SHARE

คัดลอกแล้ว

ในสถานการณ์ที่การเมืองแบ่งคนออกเป็นฝั่ง ๆ สารคดีเรื่อง “ชะตาธิปไตย” ถูกนำมาฉายในจอใหญ่ของ Lido Connect เป็นครั้งแรกได้อย่างพอเหมาะพอเจาะอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนึ่งในภาพยนต์ไม่กี่เรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวของมิตรภาพ “หมอ-นักการเมือง” 3 คนซึ่งเติบโตมาด้วยกันจากรั้วศิริราช ก่อนแยกย้ายแล้วเวียนมาพบกันอีกคราภายใต้สนามการแข่งขันเลือกตั้งปี 2554 แถมผู้กำกับก็ยังเป็น “หมอ-ผู้กำกับ” ที่เรียนมาพร้อมทุกคนอีก!

ในโอกาสรอบปฐมทัศน์ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์มีโอกาสเข้าเป็นสักขีพยานการรวมตัวกันอีกรอบ ของ 4 หมอ นพ. เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้กำกับภาพยนต์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ผู้สมัครส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จึงนำบทสนทนามาเล่าสู่กันฟัง

เวลาประมาณ 21.30 น. หลังจากที่เราชมภาพยนต์กันจนจบแล้ว ไฟโรงภาพยนต์สว่างขึ้น ไม่นานหลังจากนั้น ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการประจำค่ำคืนก็เริ่มคำถามขึ้้นสอบถามไปยังหมอทั้ง 4 คนว่าดูจนจบแล้วรู้สึกอย่างไร

หมอชลน่าน บุคคลในเรื่องและผู้ให้เสียงบรรยายเริ่มออกตัวคนแรกว่า  “ความจริงผมไม่พอใจทั้งเรื่องนะ” ไม่ทันได้กล่าวต่อผู้กำกับภาพยนต์เสริมทันที “คุยกับส.ส.ต้องระวัง ผมพูดตรงไปตรงมา แต่ว่าเขาเป็นนักการเมือง บางทีหลอกปั่นหัวเราได้ น่าจะรู้ดีอยู่”

คนต่อมาที่ออกความเห็นไคือหมอบัญญัติ “หนังก็จะเอาเรื่องหลุด ๆ มาออก บางทีก็เป็นอีกมุมหนึ่งว่า เอกลักษณ์หรือตัวตนก็มักจะมาจากตอนที่หลุด ๆ ก็ถือว่า เหมือนอีกวิธีหนึ่ง เพราะปกติเรานำเสนอเราก็จะนำเสนอสิ่งที่เราอยากนำเสนอ แต่หนังก็เอาเบื้องหลังของเรา ถือเป็นโอกาสที่ผู้ชมจะเห็นเบื้องหลังการได้มาซึ่งเป็นผู้แทน”

กลับมาที่ชลน่าน เขาออกตัวว่าตนได้ดูแค่ครึ่งเดียว เนื่องจากเพิ่งกลับมาจากทำงานที่น่าน แถมเครื่องบินดีเลย์ “เข้าใจเดชาว่าเขาพยายามนำเสนอ” เขาเริ่ม ก่อนเล่าประสบการณ์การเลือกตั้งปี 2554 ประกอบภาพยนต์ที่เพิ่งจบไป “จริง ๆ ผมกับนพ (หมอภูมินทร์) เจอวิกฤติคล้าย ๆ กัน วันที่ 30 มิถุนาฯ ยังไม่แน่ใจว่าจะได้เลือกตั้งหรือเปล่าเพราะว่าน้ำยังไม่ลด กำหนดเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาฯ วันที่ 30 ที่น่านท่วมเยอะมาก พอ 30 ก็เริ่มแห้ง เขาก็เลยประกาศให้มีการเลือกตั้ง ภาพการหาเสียงของผมก็จะลำบาก พื้นที่เลือกตั้งอำเภอใหญ่ที่สุดน้ำท่วม ก็จะเหลืออำเภอเล็ก ๆ อยู่ตามภูเขาที่พอหาเสียงได้”

หลังจากได้รับฟังความเห็นของคุณหมอทั้งสอง พิธีกรสอบถามความเห็นจากหมอภูมินทร์ อีกหนึ่งตัวละครเด่นของภาพยนต์

