SHARE

คัดลอกแล้ว

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ จัดวันแรงงานข้ามชาติสากล ปี 2562 เนื่องในวันที่ 18 ธันวาคมเป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล”(International Migrants Day) ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ โดยมีการแสดงวัฒนธรรมลูกแรงงานข้ามชาติและการเสวนาเรื่อง “สถานการณ์แรงงานไทยแรงงานข้ามชาติ ต่อสิทธิการร่วมตัวเจรจาต่อรอง” ดำเนินรายการโดย โรยทราย วงศ์สุบรรณ ผู้ประสานงานฟรีดอมฟัน

ภายในงานมีการพูดถึงประเด็นแรงงานข้ามชาติหลายประเด็นด้วยกัน ตั้งแต่สิทธิแรงงานข้ามชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ การจัดตั้งสหภาพแรงงาน ปัญหาแรงงานนอกระบบไม่ได้รับความคุ้มครอง ปัญหาการรับรองรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และปัญหาการฟ้องปิดปากแรงงานจากนายจ้าง

สมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มีความสำคัญและสมควรได้รับการดูแลจากรัฐบาล แต่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองสิทธิแรงงาน ทำให้นายจ้างกดขี่และเอารัดเอาเปรียบคนงานตลอดมา โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ จนประเทศไทยถูกต่างชาติตราหน้าว่าเป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ ล่าสุดถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา

“ที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยผลักดันให้รัฐบาลรับรองสิทธิตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง แต่ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองทั้งที่ประเทศในอาเซียนรับรองกันหมดแล้ว ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิตั้งสหภาพ ถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิแรงงาน และอาจทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษจากอีกหลายประเทศ เราจึงต้องขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้รัฐบาลรับรองสิทธิตามมาตรฐานสากลต่อไป โดยเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะไม่รับรองอนุสัญญาแรงงาน แล้วยอมโดนกีดกันทางการค้า” สมพรกล่าว

สุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ ประธานสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ กล่าวว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 ไม่ได้ห้ามแรงงานข้ามชาติในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่จะเป็นกรรมการไม่ได้ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้เจรจาต่อรอง ส่วนการร่วมเจรจาหารือและการเข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องนั้นกฎหมายไม่ได้จำกัดไว้ แต่ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติจะมองเรื่องความมั่นคงในการทำงานมากกว่าการใช้สิทธินี้

“การมีกฎหมายที่ไม่คงเส้นคงวาและไม่ครอบคลุม ทำให้เกิดการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานจึงต้องทำงานร่วมกันและให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ โดยต้องมีองค์กรภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจเข้าไปเป็นเครือข่าย เพื่อให้การขูดรีดและการเอารัดเอาเปรียบลดลง” นายสุพจน์กล่าว

อองจอ ประธานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า การไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทำให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในไทยถูกเอารัดเอาเปรียบนานา ไม่ได้สิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้ เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานก็เข้าไม่ถึงประกันสังคม ทางองค์กรจึงจะเป็นตัวแทนในการต่อรองกับภาครัฐเพื่อรับรองสิทธิแรงงานข้ามชาติให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

“ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในโรงงานแห่งหนึ่งที่มีคนงานราวหนึ่งหมื่นคน โดยใช้ช่องทางตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ รวบรวมแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในโรงงานนั้นได้ 2,300 คน มี 6 ข้อเรียกร้องและสำเร็จ 2 ข้อ เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ติดขัด เช่น แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเป็นคณะกรรมการสหภาพได้ การต่อรองก็มีสถานทูตเข้ามายุ่งเกี่ยวทำให้ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ทั้งหมด” อองจอกล่าว

สุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เผยว่า แรงงานนอกระบบมี 2 กลุ่ม คือ รับงานมาทำที่บ้านและอาชีพอิสระทั่วไปที่ไม่มีนายจ้าง โดยล่าสุดมีตัวเลข 21.6 ล้านคน แต่ปัจจุบันน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้ แต่กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบหลายมาตรายังคุ้มครองไม่ได้จริง

“แรงงานนอกระบบไม่มีสิทธิตั้งสหภาพ เราแก้ปัญหาโดยการรวมกลุ่มอาชีพ ยกระดับเป็นเครือข่ายอาชีพและเครือข่ายระดับพื้นที่ ระดับภาค จนเป็นสมาพันธ์แรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันสิทธิการเข้าถึงประกันสังคมและกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ใช้ได้จริง เช่นสิทธิการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ สิทธิการรักษาผลกระทบที่เกิดจากการทำงาน และมีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติ เช่น ผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ลูกเข้าไม่ถึงการศึกษา และมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่ข้อเรียกร้องต่อไป” สุจินกล่าว

