SHARE

คัดลอกแล้ว

[et_pb_section admin_label=”section”]
[et_pb_row admin_label=”row”]
[et_pb_column type=”4_4″]
[et_pb_text admin_label=”Text”]

เนื่องด้วยปีนี้ครบรอบ 50 ปี อาเซียน ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้แห่งแรกและแห่งเดียวในไทยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศไทยของเราในบริบทของวัฒนธรรมร่วมกันอย่าง ‘ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน’ ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยนำเสนอนิทรรศการผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

‘ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน’ ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งกับประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเกิดการเรียนรู้แก่ชาวไทยและชาวอาเซียน รวมถึงผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะนำเสนอองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในมิติวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค โดยได้รับความกรุณาจาก รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ เรียบเรียงขึ้นมาให้

อุรุษยา อินทรสุขศรี

ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของ 10 ชาติอาเซียนผ่านนิทรรศการถาวร สื่อมัลติมีเดียต่างๆ และกิจกรรมหมุนเวียนอย่างสนุกสนาน ทั้งนี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้รับความกรุณาจาก คุณอุรุษยา อินทรสุขศรี ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือพหุภาคี ในฐานะ รักษาการ ผู้อำนวยศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน กระทรวงวัฒนธรรม ที่ให้เกียรตินำชมศูนย์ฯ และให้สัมภาษณ์กับทางทีมข่าว

โซนเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย (ASEAN National Costumes)

สำหรับการนำเสนอนิทรรศการถือเป็นจุดเด่นสำคัญของศูนย์ฯ แห่งนี้ เพราะได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาผสมผสานกับการนำเสนอเนื้อหาวิชาการได้อย่างลงตัว ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เข้าใจวัฒนธรรมอาเซียนได้โดยง่าย เช่น โซนเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย (ASEAN National Costumes) ที่ทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้ลองสวมชุดประจำชาติ 10 ประเทศอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งสามารถขยับเขยื้อนอิริยาบถขณะสวมชุดได้อย่างสมจริง, โซนหลากหลายจานเด่น (ASEAN Dishes) ที่จะนำเมนูอาหารจานโปรดของคนอาเซียน มาปรุงเสร็จพร้อมเสิร์ฟกันถึงมือ โดยผู้ชมสามารถนำจานที่เตรียมไว้ให้ มาถือไว้บริเวณข้างหน้าของจอทีวี หลังจากนั้นเมนูอาหารสุดโปรดก็จะแสดงผ่านบนจออย่างสมจริง เพียงแต่ไม่สามารถรับประทานได้เท่านั้น

โซนอยู่สบายอาเซียน (ASEAN Ways)

โซนอยู่สบายอาเซียน (ASEAN Ways) เมื่อเปิดประตูสองบานใหญ่พร้อมกันออกมา จอทีวีหลังประตูจะแสดงสถานที่สำคัญของประเทศอาเซียน โดยผู้ชมจะได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และชีวิตประจำวันของผู้คนในอาเซียน เสมือนเดินทางไปยังสถานที่แห่งนั้นด้วยตนเอง ซึ่ง คุณอุรุษยา เล่าว่า ในช่วงศูนย์ฯ เปิดทำการครั้งแรก เด็กๆ ปิด-เปิดประตูกันจนพัง เพราะเด็กๆ สนุกเมื่อเปิดแล้วจะเจอกับอะไร แต่ในความพังเราก็ดีใจที่เด็กๆ สนใจ ระหว่างที่เด็กๆ สนุกกับการปิดเปิดประตู เราก็ต้องชิงถามว่านี่อะไร เพื่อที่จะดึงเขาไว้กับเรา แล้วแทรกความรู้เข้าไปให้ได้ มันท้าทายว่าตอนที่เขากำลังเล่นสนุก เราได้ให้อะไรเขาไปหรือเปล่า ไม่ใช่วิ่งผ่านไปแค่ถ่ายรูปแล้วก็จบ อย่างน้อยมาที่ศูนย์ฯ ได้อะไรกลับไปบ้างก็ยังดี