“ก็อย่างน้อยที่สุดได้เห็นบรรยากาศของภาพที่แท้ของพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัด กับการคาดหวังจากส.ส.ของเขา ถ้าเป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯได้ดูหนังเรื่องนี้ก็น่าจะเข้าใจบริบทของความเป็นส.ส.มากขึ้น เราซึ่งคุ้นชินกับสภาพแบบนั้นแล้ว” หมอภูมินทร์พูดถึงบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่ปรากฎในภาพยนต์ “บางทีระหว่างที่ดูหนังก็ยังอดขำไม่ได้ในหลาย ๆ ตอนในความคิดของชาวบ้านที่บางทีมันอาจจะเป็นมุมมองที่น่าขันสำหรับคนในสังคมเมือง”

พิธีกรไม่รีรอที่จะตั้งคำถามต่อ “ผมเข้าใจว่าเป็นหมออยู่ต่างจังหวัด ชีวิตก็โอเค มีเงินมีทอง มีคนนับหน้าถือตา ทำไมถึงมาเป็นผู้แทนซึ่งมีความเสี่ยง เป็นผู้แทนดีกว่าเป็นหมอยังไง”

“ถามว่าเป็นผู้แทนดีกว่าเป็นหมอยังไงก็คงเอามาเทียบกันไม่ได้” คราวนี้ภูมินทร์ตอบร่ายยาวเป็นคนแรก “แต่ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่การเมืองก็ ผมเข้าใจว่าทุกคนที่เข้ามาตรงนี้ก็มีแนวคิดทางการเมืองตั้งแต่ในวัยหนุ่ม อยากจะเห็นอะไรที่มันดีๆเกิดขึ้นในสังคม ประการที่ 2 ก็การสละจากวิชาชีพทางการแพทย์มาสู่การเมืองก็ต้องเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ไม่มีโอกาสรวยมากขึ้นกว่านี้แล้ว เพราะคนที่เป็นแพทย์โดยส่วนใหญ่ ที่เห็นอยู่ตรงนี้ ก็เป็นตัวอย่างว่า มีความคุ้นชินกับความตรงไปตรงมา แล้วก็ความซื่อสัตย์ ดังนั้นในเรื่องของความร่ำรวยเราก็ไม่นึกถึง”

แต่ภูมินทร์ก็แสดงเสี้ยวของความผิดหวังต่อมา ว่าเป็นผู้แทนไม่ได้แก้ปัญหาสังคมได้มากเท่าที่เขาคิด

“แต่เราจะคิดว่าเข้ามาแล้วจะสามารถทำอะไร แก้ปัญหาสังคมได้ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในตอนแรกก็จะคิดเยอะ อยากเห็นไอ้นั่นเปลี่ยนแปลง อยากทำให้มันดี แต่พอเข้ามาสู่การเมืองนาน ๆ เข้าได้มีโอกาสทำงานนานเข้าบาทีก็อาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่าทำอะไรได้มากเหมือนอย่างที่เราเคยคิดไว้ ตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม ตั้งแต่ตอนเริ่มเข้าสู่การเมืองใหม่ ๆ ไหม”

เมื่อภูมินทร์จบด้วยคำถาม พิธีกรก็ถามกลับไปยังหมอบัญญัติและชลน่าน “ตอนนี้สองท่านอยู่ในสภามาค่อนข้างต่อเนื่อง ถ้าให้ประเมินคิดว่าตัวเองได้ทำอะไรมากอย่างที่ตัวเองคิดไว้ตอนที่เข้ามาสู่สนามการเมืองครั้งแรกไหม”

หมอบัญญัติเปิดเผยเป็นคนแรก “ผมจบหมอมา แต่ว่ากลไกทางจิตผมอาจจะไม่พอที่จะรับโหลดงานของแพทย์ได้ขนาดนั้นตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง คือผมไม่ได้เป็นหมอ 24 ชั่วโมง อาจจะเป็นหมอ 8 ชั่วโมง แต่เมื่อต้องมาทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นหมอ 24 ชั่วโมงแบบไม่มีเวลาพัก ผมต้องไปเติมเต็ม”

เขาเล่าว่าจากเหตุการณ์นั้นทำให้ต้องหลีกหนีสภาพการทำงานไปบวชนานถึง 3 เดือน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร จนกระทั่งวันท้าย ๆ

