SHARE

คัดลอกแล้ว

เวลาพูดถึงผู้กำกับหนังที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการทำหนัง แทบทุกคนจะนึกถึง ปีเตอร์ แจ็คสัน กับ เจมส์ คาเมรอน ก่อนเป็นชื่อแรกๆ แจ็คสันโดดเด่นกับ ไตรภาค Lord of the Rings (2001-2003) ซึ่งนำเทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์มาใช้ในการสร้างตัวละคร กอลลัม ให้กลายเป็นตัวละครระดับตำนาน ส่วน คาเมรอน ก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกตื่นตะลึงไปกับหุ่นยนต์เหล็กไหล T-1000 ใน Terminator 2: Judgement Day (1991) รวมถึง Avartar (2009) ที่สร้างกระแสหนัง 3 มิติฟีเวอร์ไปทั่วโลก

ในทางกลับกัน อัง ลี อาจไม่ใช่ชื่อที่ผู้คนจะคิดถึงมากเท่าไหร่ในงานสายนี้ เขาอาจได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กำกับจีนที่สามารถทำหนังได้หลากหลายสัญชาติ หลากหลายแนว ไม่ว่าจะหนังอังกฤษย้อนยุคอย่าง Sense & Sensibility (1995), หนังจีนกำลังภายใน Crouhing Tiger, Hidden Dragon (2000) หนังซูเปอร์ฮีโร่ Hulk (2003) และหนังเกย์คาวบอย Brokeback Mountain (2005) เป็นต้น แต่เขาอาจไม่ได้เป็นเซียนสายเทคโนโลยีตัวพ่อเท่าแจ็คสันกับคาเมรอน ถึงจะเคยกำกับ Life of Pi (2012) ที่ได้รับการยกย่องในงานภาพ 3 มิติ และการใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์สร้างเจ้าเสือ ริชาร์ด พาร์คเกอร์ ได้ดูสมจริงมากๆ จนได้รับรางวัลออสการ์สาขาวิชวลเอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม แต่ผลงานหลังจากนั้นอย่าง Billy Lynn’s Long Halftime Walk (2016) ที่เขาพยายามชูจุดเด่นว่าถ่ายทำเป็น 3 มิติแบบ High Frame Rate (HFR) หรือใช้เฟรมเรตของภาพสูงถึง 120 เฟรมเรตต่อ 1 วินาที ช่วยให้ภาพมีความไหลลื่น ดูนวลตา และให้ความรู้สึกเหนือจริง 

หากทว่าพอหนังเข้าฉาย หนังกลับได้เสียงตอบรับด้านลบมากกว่าเนื่องจากภาพที่ออกมามันดู “ปลอม” เกินไป (หนังเรื่องแรกที่ฉายแบบ HFR ที่เข้าฉายในวงกว้างคือ The Hobbit: An Unexpected Journey (2012) ของผู้กำกับปีเตอร์ แจ็คสัน แต่เรื่องนั้นเฟรมเรตจะอยู่ที่ 48 เฟรมเรต ก็มีข้อตำหนิในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน)

และเขายังไม่เข็ด หนังเรื่องใหม่อย่าง Gemini Man ยังคงทุ่มทุนสร้างด้านนี้ และยังใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์สร้าง วิล สมิธ วัยหนุ่มขึ้นมาใหม่ทั้งตัวเพื่อร่วมฉากและต่อกรกับ วิล สมิธ ที่แก่กว่า ฟังดูแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าทึ่งมาก แต่หนังก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ต่างจากเรื่องก่อนเท่าไหร่ ส่วนด้านการเงิน หนังลงทุนไปมหาศาลกว่า 140 ล้านดอลลาร์ แล้วได้เงินจากทั่วโลกกลับมาเพียง 170 ล้านเท่านั้น ซึ่งพอหักเปอร์เซ็นที่ต้องแบ่งกับโรงหนัง นอกจากกำไรจะไม่ได้ ยังขาดทุนขั้นต่ำถึง 70 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ทำไมหนังที่ถ่ายทำและฉายแบบ HFR ที่ 120 เฟรมเรตถึงมีปัญหา? ตามปกติของสายตามนุษย์จะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวด้วยเฟรมเรตที่ประมาณ 24-30 เฟรมเรตต่อ 1 วินาที (หรือเห็นภาพนิ่ง 24 ภาพเรียงต่อกันจนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว) แต่ทุกวันนี้เราสามารถเสพคอนเทนต์ที่ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิทัลซึ่งจะมีค่าเฟรมเรตสูงกว่าเดิมได้ปกติอยู่ที่ 60 เฟรมเรต ผลที่ออกมาคือเราจะเห็นภาพเคลื่อนไหวนุ่มนวลมากขึ้น 