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้จัดทำภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที ก็สามารถเข้าใจวัฒนธรรมอาเซียนได้ และยังมีการจัดแสดงศิลปวัตถุ เช่น วัฒนธรรมรามายณะ วัฒนธรรมการเล่นเงา ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น โดยจะมีการจัดหมวดหมู่เป็นลักษณะความเหมือนและความต่างของแต่ละประเทศไว้ ซึ่งทางรักษาการ ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน กล่าวว่า ในแต่ละประเทศเพื่อนบ้าน หลายๆ อย่างก็มีความเหมือนกัน เพราะเรามาจากรากฐานเดียวกัน อิทธิพลที่มาจากภายนอกได้เข้ามาเสริมแต่งให้ความมีเอกลักษณ์ของเรานั้นแตกต่างกันออกไป จริงๆ พื้นฐานเดียวกัน แต่พอปะปนไปกับสิ่งแวดล้อม คนที่เข้ามาเพิ่มเติมใหม่ มันก็เกิดความแตกต่าง ซึ่งจริงแล้วเชื่อมโยงกันได้”

รวมทั้งไฮไลท์ของศูนย์ฯ อีกหนึ่งอย่างก็คือ ทุกๆ 2 เดือน จะมีการจัดกิจกรรมหมุนเวียน อย่างที่จัดไปคือ งานรามายณะนานาชาติ โดยผู้ชมจะได้เรียนรู้จากนักแสดงต่างชาติจริงๆ ซึ่ง คุณอุรุษยา ได้กล่าวว่า กิจกรรมหมุนเวียนจะทำให้คนมาอยู่กับเรา มัลติมีเดียเขาดู2ครั้งอาจจะเบื่อแล้ว แต่กิจกรรมหมุนเวียนเขาจะหาที่อื่นไม่ได้ อยู่ดีๆ จะมีคนมาเล่นหน้ากากให้ดูต่อหน้าใกล้ๆ ได้พูดคุยได้สัมผัส หรือลองเชิดชักหุ่น โดยมีคนมาสอน มันไม่มีที่อื่น อันนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องรักษา ความเฉพาะตรงนี้ของศูนย์เราไว้ด้วย

และด้วยปีนี้ อาเซียน ครบรอบ 50 ปี ทางศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน จึงเปิดเผยว่า จะมีโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากศิลปินแห่งชาติอย่าง อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ โดยศูนย์ฯ จะนำเอาผลงานของท่านอย่างบทกวี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปในภูมิภาคของไทย รวมถึงอาเซียน ซึ่งเคยนำเสนอเป็นสารคดีผ่านทางโทรทัศน์มาแล้ว นำมาจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน

โดย รักษาการ ผอ.ศูนย์ฯ กล่าวว่า คิดว่าเป็นโครงการที่น่าจะนำมาจัดแสดง เพราะวิธีการที่จะได้มาของผลงานของท่านมันน่าสนใจ ว่าท่านไปพบอะไรมาบ้าง และอะไรคือแรงบันดาลใจทีทำให้เกิดงานชิ้นนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง รวมถึงคณะศิลปินต่างๆ ที่ได้ร่วมทางไปกับท่าน ได้มีแผนที่จะนำมาจัดแสดงที่นี่ด้วยในช่วงของงานอาเซียน และเราก็อยากจะจัดเป็นสัมมนา โดยเชิญศิลปินมาพูดคุยให้ฟัง ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ไม่ใช่เชิงวิชาการ แต่จะเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านวรรณกรรมวรรณศิลป์ และเป็นโครงการที่จะจัดขึ้นได้น้อย เพราะวิทยากรที่ทรงคุณค่าที่เป็นศิลปินถ่ายทอดหาได้ยาก