“ผมต้องไปบวชที่สวนโมกข์ 3 เดือน 2 เดือนผมก็ยังไม่ได้อะไรเลย ผมก็เป็นแต่หมอในจีวรของพระ พระ 80 กุฎิผมก็ต้องไปหิ้วน้ำเกลือ ฉีดยาให้ จ่ายยา ผมไม่ได้ท่องมนต์ไม่ได้เรียนธรรมมะ จนอีกเดือนผมจะต้องลาสิกขา ผมก็เลยฉุกคิดว่าผมต้องคว้าอะไรด่วน ๆ ออกไปทำงาน จะได้ไปบอกเขาว่าบวชแล้วได้อะไร ก็ได้คำงานให้สุข เป็นสุขเมื่อทำงาน อันนี้คือคติสวนโมกข์ ต้องยอมรับว่าผมบวชก็สวดมนต์ไม่เป็น ความจำมันเต็มตั้งแต่เป็นหมออยู่แล้ว อย่าคิดว่าหมอจะจำเก่ง เมมโมรีมันเต็ม แล้วพอผมเป็นผู้แทนเมมโมรีผมก็เต็ม ผมจำคนไม่ได้ ผมจำผู้นำก็ไม่ได้”

พิธีกรกระเซ้าว่าจำหัวหน้าพรรคตัวเองได้ไหม หมอบัญญัติก็รีบตอบว่าจำได้ทันที

“นาน ๆ ต้องซักพักนึง ผมเริ่มมีสมองเหลืออีก 50% คือสมองซีกขวา สมองส่วนศิลปิน คือเกิดขึ้นเมื่อเริ่มพบตัวเองว่าเรายังมีสมองในส่วนอารมณ์ซึ่งยังไม่เคยได้ใช้เลย เพราะเราติดเป็นสายวิทย์ที่จำสมองซีกซ้าย ใช้อะไรต้องมีเหตุต้องมีผล” หมอบัญญัติกล่าวต่อ “แต่การเมืองมันไม่ต้องมีเหตุ มันไม่ต้องมีผล มันอารมณ์ล้วน ๆ เราเล่นกับอารมณ์ เราบริหารอารมณ์ เราใช้สีหน้า แววตา ท่าทางของเรา ถ้าผมรูปหล่อกว่านี้ หนุ่มกว่านี้คงได้คะแนนมากกว่านี้อีก แต่นี่รูปก็ไม่หล่อ หนุ่มก็ไม่หนุ่ม ต้องใช้บริหารอารมณ์ เพราะการเมืองเป็นสินค้าที่ไม่มีรูปธรรมจับต้องได้”

เมื่อจุดหนึ่งอิ่มตัวกับการใช้สมองซีกขวา เขาจึงมองหาเส้นทางใหม่ ๆ “เผอิญท่านสาธิต ปิตุเตชะ หัวหน้าทีมก็กำลังหาผู้สมัครในเขตผมอยู่พอดี จู่ ๆ ก็โทรศัพท์มาว่าสนใจเป็นผู้แทนไหม ผมก็แปลกใจ เขาบอกเขาทำวิทยานิพนธ์ดูความนิยมว่ามีใครรู้จักใครมากที่สุด ก็รู้จักอีตาหมอบัญญัติ ผมก็แปลกใจว่าผมเป็นได้หรอ เขาก็บอก เป็นได้ เป็นผู้แทนจะได้เอามาแก้ปัญหาคนไข้ที่มาก”

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหา หมอบัญญัติให้มุมมองน่าสนใจว่าสำหรับเขาแล้ว ผู้แทนคล้ายกับศาลพระภูมิ

“ผู้แทนเป็นอะไรที่เหมือนศาลพระภูมิ ขออะไรที่จะดลบันดาลให้มันได้ผล ให้มันแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก็คือผู้แทน คนคิดอะไรไม่ออกก็ไปบนศาลพระภูมิ บนบานอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่สุดท้ายมาถึงตรงนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าผู้แทนช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้จริงหรือเปล่า มันมาตกอยู่ที่เดียวกันกับหมอภูมินทร์เหมือนกัน”

คำถามสองคำถามเดียวกันนี้ถูกโยนไปให้ชลน่าน ศรีแก้วในที่สุด เขาเปิดเผยว่าสำหรับเขาแล้วการเป็นผู้แทนก็ไม่ได้ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาให้ทุกคนได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะภาพการเมืองที่ไม่ได้ต่อเนื่อง ไม่เอื้อต่อพัฒนการด้านบทบาทของนักการเมือง