ปีย์ กฤตยากีรณ ผู้จัดการโครงการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย (SC) กล่าวว่า เมื่อมีการเรียกร้องให้รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ทำให้แรงงานต่างชาติตั้งสหภาพแรงงานได้ มักมีความกังวลว่าจะให้สิทธิแรงงานข้ามชาติเท่ากันหรือมากกว่าแรงงานไทยไม่ได้ ทั้งที่แรงงานข้ามชาติไม่ใช่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหนักที่สุดจากการไม่มีอนุสัญญานี้ เพราะแรงงานนอกระบบเองก็ไม่มีสิทธิเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐก็ถูกห้ามไม่ให้รับเงินสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเอกชน เมื่อกฎหมายไม่รับรองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองทำให้แรงงานถูกละเมิด จึงต้องเข้าใจว่าอนุสัญญานี้ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะแรงงานข้ามชาติ แต่จะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดแรงงานไทยด้วย

“เดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีข่าวว่ากระทรวงแรงงานสนับสนุนให้แรงงานไทยในสวีเดนเข้าร่วมสหภาพแรงงานสวีเดน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานไทย เท่ากับเขาเปิดโอกาสให้คนไทยในฐานะแรงงานต่างชาติเข้าร่วมสหภาพแรงงานและมีสิทธิเท่าแรงงานสวีเดน ขณะที่แรงงานข้ามชาติในไทยไม่มีสิทธิตั้งสหภาพ หากบริษัทนั้นไม่มีแรงงานไทยก็จะไม่มีสหภาพให้แรงงานข้ามชาติเข้าร่วม” ปีย์กล่าว

ด้าน ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สิทธิการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าเมื่อแรงงานใช้สิทธิแล้วกลับถูกคุกคามจนถึงถูกเลิกจ้าง ระยะหลังมีการคุกคามรูปแบบใหม่คือใช้กฎหมายคุกคามคนที่ออกมาเรียกร้องยื่นข้อร้องเรียน หรือการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP) บริษัทเอกชนใช้วิธีนี้เพื่อให้คนที่ร้องเรียนยุติการแสดงความเห็นและไม่พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างความกลัวด้วยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่งผลถึงระดับสังคม เพราะการจะพัฒนาประเทศได้ คนต้องออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง

“การฟ้องปิดปากกรณีแรงงานในไทยมีจำนวนมากเช่นกัน นอกจากสร้างความกลัวให้ลูกจ้างแล้วยังสร้างความกลัวให้คนที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิแทนลูกจ้างด้วย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่จะไม่รู้กฎหมาย เช่นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟาร์มไก่ดำเนินคดีนักวิชาการ นักปกป้องสิทธิ และสื่อมวลชน จากการที่แรงงานข้ามชาติยื่นข้อเรียกร้องต่อ กสม.” ณัฐธิดากล่าว

จากนั้น เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ ร่วมกันแถลงข่าวโดยระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอื่นๆ รวมกว่า 4 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างพลังการผลิตและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย แต่ยังคงพบการเอารัดเอาเปรียบแรงงานจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้ประกอบการ กระบวนการการนำแรงงานเข้าประเทศ หรือนายหน้า บริษัทจัดหางาน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงานข้ามชาติในการจ้างงานที่เป็นธรรมและมีคุณค่า (Decent work) เช่น การกดราคาค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ การทำงานในสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตรายและไม่ถูกสุขอนามัย ยังมีการบังคับใช้แรงงาน การจ้างงานแบบทาสสมัยใหม่ จนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

แม้รัฐบาลจะมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานให้หมดไป แต่แนวปฏิบัติยังไม่ชัดเจน ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ปัจจุบันนานาชาติกดดันประเทศไทยให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมประกาศว่าจะใช้มาตรการการกีดกันทางการค้ากับประเทศไทยกับสินค้าที่ละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเพราะจะกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าส่งออกรวมทั้งตัวแรงงานเอง

จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่ออนุญาตให้คนงานทุกคน มีสิทธิที่จะจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน มีสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ กฎหมายควรให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับสิทธิเหล่านี้ เพื่อให้คนงานสามารถใช้สิทธิเหล่านี้โดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือไม่ต้องถูกตอบโต้
  2. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้คนงานทุกคนทุกกลุ่มสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานอย่างมีเสรีภาพตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานในระดับสากล
  3. ขอให้รัฐบาลตรวจสอบค่าใช้จ่ายการนำเข้า MOU แรงงานข้ามชาติที่สูงเกินกว่าที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวกำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันยังมีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่เรียกเก็บเงินจากแรงงานที่เป็นจำนวนที่สูงกว่าพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้กำหนดไว้
  4. ขอให้ยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท และออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เพื่อประกันว่าคนงานและนักปกป้องสิทธิแรงงานจะไม่ตกเป็นเป้าการฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากมีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า