เมื่อทีมข่าวมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหาร จึงอยากทราบแนวทางการบริหารศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนว่า จะทำให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนได้อย่างไร  ด้าน คุณอุรุษยา ได้ตอบว่า “อันดับแรก ความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ฯ ตั้งแต่ต้นคือ ความถูกต้องของข้อมูล เพราะถ้าคนมองว่าที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ต่อ ข้อมูลจะผิดไม่ได้ ถ้าผิดคนเอาไปอ้างอิงก็จะผิดไปเรื่อยๆ อันดับสอง เขามาเรียนรู้ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้มาครั้งเดียวแล้วจบ เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะรักษากลุ่มคนที่เขาให้ความสนใจกับเรา เราได้เปิดเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ที่เขาจะถามเข้ามา ว่าเขาอยากได้ข้อมูลอย่างนี้ เขาจะทำอย่างไร ถึงแม้เราไม่รู้ เราก็จะถามให้ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่กับคนที่มาเยี่ยมชมต้องรักษาไว้ เป็นมิตรที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ยังกล่าวอีกว่า กว่าจะผ่านการมาเป็นศูนย์ฯ นี้ได้ หนักหนาอยู่ เพราะการทำข้อมูลเราอาจจะยกร่างก่อน แต่ว่าความถูกต้อง สิ่งที่อยากจะให้มีปรากฏ สถานทูตของชาติอาเซียนในไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเห็นชอบก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไปเห็นข้อมูลของประเทศไทยอยู่ที่อื่น มันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้นะ มันคงรู้สึกแปลกๆ  ดังนั้นคุณจะโชว์อะไรของใครต้องเคารพในความเป็นเขา

ทีมข่าวจึงถามต่อว่า ที่ผ่านมามีผู้ใดท้วงติงเกี่ยวกับข้อมูลที่ทางศูนย์ฯ ได้นำเสนอผ่านนิทรรศการหรือไม่ ซึ่งก็ได้คำตอบว่า มีแน่นอน คอมเมนต์เยอะมาก ถ้าผิดและควรเปลี่ยนเราต้องรับไว้ และขอข้อเสนอแนะกลับไปว่า เราขอข้อมูลได้ไหม ข้อเท็จจริงควรจะเป็นอย่างไร เราจะได้หารือกับทางสถานทูต หรือกระทรวงวัฒนธรรมของคุณ ว่ามันควรเป็นอย่างไร เพราะมาจากพื้นที่ซึ่งไม่เหมือนกัน เช่น มาจากเหนือ มันน่าจะนำเสนอความเป็นเหนือมากกว่านี้ไหม มุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาอาจจะอยากไฮไลท์ในพื้นที่ของเขา เราเองก็จะพยายาม แต่อย่างไรมันก็ต้องสมดุลกันของข้อมูลในภาพรวม”

และด้วย คุณอุรุษยา อินทรสุขศรี เป็นนักวิชาการด้านวัฒนธรรม ทีมข่าวจึงได้สอบถามถึงความเห็นส่วนตัวต่อประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียนว่า เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมอาเซียน กับการดูถูก มุมมองเชิงลบ และความคิดที่แตกต่างระหว่างกันของคนอาเซียน นั่นหมายรวมถึงไทยด้วย คุณอุรุษยา มีความเห็นเช่นใด ได้รับคำตอบว่า สิ่งที่อาเซียนเน้นย้ำคือ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ถ้าเรายอมรับทุกคนต่าง คุณเปิดใจกว้าง มองคนอื่นในแง่บวกก่อน แนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งก็เกิดขึ้นได้น้อย ส่วนประวัติศาสตร์ที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว ความขัดแย้งที่มันมีอยู่ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีผลอะไรที่เราจะไปตอกย้ำสิ่งเหล่านั้น เราควรจะเรียนรู้จากมันดีกว่าว่าทำไมถึงขัดแย้งกัน เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะต้องมาขัดแย้งกันอีกในปัจจุบัน ตอนนี้มีแต่คนจะจับมือกันและก้าวไปข้างหน้า ลงเรือลำเดียวกันแล้วมีเหตุผลอะไรที่ต้องมานั่งจับผิดกัน

