อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นด้วยแก้กฎหมายสมรสให้กลุ่มหลากหลายทางเพศได้จดทะเบียนเพื่อความเท่าเทียมกัน แต่มองการกระทำในรัฐสภาไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย
ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ Workpoint News กรณีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ “จูบกลางสภา” เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ กมธ.หลากหลายทางเพศฯ ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องเงื่อนไขการสมรสเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิทางเพศเท่าเทียวกันว่า
การชูประเด็นจดทะเบียนรับรองคนหลากหลายทางเพศ ตนเห็นด้วย เพราะตนสอนเรื่องเพศสภาพกับการเมืองก็เห็นด้วยว่า ถ้าคนสองคนผู้ชาย-ผู้ชาย, ผู้หญิง-ผู้หญิงอยู่ด้วยกันประดุจคู่ผัวตัวเมีย ถึงเวลาทำมาหากิน เวลาผ่านไปคน ๆ หนึ่งเกิดเสียชีวิตขึ้นมา มรดกของคนนั้นไม่ได้ตกไปสู่แฟนเขาที่เป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง แม้ทำพินัยกรรมให้ ก็จะถูกญาติพี่น้องที่เป็นทายาท เช่น พ่อแม่ พี่น้องก็จะมาฟ้อง ว่า เขามีสิทธิ์ในมรดกมากกว่าคนนี้ที่เคยมอบให้ ยังไงก็ต้องแบ่ง

(ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร)
ซึ่งต่างจากชายหญิงที่จดทะเบียนคนเป็นสามีภรรยาได้ครึ่งหนึ่งทันที เพราะฉะนั้นคนที่เป็นชายกับชาย หญิงกับหญิงรักกันอยู่กันมาหลายปีช่วยกันทำมาหากิน ถึงเวลาก็ต้องแบ่งมันไม่แฟร์เลยนะ ว่า ทางกฎหมายคุณไม่ได้ ไม่ได้อะไร เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความรักเพศเดียวกันมั่นคง ไม่มีอนาคตในแง่ความมั่นคงทางทรัพย์สมบัติ อีกอย่างเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจำเป็นต้องให้ญาติสนิท คนที่อยู่ด้วยไม่มีสิทธิ์เซ็น ต้องไปตามพ่อแม่ ญาติ ในแง่กฎหมายควรพิจารณาความเป็นธรรม ถ้าอยู่กันจริง ๆ ให้จดทะเบียนได้ไหม
“เวลาการที่คุณจะไปหาเสียงชูประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในเรื่องความหลากหลายทางเพศ แล้วคุณต้องไปจูบกันในสภา นั่นลูกศิษย์ผมเลยนะ เรียนกับผมด้วย เป็นคนที่เรียนเก่งมากเลย แต่ไม่จำเป็นนี่ แต่ถามว่าไอ้ความแรงมันก็ดันโดนใจวัยรุ่น วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เห้ยใช่เลย”
ศาสตราจารย์ไชยันต์ กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Workpoint News ในวันที่ 19 ธ.ค. 2562