นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ชายแดนใต้ จ.ยะลา เพื่อเปิดศูนย์ราชการฯ มอบนโยบายขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ และเยี่ยมชมโครงการทุเรียนคุณภาพ พร้อมพบปะเยาวชนชาวยะลา หนุนยะลา เป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
วันที่ 7 ส.ค. 62 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปจังหวัดยะลา ที่เพื่อเป็นประธาน เปิดอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับฟังผลการดำเนินงานจังหวัดยะลา โดยนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ราชการจังหวัดยะลา และรับฟังผลการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาของ ศอ.บต. โดยมี พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร กล่าวรายงาน
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบนโยบายให้กับข้าราชการในพื้นที่ พร้อมมอบเงินค่าตอบแทนผู้นำศาสนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 ราย มอบบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) มอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดิน) ให้กับผู้นำศาสนา ผู้แทนประชาชนยะลา ปัตตานี 3 ราย เปิดศูนย์ประสานงานและบริการการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ(OSOS) และศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจังหวัดชายแดนภาคใต้ เยี่ยมชมศูนย์ประสานงานด้านกิจการเด็กและสตรี
ในระหว่างการเข้าพบปะเยาวชน ในศูนย์ประสานงานด้านกิจการเด็กและสตรี นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเร่งด่วน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลของเด็กให้ได้มากที่สุด จัดเป็นฐานข้อมูลของเด็กที่อยู่นอกระบบ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษา เพราะรัฐบาลให้ความสนใจและความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเท่าเทียมเสมอภาค
น.ส.ฟาตีฮะห์ วิชา นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 วิทยาลัยชุมชนยะลา จาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณที่ให้โอกาสได้เรียนสูงขึ้น หากไม่มีกองทุนดังกล่าว คงไม่ได้เรียนต่อและคิดไม่ออกว่าอนาคตจะทำอะไร ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ตอบรับว่า “ขอให้ทุกคนตั้งใจเรียนให้มากๆ เพราะการศึกษาจะเป็นช่องทางในการลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสในชีวิตและทำให้คนมีคุณภาพ”
โดย นายกฯ ได้สวมกอดให้กำลังใจ นายมะสากิ มีมะ อายุ 16 ปี จาก อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นเยาวชนที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และยังมีปัญหาทางการเคลื่อนไหว นิ้วมือนิ้วเท้าบิดงอ ขาไม่มีแรง และได้รับการช่วยเหลือจากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดยะลา ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและช่วยเหลือทางสุขภาพ
น.ส.รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวว่า ยะลา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาโดย อบจ.ยะลาร่วมกับ กสศ. ดำเนินงานเชิงรุกมุ่งช่วยเด็ก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. เด็กในระบบสังกัด สพฐ. 40,723 คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. ช่วยเหลืออยู่ 10,101 คน เด็กกลุ่มนี้ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขจาก กสศ. เพื่อเป็นค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังมีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีความสามารถได้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพ ในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จำนวน 23 คน ทุนต่อเนื่อง 2 ปี ในระดับอนุปริญญาสายอาชีพ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร 2. เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดำเนินงานภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เบื้องต้นช่วง ส.ค. – ก.ย. จะมีกระบวนการค้นหา คัดกรองกลุ่มเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 2-21 ปี ในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.รามัน อ.ยะหา อ.บันนังสตา รวมทั้งสิ้นจำนวน 9,684 คน
จากนั้นในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการทุเรียนคุณภาพ บริเวณตลาดกลางยางพารายะลา มอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Good Agricutural Practice : GAP )แก่ผู้แทนเกษตรกร 10 ราย และพบปะเกษตรกรในพื้นที่ และเดินทางไปที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองทรายใน ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา พบปะกลุ่มสถาบันการเงินภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรบ้านคลองทรายใน เกษตรแปลงใหญ่ สมาชิกศูนย์เรียนรู้การผลิต และกองกำลังภาคประชาชน