SHARE

คัดลอกแล้ว

บทความโดย พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

พิธีคืนเกาะฮ่องกงให้แก่ประเทศจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 นับเป็นวันสิ้นแสงจักรวรรดิ์อังกฤษในเอเชียเป็นการปิดฉากอิทธิพลของอังกฤษ สร้างความรู้สึกสูญเสียและอาวรณ์ให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของอังกฤษหลายฝ่าย

เจ้าฟ้าชายชาลส์ เดินทางไปประกอบพิธีในสมัยนั้นกล่าวว่าสุนทรพจน์โดยเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีในขณะนั้นเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ นางมากาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทในการเจรจาสถานภาพของฮ่องกงได้ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “เสียใจที่การเจรจาต่อรองยืดการปกครองอังกฤษกับเติ้งเสี่ยวผิงล้มเหลว…แต่ก็เป็นโอกาสที่จะตอบรับข้อเสนอการปกครอง หนึ่งประเทศสองระบบ”

ในทางกลับกัน สำหรับจีนการได้รับเกาะฮ่องกงคืน คือวันจบสิ้นของสัญลักษณ์ความอัปยศทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าสถานะการเป็นเมืองท่าอาณานิคมของฮ่องกงจะนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่จีนในช่วงยุคเหมาเจ๋อตุงและยุคการปฏิรูปในสมัยเติ้งเสี่ยวผิงก็ตาม

ผู้ชุมนุมฮ่องกงรวมตัวประท้วงยาวนานกว่าสองเดือนแล้ว

หนึ่งประเทศ สองระบบ – มองให้ลึกลงไป

แนวความคิดเรื่องการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เป็นแนวความคิดที่เดิมทีเป็นข้อเสนอที่เติ้งเสี่ยวผิงยื่นให้แก่ไต้หวันระหว่างความพยายามที่จะรวมประเทศในปี ค.ศ 1978 และได้ถูกนำมาใช้กับฮ่องกงและมาเก๊าเมื่ออังกฤษและโปรตุเกสมอบการปกครองคืนให้จีน

เนื่องจากทั้งสองที่เป็นตลาดทุนใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศจีนที่เพิ่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจออกมาจากนโยบายคอมมิวนิสต์แบบเหมาเจ๋อตุง ทั้งฮ่องกงและมาเก๊าได้ถูกใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขยายทุนและโอกาสทางเศรษฐกิจจีน

สถานะ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นั้นจะอยู่จนถึงปี ค.ศ 2047 ทำให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปโดยลดสภาวะแรงกดดัน โดยรัฐบาลจีนสวมบทบาทเป็นผู้แต่งตั้ง “ผู้ว่าเกาะฮ่องกง” แทนอังกฤษที่เดิมจะแต่งตั้งผู้ว่าภายใต้ระบบอาณานิคม โดยผู้ว่าจะถูกเลือกผ่านคณะผู้เลือกตั้งจำนวน 1,200 คน จากบุคคลที่ได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลจีน โดยคณะผู้ปกครองฮ่องกงที่ได้ผ่านการเลือกตั้งมีหน้าที่ปกครองเกาะฮ่องกงภายใต้ระบบสภาเดียวไม่ต่างจากระบบของสภาอังกฤษ

รัฐบาลจีนกลางทำหน้าที่ปกครองเพียงด้านนโยบายการต่างประเทศและทหารเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทิศทางการปฏิบัติของประเทศจีนที่ผ่านมาไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นและยังแสดงถึงการเข้ามาก้าวก่ายกฏหมายและข้อตกลงของ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” มาโดยตลอด

ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้คนฮ่องกงจำนวนมากอีกทั้งยังสื่อถึงช่องว่างระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจกับประชากรคนรุ่นใหม่ของฮ่องกงที่รู้สึกว่าประเทศจีนได้กลับคำเรื่องหนึ่งประเทศสองระบบอีกทั้งยังขาดความเชื่อมั่นในระบบกฏหมายของประเทศจีนอีกด้วย

ท่ามกลางกระแสการประท้วงฮ่องกงได้มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาภายในของฮ่องกง อังกฤษในฐานะอดีตเจ้าอาณานิคมควรทำอย่างไร?

