัน คือประชาชนได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพการพูดตามรัฐธรรมนูญ แต่คนที่จะมาตรวจตราและบอกว่าอะไรถูกอะไรผิดกลับเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ไม่ใช่ศาล


สำหรับองค์การสหประชาชาติ เสรีภาพในการพูดและถ้อยทำแสดงความเกลียดชังแตกต่างกัน

องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศภาคีรับรองเรื่องการจำกัดเสรีภาพทางการแสดงออกในบางกรณีตั้งแต่ปี 1969 ผ่าน “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ” ที่ระบุในมาตรา 4 ว่า รัฐภาคีต้องประณามและตรากฎหมายลงโทษ “การเผยแพร่ความคิดที่เชื่อว่ามีเผ่าพันธุ์ใดสูงกว่าเผ่าพันธุ์อื่น หรือสร้างความเกลียดชัง ยุยงให้เกิดการแบ่งแยกสีผิวหรือให้เกิดความรุนแรง”

ต่อมาในปี 1976 ก็มีการเพิ่มในสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาการเมืองว่าจะต้องมีกฎหมายห้ามการสนับสนุนความเกลียดชังทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์หรือศาสนาซึ่งยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยก การเป็นปฏิปักษ์หรือความรุนแรง

อย่างไรก็ดีองค์การสหประชาชาติเลือกที่จะครอบคลุมการห้ามพูดไว้เพียงแต่ในเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาเท่านั้น ไม่ได้รวมถึง Hate Speech ในกรณีอื่น เช่นการขู่อาฆาตมาดร้ายโดยไม่มีเรื่องชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวแต่อย่างใด

ในโลกออนไลน์ ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังไม่ได้ถูกรวมว่าเป็นเสรีภาพทางคำพูดด้วย

เมื่อไม่นานมานี้โลกออนไลน์เป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่า “ไร้รัฐ” ทำให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีเสรีภาพทางการแสดงออกสูงสุด แน่นอนว่าผลที่ตามมาคือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่รวมเอาคนไม่รู้หน้าค่าตามารวมกันก็ทำให้เกิดถ้อยคำรุนแรงและส่งเสริมความเกลียดชังได้ง่าย

ในทีแรก แจ็ก ดอร์ซี เจ้าของทวิตเตอร์ยืนยันว่ายืนอยู่ข้างเสรีภาพในการแสดงออกสุดโต่ง โดยบอกว่าทวิตเตอร์ต้องให้ความรู้สึกเหมือนจัตุรัสกลางเมืองที่เป็นที่ซึ่งทุกคนสามารถออกมาพูดเรื่องต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ดีต่อมาเขาออกมาแสดงความคิดเห็นใหม่ โดยบอกว่าทวิตเตอร์คงรอเฉยๆ ไม่ได้  เพราะปัจจุบันมีการออกมาข่มขู่ว่าจะเกิดความรุนแรงต่าง ๆ ทำให้ทวิตเตอร์ต้องสร้างกฎขึ้นมาใหม่เพื่อมีมาตรการการลงโทษที่ชัดเจนขึ้น

กฎล่าสุดของทวิตเตอร์ครอบคลุมเนื้อหาที่มีความรุนแรง หรือเชิดชูความรุนแรง การสนับสนุนการก่อการร้าย การคุกคามข่มขู่ เนื้อหาที่มีความอ่อนไหวและการขายของผิดกฎหมาย หากผิดกฎมีมาตรการปฏิบัติตั้งแต่ลบทวีตไปจนถึงแบนห้ามเปิดแอคเคาท์อีก

เฟซบุ๊กเอง จากที่เคยใช้ระบบการแจ้งจากผู้ใช้งาน ปัจจุบันก็มีการใช้อัลกอริทึมในการตรวจจับเนื้อหาต้องห้าม ที่ส่วนหนึ่งประกอบด้วยเนื้อหาความรุนแรง การยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การสนับสนุนอาชญากรรม การร่วมมือกันสร้างอันตรายต่อผู้อื่น การบูลลี่ ตลอดจนการคุกคาม

อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กได้รับความกดดันครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์ไลฟ์สดกราดยิงมัสยิดในนิวซีแลนด์ เนื่องจากหากเป็นภาพเหตุการณ์สด หรือมีการใช้เทคนิกอื่น ๆ อัลกอริทึ่มก็จะไม่สามารถตรวจจับเนื้อหาอันตรายได้ กว่าผู้ใช้จะแจ้งจนนำเนื้อหาลงสำเร็จก็สายไปเสียแล้ว นี่เองเป็นข้ออ้างหนึ่งที่รัฐพยายามจะออกกฎหมายเพื่อกดดันให้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ต้องเซนเซอร์ตนเองมิเช่นนั้นจะถูกลงโทษในฐานะผู้ให้บริการอย่างที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ออกกฎหมายมา

จากการจัดการเรื่องเสรีภาพทางการพูดและถ้อยคำสร้างความเกลียดชัดจะเห็นได้ว่าสังคมโลกยังไม่ได้ฉันทามติเรื่องความแตกต่างระหว่าง “Hate Speech” และ “Free Speech” แต่อย่างใด ในสังคมของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความไม่ไว้วางใจรัฐสูงก็เลือกที่จะอุ้มชูความสำคัญของ Free Speech โดยมองข้ามความอันตรายของ Hate Speech ไป กลับกันในยุโรปผู้คนเลือกที่จะสละเสรีภาพให้รัฐเข้าควบคุมภายใต้ข้ออ้างของการป้องกันความเกลียดชัง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ามาตรการการควบคุมรัฐของประชาชนในยุโรปแข็งแกร่งมากทั้งทางตรงและทางอ้อม น่าจับตามองว่ามาตรการแบบไหนแก้ปัญหาได้ดีกว่ากัน


[อ้างอิง]
Factbox: When can free speech be restricted in the United States?
No, there’s no “hate speech” exception to the First Amendment

Germany is silencing “hate speech”, but cannot define it

Charlie Hebdo and Free Expression    

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า