หากเราถ่ายภาพน้ำตกด้วยจำนวนเฟรมเรตที่ 60 ไปจนถึง 120 เราจะสังเกตเห็นจังหวะการตกของหยดน้ำที่ละเอียด ชัดเจน และไหลลื่นขึ้นกว่าแบบ 24-30 เฟรมเรต ซึ่งไม่มีทางที่ดวงตาปกติของมนุษย์จะมองเห็นแบบนั้นได้ หากไม่ใช่เทคโนโลยีเข้าช่วย และยิ่งเฟรมเรตมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีความละเอียดของภาพมากขึ้นเท่านั้น 

  แต่พอเฟรมเรตเพิ่มสูงเป็น 120 เฟรมเรต ซึ่งถือว่าสูงเกินกว่าค่าปกติที่สายตามนุษย์คุ้นชิน ภาพที่ออกมานุ่มนวลเกินไปจนดูหลอกตา และถ้าดูนานๆ จะยิ่งปวดตา แถมถ้าหากเอามาใช้ในการทำหนัง มันอาจดึงดูดความสนใจไปจากเนื้อหาของหนังได้ กรณีของ Billy Lynn และ Gemini Man ก็เป็นไปในทางนั้นเต็มๆ ดูเหมือนคราวนี้ผู้กำกับระดับ อัง ลี ดูจะเอาเวลาไปทุ่มให้กับเรื่องของเทคโนโลยีมากกว่าการทำเนื้อหาให้แน่นปึ้ก

ทำไมจู่ๆ อัง ลี ถึงหันมาทุ่มเทกับเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้? เราอาจต้องย้อนกลับไปสมัยที่เขาทำหนังซูเปอร์ฮีโร่ยักษ์เขียวอย่าง Hulk ด้วยความเป็นหนังบล็อคบัสเตอร์ฟอร์มใหญ่ มันจึงมาพร้อมกับงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ระดับมหึมา นั่นน่าจะถือเป็นครั้งแรกที่เขาต้องข้องแวะกับเทคโนโลยีการสร้างหนังที่ยุ่งยากขนาดนี้ แต่ตอนนั้นเขายังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะยังยึดติดกับเรื่องของการถ่ายหนังด้วยกล้องฟิล์มมากกว่า 

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า เขาได้เห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวไกลมากขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงตัดสินใจว่าถ้าไม่เริ่มหันหน้าเข้าหามันในตอนนี้ ก็อาจจะสายเกินไป

“เรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่สื่อชนิดใหม่ เราจะไปแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเสี่ยงทุ่มสุดตัวล่ะ? คำตอบของผมคือ ผมอายุมากขึ้นๆ ทุกวัน อาจจะดูเหมือนเร่งรีบไปนิด แต่ถ้าคุณมัวแต่รอให้เทคโนโลยีค่อยๆ พัฒนา มันจะต้องใช้เวลานานมาก ผมยอมผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เจ็บปวดเพื่อให้เกิดการพัฒนา และสร้างอะไรสักอย่างให้คนดูได้ตระหนักถึงเรื่องพื้นฐานที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจะดีกว่า”