จุดเริ่มต้นการชุมนุมประท้วงว่าด้วยเรื่องให้ยกเลิกข้อกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

สหราชอาณาจักรกับปัญหาบทบาทต่ออดีตอาณานิคมที่ตกค้าง

หนึ่งในปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือการที่ประเทศจีนไม่ได้คงความเป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับอังกฤษในปี ค.ศ 1984 (Joint Declaration of the Government of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland and the Government of the People’s Republic of China on the Question of Hong Kong)

มีความพยายามทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะก้าวก่ายระบบการปกครองและการออกกฏหมายของฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับกฏหมายซึ่งทางรัฐบาลอังกฤษปัจจุบันมองว่าเป็นการขัดสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ได้ตกลงกันไว้โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ทางรัฐบาลจีนมองว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีความหมายอีกต่อไป เป็นเพียงเอกสารทางประวัติศาสตร์เพราะอังกฤษไม่มีอำนาจหรือบทบาทใดๆต่อการปกครองฮ่องกงอีกแล้ว

มีการนำเสนอให้รัฐบาลอังกฤษมอบสถานภาพประชากรอังกฤษเต็มตัวให้แก่คนฮ่องกงที่เกิดก่อนการคืนอาณานิคมและถือพาสปอร์ตอังกฤษ (นอกอาณาเขต) ด้วยโดยบุคคลเหล่านี้สามารถเข้ามาอาศัยในประเทศอังกฤษได้ แม้ว่าจะไม่สามารถอยู่หรือทำงานแบบถาวรได้

หนึ่งในจำนวนผู้ที่ถือพาสปอร์ตดังกล่าวคือ นายไซมอน เฉิง เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่กงสุลอังกฤษซึ่งปัจจุบันถูกจับตัว เมื่อฮ่องกงมีปัญหาหนทางการย้ายถิ่นฐานออกจากฮ่องกง จึงเป็นหนึ่งในสิทธิที่สมาชิกสภาบางส่วนของอังกฤษมองว่าเป็นสิ่งที่อังกฤษควรมอบให้แก่ชาวฮ่องกงในฐานะการที่ไม่สามารถไปก้าวก่ายการปกครองของจีนแต่ก็ได้ทิ้งสิทธิความเป็นอังกฤษแบบครึ่งๆ กลางๆ ไว้ให้

เสียงเรียกร้องถึงอังกฤษจากผู้ชุมนุม

สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือบริบทของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ในการประท้วงในเกาะฮ่องกงที่ปัจจุบันได้มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มนำธงอังกฤษมาเป็นสัญลักษณ์การคัดค้านรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีนกลาง ธงอังกฤษไม่ได้สื่อถึงการเรียกร้องนำการปกครองแบบอาณานิคมกลับมา ในทางกลับกันระบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และนโยบายส่งท้ายอาณานิคมของอังกฤษที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ 1982 รวมถึงการนำเสนอแนวทางเรื่องการให้ผู้คนมีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งผู้บริหารเขตฮ่องกง สภานิติบัญญัติฮ่องกง ทำให้ก่อเกิดกลุ่มคนที่สามคือกลุ่มท้องถิ่นนิยมขึ้น ซึ่งต่างจากมิติในช่วงการปกครองอังกฤษและช่วงสงครามโลกที่บริบทความเป็นชาวฮ่องกงจะเน้นเพียงสถานะในการเป็น “คนจีน” หรือ “ไม่ใช่คนจีน” เท่านั้น

ฮ่องกง > จีน

กลุ่มท้องถิ่นนิยมไม่ได้ต้องการแบ่งแยกตนเองจากความเป็นจีนเสมอไป แต่จะเน้นไปในการเรียกร้องสิทธิในการปกครองและกำหนดอัตลักษณ์ของตนเองเป็นหลัก เช่นคนฮ่องกงจะเรียกตนเองว่าเป็น “คนฮ่องกง” ก่อนที่จะนับว่าตนเองเป็น “คนจีน” เป็นต้น และกลุ่มนี้เป็นลักษณะของเยาวชนส่วนใหญ่ในฮ่องกงที่ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจีน

ภายใต้ระบบการปกครองอังกฤษชาวฮ่องกงไม่ได้ถูกปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพที่ชาวจีนฮ่องกงได้รับนั้นมีจำกัด เช่น คนจีนไม่สามารถทำงานในตำแหน่งราชการระดับผู้บริหารได้ จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ 1982 ที่มีการผ่อนปรนและปฏิรูปกฏหมายหลายๆ อย่างเพื่อเพิ่มสิทธิทางมนุษยชนและโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชาวฮ่องกงซึ่งเป็นชาวจีนมากขึ้นซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงที่มีชาวจีนฮ่องกงเป็นเจ้าของ ในทางกลับกันเมื่อเทียบกับอาณานิคมอื่นๆ ความเป็นเมืองท่าและสถานะพิเศษของฮ่องกงทำให้ฮ่องกงเป็นอาณานิคมที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบน้อยที่สุดในจำนวนอาณานิคมของอังกฤษแม้แต่เมืองท่าเทียบเคียงอย่างเซี่ยงไฮ้ ชาวฮ่องกงรุ่นเก่าที่ตอนนี้ในกลุ่ม Baby Boomer จึงมีทัศนคติที่ดีต่อ Chris Patton อดีตผู้ว่าที่ส่งมาปกครองอาณานิคมคนสุดท้าย

ชีวิตของชนชั้นกลางในฮ่องกง ที่ต้องต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจ ท่ามกลางความหวาดกลัวถึงเสรีภาพในชีวิตที่อาจจะสูญเสียไป

