SHARE

คัดลอกแล้ว

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เพราะนับเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จัดขึ้นเพียง 5 ปีครั้งเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมจึงส่งสัญญาณหลายอย่างเกี่ยวกับอนาคตของจีน

 

คณะผู้นำสูงสุดชุดใหม่

 

            ไฮไลท์แรกของการประชุม คือการเลือกคณะกรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (7 คน) และคณะกรรมการโปลิตบูโร (25 คน) โดยเลือกคนใหม่ขึ้นมาแทนคนที่ถึงวัยเกษียณ ในส่วนของคณะกรรมการสูงสุด 7 คนนั้น นอกจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกฯ หลี่เค่อเฉียงแล้ว อีก 5 คนล้วนเป็นคนใหม่ โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้

หนึ่ง  ในกรรมการสูงสุด 7 คน ค่อนข้างแบ่งสมดุลระหว่างค่ายการเมืองต่างๆ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์นั่นคือ ค่ายการเมืองของอดีตประธานาธิบดีหูจินเทา ได้นายกฯ หลี่เค่อเฉียง และหวางหยาง เข้าไปนั่งเป็นตัวแทน ส่วนค่ายการเมืองของอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ได้หวังฮู่หนิง และหานเจิ้ง ซึ่งล้วนเติบโตมาจากสายเซี่ยงไฮ้ ส่วนค่ายการเมืองของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้หลี่จ้านชู (หัวหน้าสำนักเลขาฯ ของสีจิ้นผิง) และจ้าวเล่อจี้

สอง เป็นครั้งแรกที่มีการโปรโมตนักวิชาการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการสูงสุดของพรรค นั่นก็คือ หวังฮู่หนิง ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งสะท้อนว่าสีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์และทฤษฎีของพรรคมากขึ้น

สาม ไม่มีการวางตัวทายาททางการเมืองที่ชัดเจน เพราะไม่มีผู้นำที่อายุน้อยเข้าไปนั่งเป็นกรรมการสูงสุด ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าสีจิ้นผิงอาจสนใจจะกุมอำนาจต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า สีจิ้นผิงอาจไม่ต้องการให้มีการวางตัวทายาททางการเมืองที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ทายาททางการเมืองกลายเป็นเป้าถูกโจมตี รวมทั้งเปิดให้มีการแข่งขันผลงานมากขึ้นระหว่างบรรดาตัวเต็งผู้นำรุ่นถัดไป

ในส่วนของกรรมการ 25 คน เป็นครั้งแรกที่มีหัวหน้าทีมต่างประเทศของจีน คือ หยางเจี๋ยฉือ มุขมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าสีจิ้นผิงต้องการให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ One Belt One Road โดยจีนจะเล่นบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

ในกรรมการสูงสุด 25 คนนั้น มีกรรมการหญิงเพียง 1 คน คือ นางซุนชุนหลาน ซึ่งดูแลงานความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคการเมืองและกลุ่มสังคมอื่นๆ ในประเทศจีน

 

ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีนในยุคใหม่

 

            ไฮไลท์สำคัญอีกอย่างก็คือ การบรรจุ “ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีนในยุคใหม่” เข้าเป็นความคิดนำในธรรมนูญพรรค สะท้อนพลังอำนาจของสีจิ้นผิงอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมา ความคิดของผู้นำจีนทั้ง 5 รุ่น ต่างได้รับการบรรจุเป็นความคิดนำในธรรมนูญพรรค ได้แก่ “ความคิดเหมาเจ๋อตง” “ทฤษฎีเติงเสี่ยวผิง” “ความคิดสามตัวแทน” (ของเจียงเจ๋อหมิน) “แนวคิดการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” (ของหูจินเทา) และที่เพิ่งเพิ่มเข้าไปล่าสุดก็คือ “ความคิดของสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีนในยุคใหม่”

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นี่เป็นการยกชั้นสีจิ้นผิงขึ้นเทียบเท่ากับเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง เพราะใส่ชื่อสีจิ้นผิงพ่วงกับความคิดของเขาด้วย ขณะที่เจียงเจ๋อหมินและหูจินเทาไม่เคยได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้

สีจิ้นผิงแถลงความคิดของเขาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง นับว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสรุปหัวใจสำคัญได้ ดังนี้

หนึ่ง เน้นการนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกมิติ ตรงกันข้ามกับแนวทางของจีนในการกระจายอำนาจ และพยายามแยกรัฐบาลออกจากพรรคในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา สีจิ้นผิงทวนกระแสโดยการเน้นรวมอำนาจกลับสู่ส่วนกลางและกลับสู่พรรค โดยให้เหตุผลเพื่อเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (ซึ่งเคยถูกกลุ่มผลประโยชน์ในท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจขัดขวาง) รวมทั้งปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความชอบธรรมในการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สอง เน้นพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นพัฒนาพลังการผลิต และเน้นที่ตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP มาเน้นการพัฒนาที่สมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนใจเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน

สาม เน้นเรื่องความแข็งแกร่งทางการทหาร และเล่นบทเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ จากที่เหมาเจ๋อตงบอกว่าจะไม่คบค้ากับตะวันตก และเติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าให้เก็บตัวเงียบๆ เร่งพัฒนาตัวเองให้แข็งแรงก่อน สีจิ้นผิงกลับบอกว่า ตอนนี้ถึงยุคที่จีนจะเล่นบทรุกในเวทีโลกแล้ว

แก่นความคิดของสีจิ้นผิงจึงไม่ใช่แนวลัทธินิยมแบบคอมมิวนิสต์สมัยก่อน แต่เป็นแนวคิดชาตินิยมและพรรคนิยม เน้นสร้างความภาคภูมิใจในการกลับมายิ่งใหญ่ของชาติจีน โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำการสร้างชาติ

อนาคตของสีจิ้นผิง (รวมทั้งของพรรคคอมมิวนิสต์และของจีนด้วย) จึงอยู่ที่ว่า อำนาจรวมศูนย์จะทำลายตนเองลงเสียก่อน หรือสีจิ้นผิงจะสามารถรักษาสมดุล และเด็ดเดี่ยวในการขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ชาติจีนกลับมารุ่งเรืองยิ่งใหญ่ ดังที่ได้วาดฝันสวยหรูไว้กับประชาชนได้หรือไม่

 

 

บทความโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า