โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ โคราช คนร้ายซึ่งมียศทหารจ่าสิบเอก นำปืนจากในค่ายทหาร ออกมาไล่กราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นที่สาธารณะ เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดและน่าหวาดกลัว และถ้าจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก ก็ต้องพูดถึงต้นตอของปัญหาของมันด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับกองทัพบก เนื่องจากทั้ง คน ปืน กระสุน และ ระบบการจัดการอาวุธในค่าย ล้วนเป็นผลผลิตและงบจัดซื้อจากกองทัพบกทั้งสิ้น เรามาคลี่ประเด็นหลักๆ ที่ต้องตั้งคำถามกลับไปให้กองทัพบก เป็นการบ้านที่กองทัพบกต้องจัดการ ทำให้สำเร็จ สำคัญกว่าคำพูดใดใด
เพื่อไม่ให้ทหารของประชาชน ออกมากราดยิงประชาชนอีก
ระบบรักษาความปลอดภัยของคลังอาวุธในหน่วยทหารทำไมปล่อยให้คนร้ายสามารถปล้นออกมาได้
ผมขออนุญาตให้ข้อมูลว่า ตามระเบียบรักษาการณ์คลังอาวุธในหน่วยทหารนั้น จะมีนายทหารที่ถือกุญแจ 3 นาย
- ผู้บังคับหน่วย (ผบ.พัน) จะถือไว้เอง 1 ดอก
- นายทหารสรรพาวุธประจำหน่วย ถือไว้ 1 ดอก
- นายทหารเวร ที่เข้าเวรประจำวัน ถือไว้เอง 1 ดอก
โดยหลักการจะต้องมาเปิด-ปิดประตูคลังอาวุธพร้อมกันทั้ง 3 คนจะขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ประตูจึงจะไขออกได้
และที่สำคัญจะมีสมุดบันทึก ที่ระบุวันเวลา ชื่อผู้เบิก จำนวนอาวุธปืน หรือกระสุน
หากหน่วยงานทหารนั้นๆ ไม่มีความเข้มงวดกวดขันการรักษาความปลอดภัย เรื่องเวรยาม มักจะฝากพวงกุญแจทั้งหมดไว้ที่นายทหารเวร เพื่อความสะดวกในการเปิด-ปิดประตู จะได้ไม่เป็นการรบกวนเวลาผู้บังคับบัญชาที่ยศสูงกว่าในการมาเบิกอาวุธเพื่ออกมาใช้ปฏิบัติการฝึก หรือภารกิจอื่นๆ
ในกรณีของคนร้ายที่ปล้นปืนออกมาได้นั้น ได้ใช้ความรุนแรงยิงพลทหารเข้าเวรรักษาการณ์ในวันนั้น และสามารถปล้นคลังอาวุธและนำเอาออกไปได้
จุดสังเกตเรื่องนี้ ถ้าจะพลาดจุดเดียวคือตรงป้อมตรวจรถเข้า-ออก ในวันดังกล่าวเป็นวันหยุด การที่ทหารประจำป้อมในวันนั้นขาดความเฉลียวใจ และคนร้ายอ้างว่ามาเบิกอาวุธให้นาย? หากทหารประจำป้อมรักษาการณ์ขอเอกสารอนุญาตที่ลงนามจากผู้บังคับบัญชาจากผู้ร้าย อาจถ่วงเวลาได้ แต่ท้ายที่สุดคนร้ายอาจใช้ความรุนแรงตั้งแต่จุดป้อมรักษาการณ์นี้เลยก็ได้
ระบบรักษาความปลอดภัยในห้องคลังอาวุธมีความรัดกุมอยู่แล้วในสายตาของผู้เขียน พื้นที่อาคารคลังอาวุธจะอยู่ในพื้นที่ลึกและเป็นพื้นที่ต้องห้าม ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกย่างกรายไปได้ แค่เข้มงวดระบบการเข้าเวรยามให้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุด ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้
ถึงเวลาตั้งคำถามระบบสายบังคับบัญชา
ประเด็นต่อมาคือระบบสายบังคับบัญชา ของกองทัพระหว่างนายทหารชั้นสัญญาบัตร-ชั้นประทวน แน่นอนเรื่องราวที่เกิด มาจากสภาวะจนตรอกคนร้าย ไม่มีพื้นที่เรียกร้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้บังคับบัญชา เราคงไปแก้ไขระบบสายบังคับบัญชาไม่ได้ แต่กองทัพบกตั้งสร้างระบบธรรมาภิบาลในการตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสของกำลังพลตัวเอง
แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้นายทหารชั้นผู้น้อยสามารถร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาตัวเองไปยังส่วนกลางในลักษณะข้อมูลปิดลับ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ผู้ร้องเรียน เพราะนายทหารชั้นผู้น้อยไม่กล้าเปิดตัวร้องเรียนเพราะเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อนภายหลัง
กระบวน “เงินทอน” ความโปร่งใสต้องมี
สังคมไทย คงสงสัยว่าขบวนการแสวงหาผลบประโยชน์จากนายทหารชั้นผู้น้อยมันเข้ามาเป็นเหลือบไรหากินเรื่องพวกนี้ ได้อย่างไร กรณี การขอกู้เงินเพื่อ การเคหสงเคราะห์ ผู้เขียนขออนุญาตสรุปง่ายๆ ดังนี้ครับ
กรณีกราดยิงโคราช คนร้ายก็เป็นเหยื่อในขบวนการนี้ เพราะความจ่าที่มีสิทธิ์กู้ได้ไม่เกินวงเงิน 1,500,000 บาท แต่ต้องมีบริษัทเอกชน หรือนายหน้าที่เข้ามาทาบทาม ว่าจะช่วยดำเนินการในฐานะผู้ค้ำประกันผู้กู้ และเมื่อมีผู้ค้ำประกันและทำหลักฐานเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งไปยังผู้บังคับหน่วย ซึ่งกรณีนี้คงเป็นผู้พัน เป็นผู้เซ็นอนุมัติ ซึ่งอาจคนเป็นนายอาจใช้ดุลพินิจว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ก็ได้ เพราะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าผู้กู้แต่ละรายมีศักยภาพชำระหนี้คืนตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
แต่กรณีดังกล่าวตามที่เป็นข่าวบริษัทนายหน้าและผู้บังคับบัญชาของคนร้าย เป็นพวกเดียวกัน คนร้ายอาจอยากได้เงินทอน หรืออยากได้บ้านจริงๆ ไม่มีใครรู้ แต่เงินที่ใช้เบิกเพื่อสร้างบ้านจริงต่ำกว่าเงินที่ได้กู้ออกมา เท่ากับเงินส่วนต่างหายไป แน่นอนคนร้ายต้องชำระหนี้ตามยอดที่กู้ไป คำถามก็คือคนร้ายจะหาเงินที่ไหนมาชำระหนี้
แน่นอนครับคนร้าย ก็คือตัวละครคนหนึ่งในขบวนการนี้ ในฐานะเป็นนายหน้า จึงต้องสวมบทหาคนกู้มาซื้อบ้านเพิ่ม เพื่อจะได้ค่านายหน้าเป็นค่าตอบแทน ถามต่อไปว่า คนร้ายจะหาคนกู้รายใหม่เพื่อขอซื้อบ้านง่ายดายขนาดนั้นเลยหรือ คำตอบก็คือ อาจจะหาง่าย เพราะเงื่อนไขของผู้กู้ขอแค่ เป็นทหารประจำการ และรับราชการไม่น้อยกว่า 1 ปี มันจึงง่ายที่ทาบทามและหาผู้สนใจเข้าโครงการกู้เงินเพื่อขอซื้อบ้านได้ตลอดเวลา
เดินหน้าตรวจสอบกองทัพไทย
สุดท้ายสังคมไทยคงคาดหวังการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ของสื่อมวลชน ที่จะต้องติดตามถามความคืบหน้าต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น การขจัดขบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากนายทหารชั้นผู้น้อย นี่คือบทเรียนราคาแพงและเป็นปัญหาที่เพิกเฉยมายาวนานจนมันนำไปสู่การเป็นจำเลยทางสังคม ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบกต้องหมั่นสอดส่องเอาใจใส่ทุกข์สุขของกำลังพลทุกนาย โศกนาฏกรรมที่ผ่านมาจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีกอย่างแน่นอน
บทความโดย ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง สถาบันรัฐศาสตร์ ม.รังสิต