ชนชั้นกลางฮ่องกง ผู้แบกรับความทุกข์

ระบบอุปถัมภ์ของเมืองท่าภายใต้อาณานิคมสร้างปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวให้กับฮ่องกง เช่นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และราคาที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงจนชนชั้นกลางของฮ่องกงมีโอกาสน้อยที่จะเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือ ปัญหาการที่โครงสร้างเศรษฐกิจผูกขาดทางการแข่งขันเพราะรัฐทั้งอังกฤษและจีนสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนตะวันตกหรือกลุ่มทุนจีนในภายหลัง ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าวของฮ่องกงเพื่อดึงระบบทุนเข้าสู่จีนโดยเฉพาะตลาดอย่างเซินเจิ้น

นี่เองจึงเป็นแหล่งที่มาของการที่สื่อภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเริ่มเสนอการ “โจมตี” อังกฤษและบทบาทในเชิงอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าอังกฤษไม่ควรมีบทบาทใดๆ ทั้งในเชิงกฏหมายและประวัติศาสตร์ ที่จะมายุ่งเกี่ยวกับการปกครองของจีนในฮ่องกง นักประวัติศาสตร์สายอนุรักษ์นิยมใหม่ของจีนมองว่าการศึกษาในฮ่องกงไม่ได้สอนให้ชาวฮ่องกงรู้ถึงปัญหาของฮ่องกงที่เกิดจากการปกครองของอังกฤษ และชาติตะวันตกกำลัง “ขายฝันประชาธิปไตย” ให้กับเยาวชนฮ่องกงเพื่อเอาผลประโยชน์ในระยะยาว นายหลิวเสี่ยวหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศอังกฤษ ได้ออกมากล่าวว่า

“ผู้ว่าที่อังกฤษเคยแต่งตั้งไปปกครองฮ่องกง ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่มีสิทธิประท้วง และ ชาวฮ่องกงไม่ได้มีสิทธิที่จะมีอำนาจตุลาการที่เป็นอิสระ”

มุมมองแบบนี้ได้รับการสนับสนุนจากคนจีนอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลจีนในฮ่องกง โดยยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิง “ชี้นิ้วให้เห็นโครงกระดูกในตู้” ที่จีนได้นำมาใช้ นี้กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศที่ตลาดในประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ (Emerging Markets)

และเป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกต้องยอมรับว่าได้สร้างปัญหาไว้ในฮ่องกงจริง แต่ต้องก้าวข้ามเกมส์การชี้นิ้วเพื่อนำพาหลักการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน และปลอดความรุนแรงให้ได้ แน่นอนท่าทีดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้ยากท่ามกลางบรรยากาศการเมืองของอังกฤษปัจจุบัน และรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งโดนแซวว่าแยกไม่ได้ว่าภรรยาของตนเองเป็นชาวจีนหรือชาวญี่ปุ่น

ภาพของผู้ชุมนุมถือธงสหราชอาณาจักรยังปรากฎให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

อังกฤษทำอะไรได้มากแค่ไหน

ประเด็นเรื่องโครงกระดูกของอังกฤษที่ตอนนี้ได้รับการถกเถียงในสภาอังกฤษคือธุรกิจอุปกรณ์ปราบม็อบที่บริษัทอังกฤษส่งออกให้กับรัฐบาลฮ่องกงและได้ถูกนำไปใช้ทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงฮ่องกงในปัจจุบัน ไม่รวมถึงผลประโยชน์ร่วมระหว่างธุรกิจอังกฤษและกลุ่มทุนใหญ่ของฮ่องกงที่สนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย โดยนายเจเรมี่ ฮันท์ ได้เสนอให้งดออกใบอนุญาตส่งออกให้แก่บริษัทเหล่านี้

ท่าทีของอังกฤษที่ดีที่สุดคือการทำให้จีนเห็นชัดว่าไม่ได้จะเข้าไปยุ่งกับการปกครองภายในของจีน แต่ต้องการให้จีนไม่ใช้ความรุนแรง อีกทั้งใช้เครือข่ายทางการค้าให้เป็นประโยชน์ในการกดดันให้ไม่เกิดความรุนแรงขึ้น โดยให้มีการยินยอมผ่อนตามการเรียกร้องของชาวฮ่องกงอย่างชัดเจน แม้ว่าฮ่องกงจะไม่ได้เป็นตลาดทางการเงินใหญ่ของจีนอีกต่อไปแต่รัฐบาลจีนที่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคคงไม่ต้องการสร้างปัญหาและตัดขาดทางการค้าเพิ่มเติมในสภาวะสงครามทางการค้ากับอเมริกา และความต้องการของจีนที่จะขยายตัวเข้าสู่ตลาดยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคืออังกฤษไม่ควรเจรจาในแบบ “เจ้าอาณานิคม” ในลักษณะที่ทำอยู่ แต่เป็นการสร้างความเคารพและหาทางออกในฐานะประเทศคู่ค้าและมิตรทางการทูต

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า