ทั้งนี้ คุณอุรุษยายังกล่าวต่อว่าในเรื่องของการดูถูก ถือเป็นเรื่องที่แย่ ส่วนหนึ่งคือการดูถูกคนอื่นซึ่งเราควรจะมองตัวเองก่อนว่า เรานั้นดีพอแล้วหรือยังที่จะไปดูถูกเขาว่าไม่ดี แล้วที่บอกว่าเขาด้อยกว่า เราเองรู้จักเขาดีพอแล้วหรือยัง ที่เขาไม่มีดีเพราะอะไร เพียงแค่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้สวยงามเลิศหรูเหมือนคุณ แต่เขามีความรู้ เขารู้จริงในสิ่งที่เขาทำ ถามว่าคุณแค่พูดได้ แต่คนที่สามารถทำได้จริงๆ ใครดีกว่ากันแน่ ลองเลือกมุมมองปรับมุมมองจะดีกว่า ไม่ใช่ยกในสิ่งที่เรามีดีไปข่มคนอื่น

ท้ายสุดนี้ รักษาการ ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ได้ฝากถึงผู้สนใจที่อยากมาเยี่ยมชมว่า แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์อย่างแท้จริง เพราะผู้ชมจะได้เรียนรู้จากการยกขึ้นมาเล่น เรียนรู้จากการที่ได้เห็น ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่า อย่างนี้บ้านเราก็มีนะ บ้านเขาก็มี เช่นหนังใหญ่วัดขนอนเราเคยเห็นแบบนี้ ตัวหนังอย่างนี้ สุมไฟแบบนี้ แล้วกัมพูชา มีสะแบกธมเหมือนกันไหม?ตัวหนังเขาใหญ่กว่าเราอีก ต้องชักกี่คน ชักอย่างไร

ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะชิ้นหนึ่ง ได้ประกอบไปด้วยศาสตร์และศิลป์หลายอย่าง เช่น ศิลปะการแกะตัวหนัง การชักเชิด ดนตรี การร่ายรำ ท่าทาง ล้วนแล้วเป็นองค์ประกอบหลายอย่างซึ่ง เราดูอย่างเดียวก็ไม่สู้มาลองทำ ลองสัมผัส

นอกจากนี้ คุณอุรุษยา ยังได้ฝากประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนว่า ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม เราจะมีกิจกรรมอาเซียน โดยเอาน้องๆ นักดนตรีพื้นเมืองจาก10ประเทศ มาฝึกซ้อมและแสดงคอนเสิร์ตร่วมกัน

อย่างไรแล้ว ทางทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน โดยเป็นน้องนักศึกษา อย่าง ฟาตีฮะห์ และซาร่า ที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของศูนย์ฯ จึงได้สอบถามถึงความรู้สึกที่ได้มาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ โดยให้สัมภาษณ์ว่า การที่ได้มาที่ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนทำให้เหมือนไปสัมผัสกับสถานที่จริงๆ เนื้อหาที่นำเสนอผ่านมัลติมีเดียทำให้ง่ายต่อความเข้าใจและมีความน่าสนใจมากกว่าที่จะอ่านผ่านตัวหนังสือ

ทั้งนี้ สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของทางศูนย์ฯ ได้ทางเฟซบุ๊ก ‘ASEAN Cultural Center ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน’ และทางเว็บไซต์ www.elibrary-acc.com โดยเมื่อคลิกเข้าไปจะมีสื่อต่างๆ เช่น E-book เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียน สำหรับผู้ที่อาจจะไม่มีเวลาเข้ามาที่ศูนย์ฯ ก็สามารถเรียนรู้ ค้นคว้าหาข้อมูลผ่านช่องทางนี้ได้เช่นกัน

 

สัมภาษณ์เเละเรียบเรียง : ทวีทัศน์ ทับทิมศรี ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ (Workpoint News)
[/et_pb_text]
[/et_pb_column]
[/et_pb_row]
[/et_pb_section]

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า