การประดิษฐ์นวัตกรรม มุ่งหน้าไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหนก็ถือเป็นเรื่องดีต่อวงการในภาพรวม เพราะมันอาจจะเป็นการบุกเบิกสิ่งดีๆ ขึ้นมาประดับวงการ ให้ใครต่อใครสามารถนำมาพัฒนาต่อได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่าการหันหน้าสวนกระแสของ อัง ลี จะให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า หรือจะออกมาสูญเปล่า? เพราะอย่าง เจมส์ คาเมรอน ที่เป็นตัวพ่อของวงการเทคโนโลยีผลิตหนังล้ำสมัยเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำหนังโดยใช้เฟรมเรตที่ 120 เฟรมเรตทั้งเรื่อง แม้ว่า Avartar ภาคใหม่ที่เตรียมจะออกฉายอีก 2 ปีต่อจากนี้เขาถ่ายทำโดยใช้ HFR เช่นกัน แต่คาเมรอนยืนยันว่าจะใช้เพียงแค่ในบางฉากเท่านั้น เพราะมันไม่เหมาะกับการใช้ในหนังทั้งเรื่องจริงๆ

ทัศนะของเขาอาจจะผิดก็ได้ แต่ในเมื่อเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่าง คาเมรอน เป็นคนคอมเมนต์เรื่องนี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องรับฟังไว้ด้วย แต่ดูท่าแล้วอะไรก็คงมาหยุดยั้งความคิดที่จะพุ่งไปข้างหน้าของ อัง ลี ไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมาดูว่าผลงานชิ้นโบว์แดงนี้จะผลิดอกออกผลมาเป็นอย่างไรในอนาคต

ส่วนในบ้านเรา ณ ตอนนี้ Gemini Man เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว กระแสตอบรับที่ออกมาเบื้องต้นมีทั้งฝ่ายที่ชื่นชอบ HFR และความสามารถของ อัง ลี ในการใช้ประโยชน์จากของเล่นใหม่นี้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า HFR ยังต้องปรับปรุงอีกมากพอตัว และน่าผิดหวังที่หนังของ อัง ลี มัวแต่ให้ความสำคัญกับสไตล์มากกว่าเนื้อหา

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เมื่อคนไทยไม่มีโอกาสดูหนังเข้าฉายในระบบ HFR 120 เฟรมเรตของจริง เพราะจากรายงานของค่ายหนัง UIP ระบุว่า หนังจะเข้าฉายในระบบ 3D+ ซึ่งจะฉายเพียง 60 เฟรมเรตเท่านั้น นั่นหมายความว่าเราจะยังไม่ได้เข้าถึงศักยภาพของหนังอย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะการจะฉายหนังเรื่องนี้ในระบบสมบูรณ์พร้อมมีค่าใช้จ่ายสูงปรี๊ด และอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และหากใครหวังรอดูหนังเรื่องนี้ผ่านแผ่นบลูเรย์ หรือผ่านระบบสตรีมมิ่ง เทคโนโลยีในปัจจุบันก็ยังต้องรอกันอีกยาว เนื่องจากปัจจุบันแผ่นบลูเรย์ยังไม่สามารถบรรจุหนัง 3 มิติแบบ 4K และมีเฟรมเรตสูงถึง 120 เฟรมเรตได้พร้อมกัน (ถ้าใครอยากดูอาจต้องได้อย่างแล้วเสียอย่าง เช่น เลือกแบบ 3 มิติ แต่ไม่ได้ HFR หรือเลือก HFR แต่ไม่ได้ดู 3 มิติ) 

ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตภายภาคหน้า เราจะมีโอกาสได้ดู Gemini Man รวมถึงหนังเรื่องใหม่ของ อัง ลี ในระบบนี้ตามที่ควรจะได้ดูจริงๆ ไม่ว่าจะผ่านทางไหนก็ตาม เพื่อจะตัดสินได้ว่า อัง ลี มาถูกทางแล้วจริงๆ หรือไม่ ใครจะไปรู้ เมื่อผู้คนสามารถเข้าถึง HFR ในวงกว้างได้มากกว่านี้ ในอนาคตภายภาคหน้า มันอาจจะกลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกจริงๆ ก็ได้ แม้ไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ และจะมาถึงจริงหรือไม่ก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า