“ภาพการเมืองแบบนี้ตอบคำถามว่ามาเป็นผู้แทนแล้วทำอะไรได้มากมายหรือไม่ ก็ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเอง” หมอชลน่านกล่าว “ผมเข้ามาทีหลังเพื่อน คือ นพ เข้ามาเป็นผู้แทนก่อน ผมเข้ามาเป็นผู้แทนสมัยแรกนี่นพเป็นเลขารัฐมนตรีแล้ว เพราะว่าเขาอยู่ในสภามาก่อน ก็เป็นเลขาฯรัฐมนตรีสาธารณสุข ของคุณหมอสุรพงษ์ อาจารย์หมอเลี้ยบน่ะนะครับ ประสบการณ์เขาจะเยอะ ถามว่าทำอะไรได้มากไหม มันทำได้ระดับหนึ่ง แม้กระทั่งผมเองมาเป็นเลขารัฐมนตรี-รัฐมนตรีช่วย แล้วมาเป็นรมต. การช่วยเหลือก็ทำได้ระดับหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่เราหวังไว้ทั้งหมด”

กระนั้นแล้วก็ยังมีบางส่วนที่เทำให้เขาภูมิใจ

“แต่สิ่งหนึ่งที่มัเกิดการเปลี่ยนแปลงคือผมภูมิใจสุดคือ หนึ่ง ในเขตเลือกตั้งบ้านเรา เรามั่นใจว่ามันดูสะอาดขึ้น มันดุปลอดจากการใช้อิทธิพล ใช้เม็ดเงิน ใช้อำนาจบารมี ไปจัดการการเลือกตั้งนี่ดีขึ้น  เว้นแต่เลือกตั้งครั้งสุดท้ายนี่ต้องมาว่ากันอีกที นี่คือสิ่งที่ภูมิใจ ที่ทำให้พี่น้องประชาชน”

“ผมเป็นผู้แทน ถ้าเขาใช้ภาษาในโซเชียล เป็นผู้แทนตลาดล่าง หมายถึงว่าเราก็ต้องอยู่กับพี่น้องประชาชน รับทุกเรื่องได้ เข้ามาทำงานในสภาได้ ปีนี้เป็นปีที่มีโอกาสได้เป็นผู้แทนระดับบนกับเขาบ้าง เพราะว่ากลไกวิธีการเลือกตั้งมันทำให้อดีตผู้แทนที่เป็นอยู่ในบัญชีรายชื่อในพรรคของผมไม่มีโอกาสเข้า ก็ทำให้เราได้ทำงานมากขึ้น”

ต่อมาพิธีการยิงคำถามแก่ทั้ง 3 ท่านว่า “ภาพของนักการเมืองมักถูกสังคมมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพท้องถิ่น ในความเป็นจริงแล้วทั้ง 3 ท่านคิดว่าอะไรทำให้สังคมคิดอย่างนั้น”

หมอชลน่านกล่าวว่าในเขตของเขาที่จังหวัดน่านนั้น เดิมทีไม่มีอิทธิพล แต่ชาวบ้านเลือกคนเดิม ๆ จากผลประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้แทนทำมาให้

“สิ่งที่เป็นอยู่ที่น่านนักการเมืองไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลเลย โดยเฉพาะยุคที่ผมเข้ามา ผมตอบได้ว่ามุมมองอย่างนั้นไม่เกิดที่น่าน อาจจะเป็นจังหวัดเล็กเกินไปที่ตระกูลการเมืองจะเกิดการสร้างคำว่าตระกูลขึ้นมาแล้วยึดครองจังหวัด ภาพทางภาคเหนือ กับภาคกลาง และภาคใต้ต่างกัน คือที่ภาคกลาง ภาพที่อาจารย์พูดถึงอาจจะส่อหรือสื่อไปอย่างนั้นได้ เพราะต้องสร้างเป็นลักษณะเป็นตระกูล มีบารมี มีการดูแลหรือทำทุกอย่างเพื่อจังหวัดนั้น ก็คือเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้น ๆ ไปเป็นการบ่มเพาะมา”

“แต่ทางเหนือมีน้อย เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนผู้แทนจะมีการเปลี่ยนเยอะมาก ไม่ได้มีการผูกขาด ส่วนมนเป็นเพราะอะไรเผอิญผมไม่ได้สัมผัสตรง แต่เมื่ออยู่ในการเมืองมานานก็พอที่จะดูว่าระบบการเมืองสมัยก่อนที่อบรมบ่มเพาะกันมามันเกิดการสร้าง”

“สมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ปี 5 ที่อยู่ด้วยกัน สมัยนั้นผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ สนใจการเมืองตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ เคยไปช่วยคุณชนะ รุ่งแสงหาเสียง สิ่งหนึ่งที่ผมฟังแล้วติดหูจำได้ตลอด เขาบอกว่าเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใดก็ต้องเลือกเขา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเลือกเข้าไป ผมจะพูดดีไม่ดีเนี่ย เขาไปกิน เขาไปแสวงหาผมประโยชน์ ผมปรับคำพูดให้นุ่มที่สุดนะครับ ก็ต้องเลือกเขา เพราะเขาไปกินแล้วเขามาขี้ใส่บ้าน” หมอชลน่านขออภัยอีกครั้ง “นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขาจับต้องได้เป็นถนนหนทางต่าง ๆ ชาวบ้านเขามองว่ามันเป็นขี้ที่จับต้องได้ ก็ต้องเลือก เพราะเห็นมันเป็นผลงาน คือภาพมันก็อาจจะเป็นการบ่มเพาะมากเป้นอย่างนั้น ก็เลยมองว่าเป็นผู้มีผล มีอิทธิพล คำว่าอิทธิพลมันเป้นทั้งบวกทั้งลบนะครับ”

ส่วนหมอภูมินทร์ที่มีพื้นที่อยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษมองต่างออกไป ในเขตของเขามีทั้งผู้ทรงอิทธิพลทางการเงินและอิทธิพลจากธุรกิจสีเทา

“เท่าที่ผมสัมผัสมานะครับ ตั้งแต่ในอดีตอาจจะมีอิทธิพลแบบ ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก เป็นมือปืนอะไรแบบนี้ พอมาช่วงหลัง ๆ มันก็มีการเปลี่ยนรูปแบบ มีอิทธิพลในแง่ของ ทางการเงิน จากากรที่เขาทำ ดำเนินชีวิตในธุรกิจสีเทาทั้งหลาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น”

“อย่างน้อยที่สุดบรรดาคนที่เขาเข้าไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นอบจ. ส่วนใหญ่ก็อยู่กับระบบการประมูลฮั้วงาน หากินในช่องทางที่ผิดกฎหมายล้วก็ร่ำรวย ร่ำรวยแล้วก็เอาอำนาจเงินมาใช้เป็นอิทธิพล แม้กระทั่งนักกการเมืองใหญ่ก็มีลักษณะของครอบครัวนักการเมือง ซึ่งใช้อิทธิพลทางการเงินจากธุรกิจสีเทาทั้งหลาย ดังนั้น การที่คนจะมองว่าการเมืองในต่างจังหวัดก็เต้มไปด้วยบรรดาผู้มีอิทธิพล ผมก็ต้องยอมรับว่ายังเป็นเรื่องจริงในปัจจุบันเท่าที่ผมเห็นส่วนใหญ่ อาจจะไม่มีที่น่านหรือที่ระยอง”

สุดท้้าย หมอบัญญัติตีความคำว่าอิทธิพลในแง่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้ก็สร้างอิทธิพลบางรูปแบบได้

“ผมมี 7 พี่น้อง แต่พี่น้องอยู่จังหวัดอื่นหมดเลย ผู้กำกับเดชาบอกว่าผมเป็นลูกคนจีนที่ เป็นตระกูลที่มีชื่อเสียง เรียกว่าเป็นคนตระกูลดัง แต่ความจริงตระกูลผมมีผมคนเดียวอยู่ในพื้นที่ พี่น้อง 6 คนก็อยู่ต่างประเทศบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง กรุงเทพบ้าง ผมเป็นคนไม่มีญาติที่เป็นสายตรง ก็เรียนหนังสือประถม มัธยมที่นั่น ก่อนที่จะมาเข้าเตรียมอุดมแล้วก็มาเรียนแพทย์ศิริราชอยู่กับเพื่อนทั้งสามคน พราะฉะนั้นจะเรียกว่าผมเกิดจากนักการเมืองที่มีอิทธิพลก็คงไม่ได้”

“แต่ว่าถ้าผมมีอิทธิพลที่เคยเป็นหมอดูแล จังหวะที่เหมาะกับชะตาผม ก็คือผมอยู่ในช่วงที่พื้นที่ผมขาดแคลนแพทย์”

“ผมก็อยากจะตรวจคนไข้ให้ดีที่สุด ให้มากที่สุดให้ประทับใจที่สุด ผมก็ว่าสิ่งนี้แหละคืออิทธิพลต่อผู้ป่วย ผมว่าถ้าผมไม่ได้เป็นหมอ ผมจะขึ้นมาเป็นผู้แทนก็คงไม่ง่าย ถามว่าเงินมีผลต่อการเป็นผู้แทนไหม มีผล ทั้งกระแส ทั้งกระสุน ต้องใช้จ่าย ทุกอย่างต้องใช้จ่าย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีเงินไม่มีทองก็คงจะขึ้นมาเป็นผู้แทนไม่ได้”

คำถามต่อมาโยงมาจากเนื้อเรื่องในสารคดี ชะตาธิปไตย บรรยากาศการหาเสียงของส.ส.พื้นที่ทำให้เรามีโอกาสเห็นซองทำบุญบ่อยครั้ง นำมาสู่การตั้งคำถามว่าเงินเดือนส.ส.พอหรือไม่กับการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประชาชน

“ผมคิดว่า ผู้แทนมีแต่เงินเดือนแต่ไม่มีงบดำเนินการ ค่ารถก็อยู่ตรงนั้น ค่าที่จะไปใส่ซอง 3 ร้อยบาท ผมที่ระยองสองร้อยบาทนะครับก็ต้องทำให้มันพอ”  หมอบัญญัติเปิดเผยว่าหากผู้แทนเป็นคนที่มีรายได้หลายทางก็จะช่วยได้ ส่วนตนเป็นหมอเป็นมีเพียงรายได้ของหมอมาเพิ่มจากเงินเดือนผู้แทน “เผอิญผมอาจจะเป็นหมอที่เป็นส.ส.ด้วย ผมก็ตรวจคนไข้เสร็จแล้วก็มางานให้ทัน จะมาบ่ายสองก็มาไม่ทันเพราะคนไข้ยังไม่หมด ก็ต้องตรวจให้จนหมด ก็ยังมีอาชีพ อย่างเช่น พูดติดตลกว่าหมอดูดูว่าผมปลูกยางพาราก็ไม่ได้ ปลูกทุเรียนก็ไม่ได้ จะปลูกได้ยังไง ก็ผมไม่มีที่ดินแปลงเกษตรที่จะมีผลผลิตอย่างอื่น ทำโกดังก็ไม่ได้ ทำอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ คืออาชีพหมอที่คล้องสเตปแล้วตรวจคนไข้ทำให้ผมยังมีอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง ถ้าคนไหนลงผู้แทนแล้วมีฐานะมีความพร้อมเขาก็จะเป็นได้ง่าย”

พิธีกรหันไปถามหมอภูมินทร์ว่า พรรคของเขาใส่ซองทำบุญเพียง 200 บาทพอแล้วหรือไม่

“เขา(ชาวบ้าน)จะไม่ว่าแน่นอน ตอนเจอหน้าเรา” ภูมินทร์กล่าว “แต่พอเรากลับไปแล้วนั้น จะเป็นอย่างไร เราไม่รู้อยู่แล้ว เพราะว่าเวลาเขาเจอหน้าเรา เขาดีใจ เงินมากน้อยเขาไม่คิด เขาดีใจที่เราไป”

ส่วนเงินเดือนส.ส. ก็ยืนยันเหมือนหมอบัญญัติว่าไม่พอ “ในพื้นที่แต่ละพื้นที่ เดือนหนึ่งจะต้องมีคนตายอย่างน้อยก็ 150 คน ถ้าเอาค่าใส่ซอง 300 บาท คูณก็รวมแล้ว 15,000  บาทค่าน้ำมันรถเดินทางแล้วก็ เงินได้เจ็ดหมื่นกว่าบาทนี่หมดแน่นอน นี่ยังไม่นับค่าอย่างอื่น ดังนั้นการเป็นผู้แทนเงินเดือนไม่พอ แต่ผู้แทนโดนส่วนใหญ่เขาก็มีรายรับอื่น ๆ มาเสริมมาช่วยในการทำกิจกรรม””

คำถามสุดท้าย ทั้ง 3 คนเข้ามาในสนามการเมืองในช่วงที่การเมืองค่อนข้างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ประชาธิปไตยอยู่ในสถานะที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่รู้ว่าทหารจะยึดอำนาจอีกหรือเปล่า ส.ส.แต่ละท่านรู้สึกว่าการที่เข้ามาเป็นส.ส. ตัดสินใจผิดไหม? และจะยังเข้ามาเป็นส.ส.ไหมหากรู้ว่าจะมีรัฐประหารบ่อยขนาดนี้

ชลน่านเริ่มแบ่งปันประสบการณ์อันตรายที่พบเจอระหว่างหาเสียง

“เข้ามาเป็นไหมมันตอบค่อนข้างยาก แต่ผมตอบได้ว่าเมื่อเราตัดสินใจมาอยู่ในสภาวะอย่างนี้ก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบพี่น้องประชาชนไป ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะแปรปรวนไปอย่างไร บางคนก็ตัดสินใจที่จะออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจสู้”

“มันเป็นเงื่อนไขที่บางครั้งมันถอยไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่ากติกาเป็นอย่างนี้ก็ต้องสู้ หลายคนก็ด่าผมนะครับว่า แม้กระทั่งมีผู้แทนจากสถานทูตไปสัมภาษณ์ผมที่สำนักงานว่ารู้ว่ากติกาเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงยังสู้อยู่ ผมก็ตอบได้เพียงแต่ว่า ถ้าเรายิ่งไม่รู้เรายิ่งแพ้ ถ้าเราสู้เรายังพอมีโอกาส”

“มันกลับมาหนักอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาปีสุดท้ายนี่ ปีที่เลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา ก็เจอสภาวะที่ว่าตั้งแต่วันที่ 20 ผมหาเสียงไม่ได้ ตั้งแต่คืนวันที่ 20 มันมีข่าวออกมาจากแหล่ง ทำให้ทีมงานผม ตัวบอดี้การ์ดเอง ตำรวจที่ดูแลขอร้องว่าอย่าออกจากสำนักงาน”

“มันเป็นข่าวมาว่าจะมีอันตราย เขาบอกว่าแม้เข้าเป็นที่ 2 เขาก็เป็นส.ส.ได้ คุณจะเอาเงินไปทำไมตั้ง 7-8 ล้าน เอาแค่ล้านเดียว ไม่มีหมอชลน่าน คุณก็เป็นผู้แทนได้ อะไรพวกนี้นะครับมันเป็นสิ่งที่ทำให้ เมื่อก่อนหน้านั้นไม่ค่อยมี เราหาเสียงอย่างเปิดเผย  แต่ช่วงหลังตั้งแต่วันที่ 20 ผมหาเสียงไม่ได้แล้ว แล้วเลือกตั้งวันที่ 24 ต้องเลือกไปตอนบ่าย 2 แล้วก็มีคนระกบหน้าประกบหลังไปเข้าคูหา กา ขึ้นรถ ส่งสนามบิน ผมต้องมาหลบอยู่ที่กรุงเทพฯ จนมีการประกาศผลการเลือกตั้ง”

“ แต่ว่า 2 เขตที่มีผู้สมัครแตกต่างกัน การปฏิบัติในพื้นที่ก็ต่างกันลิบลับเลย ของพี่น้อย สิรินทร (รามสูตร) วันเลือกตั้งเขาก็ยังเดินไปเดินมา ไปกินก๋วยเตี๋ยวได้ ของผมไปไหนไม่ได้เลย มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เป็นคู่แข่งเรา ผมไม่ได้จะใส่ร้ายใคร แต่เราก็ต้องป้องกันตัวเอง”

“แต่สิ่งหนึ่งที่มันหนัก ที่เราว่าคือการใช้อำนาจ ใช้เม็ดเงิน ใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นกลไกที่ทำให้มันค่อนข้างลำบากมาก อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง ถ้ามันเป็นอย่างนี้ต่อไป คนที่มาเป็นผู้แทนก็ลำบาก”

ส่วนภูมิทร์ก็ยืนยันว่าแม้อาชีพนัการเมืองจะไม่ได้มั่นคงเหมือนอย่างเคย เขาก็น่าจะยังคงเข้าสู่เส้นทางการเมืองอยู่ดี ทั้งนี้ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่ทหารเข้ามาบริหารประเทศ แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่พรรคพลังประชารัฐก็ตาม

“ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่มัธยม มาเป็นนักศึกษาแพทย์ปีหนึ่งก็เคยเป็นยุวประชาธิปัตย์ แต่เป็นอยู่ 4 ปีก่อนหมอชลน่าน ไปช่วยคุณพิจิตต รัตกูล หาเสียงอยู่ช่วงนั้นกับคุณสมัคร ดังนนั้นความคิดที่อยากจะทำงานช่วยประชาชนก็ฝังอยู่ในตัวมา”

“มาถึงวันนี้ถ้าถามว่า รู้ว่าถ้าการเมืองจะมีรัฐประหารอะไรบ่อย ๆ จะยังคิดเข้าสู่การเมืองไหม ก็ยังคิดนะครับ ตราบใดที่เรายังคิดที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ แล้วก็ประชาชนเขายังให้การตอบรับอยู่เราก็ยังหวัง”

“จริง ๆ เมืองไทยก็อยู่ที่ รัฐประหารจะหมดไปได้ก็อยู่ที่นักการเมืองกับประชาชน ถ้านักการเมืองทำในสิ่งที่สร้างศรัทธาได้แล้วประชาชนมีความเข้มแข็ง รัฐประหารก็เกิดได้ยาก แต่ในสังคมไทยตตั้งแต่อดีตมาจนถึงวันนี้ นักการเมืองเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศรัทธาของประชาชนก้ำกึ่งกัน ฝ่ายหนึ่งก็ชอบ อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ชอบ เปิดโอกาสให้ฝ่ายทหารเข้ามาได้ แต่ถ้าถามเราก็อยากให้ทหารถอยไปทั้งหมดแหละครับว่า เพราะทหารไม่ควรมีหน้าที่มาบริหารประเทศควรให้นักการเมืองที่มาจากประชาชนเลือก ทหารถ้าคิดจะเข้าสู่การเมืองก็ต้องมาแบบพลเอกเชาวลิต ก็คือลาออกแล้ว มาให้ประชาชนเขาตัดสินใจเลือกตั้ง”

ส่วนบัญญัติมองต่างว่าบทบาทของนักการเมืองจำเป็นต้องมีเนื่องจากทำหน้าที่เป็นหมากในการต่อสู้เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงกายภาพ

“นักการเมืองคือคนที่ตัดสินใจ ในการบริหารทรัพยากร พวกเราเป็นนักการมือง แท้ที่จริงแล้วมันก็คือเป็นหมากที่มาให้ประชาชนเดินเล่นเพื่อป้องกันไม่ให้คนเกิดปะทะกัน เกิดใช้แรงใช้กำลัง”

“งั้นไม่ว่าในสถานการณ์อย่างไร ถ้ามีการเลือกตั้ง พวกเราก็ต้องลงมาให้เป็นหมาก เพราะสุดท้ายแล้วเขาจะใช้ตัวเราเป็นผู้เล่น เราจะดี เราจะขึ้น เราจะลง บางครั้งเราไม่ได้ชั่วอย่างที่เขาคิดว่าเราชั่ว แล้วเราก็ไม่ได้ดีอย่างที่เราดี เราเป็นผลผลิตของความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวัง เราเป็นผลผลิตของตัณหา เพราะเราเป็นโลกียธรรม”

“อย่าลืมเลยนะครับว่านักปกครองตั้งแต่สมัยไหนมาก็รบชนะมาทั้งนั้น การรบก็มีการบาดเจ็บล้มตาย แต่เราก็ไม่เรียกรนักรบว่าฆาตกรนะ เพราะฉะนั้นการสู้กันด้วยคะแนน เขาเอานักการเมืองมาแก้ไขสิ่งที่ทั้งสองฝั่ง ตัดสินใจว่าเงินก้อนนี้จะเอาไปทำถนน หรือเอาไปทำสะพาน คนเอาสะพานก็ไม่ชอบคนทำถนน แต่สุดท้ายแล้วคนนี้แหละจะเป็นผู้รับกรรมของสิ่งทั้งหลาย นักการเมืองต้องลงมาสู้กัน ให้ออกมาเป็นเรื่องของเกมที่เขาออกแบบมา”

“แม้ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ความเป็นส.ส.เขตผมยังสามารถที่จะแหกปากบอกปัญหาความเดือดร้อนของทุกกระทรวงได้ เสรีภาพนี้ยังอยู่ กรรมาธิการที่ตั้งมาไว้ 35 คณะ ผมเอาเรื่องช้างป่า ผมก็มอบให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

“ผมยื่นได้ทุกเรื่อง ความจริงการเป็นผู้แทนมันมีเสน่ห์มาก มันสามารถที่จะนำปัญหาทุกเรื่องของประชาชนมอบให้ทุกกระทรวงผ่านประธานสภา และมอบกรรมาธิการอีก 35 คณะ ทุกอย่างก็ต้องกำกับให้เกิดการแก้ให้ได้ แม้นแก้ไม่ได้ในนาทีนี้ ปีหน้า ชาติหน้าก็ต้องได้แก้ ก็คือการส่งถ่ายความรู้สึกอึดอัดคับข้องออกไปจากตัว นี่เองจิตวิญญาณผู้แทน”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า