สธ.เผยผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังชาวจีน รพ.แม่สอดผลการตรวจเป็นลบ ยืนยัน เพิ่มความเข้มงวดคุมเข้มทุกด่านชายแดน ย้ำโควิด-19 มีระยะฟักตัว 14 วันไม่ใช่ 27 วัน
วันที่ 24 ก.พ.2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป, นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ รวมกันแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมตอบข้อซักถามสื่อมวลชนว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังชายชาวจีนที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดด้วยอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ผลการตรวจเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และยังรักษาต่อตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติจากมีโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ทหาร และศุลกากรทุกด่านทั้งบก เรือ อากาศ และด่านธรรมชาติ ให้เข้มงวดการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันจำนวน 35 คน กลับบ้านได้แล้ว 21 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 14 คน โดยไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของโลก
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ปกติการเข้าออกระหว่างประเทศจะมีเข้าออก 2 ทาง คือ บังคับใก้เข้าออกที่ด่านถาวรเข้าออกระหว่างประเทศ แต่จะมีช่องทางธรรมชาติด้วย ตรงนี้ได้ประสานความร่วมมือไปที่กระทรวงมหาดไทย, ทหาร และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมมือกันดูแล หากในอนาคตจะมีการแพร่เชื้อและการระบาดคณะทำงานจะมาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำมาตรการปิดด่านมาใช้หรือไม่ การตัดสินใจแต่ละครั้งอยู่ในระดับพื้นที่ และส่วนกลาง
นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับศุลกากรและฝ่ายความมั่นคง คอยดูแลคนที่เดินทางเข้ามาว่ามีโรคติดต่อเฝ้าระวังหรืออันตรายหรือเปล่า คนจีนที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญจะผ่านการคัดกรองที่สนามบินแล้ว จากนั้นเดินทางไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งพื้นที่ฝั่นตรงข้ามจะเป็นกึ่งนิคมอุตสาหกรรมที่เขาทำงานอยู่ คนกลุ่มนี้มาอยู่นานกว่า 14 วันแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องให้การเข้าออกผ่านด่านถาวรเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ แต่สิ่งที่เป็นกังวล คือ มีกลุ่มคนในพื้นที่ใช้ด่านธรรมชาติ ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในทุกช่องทาง เฝ้าระวัง คัดกรอง คัดแยก เพื่อนำไปสู่กระบวนการทั้งหมด เราเฝ้าระวังในทุกช่องทาง
พร้อมกันนี้ นพ.โสภณ ได้อธิบายความชัดเจนการแพร่ระบาดโควิด-19 ใน3 ระยะ คือ ระยะ 1 ผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ, ระยะ 2 มีคนไทยติดจากนักท่องเที่ยว เช่น คนขับรถ คนขายของ แต่ไม่มีการติดต่อเนื่อง และระยะ 3 คนที่อยู่ในประเทศติดเชื้อผู้ป่วยต่างประเทศและแพร่เชื้อให้คนในประเทศด้วยกันเอง เช่น กรณีอาจุม่าในเกาหลีใต้ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเราก็พยายามที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้น
เมื่อถามว่าพื้นที่เสี่ยงที่เป็นจุดให้ต้องเฝ้าระวังตรงไหน นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีภาระกิจ 2 ด้าน คือ ลดความเสี่ยงของคนที่อยู่ในประเทศไทย เพราะเคยมี 25 คนที่เป็นต่างชาติ อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อจึงต้องหาคนที่อาจติดเชื้อ และเฝ้าระวังภัยใหม่เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลี เราต้องดูแลคนที่กลับมา 3 ประเทศนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เติมผู้ป่วย เราต้องจัดการทั้งส่วนของในประเทศและป้องกันที่จะมาจากประเทศ
เมื่อถามว่าทางการจีนแจ้งว่าระยะการฟักตัวเป็น 27 วัน ต้องเพิ่มการกักตัวหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง อธิบายว่า ข้อมูลยังไม่ได้รับการยืนยัน ตอนนี้ยังอยู่ที่ 14 วัน ข้อมูลเหล่านี้จะรวบรวมโดยองค์การอนามัยโลก หากมีการเปลี่ยนแปลงจะประกาศแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทาง ตอนนี้ยืนยันที่ 14 วัน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายนิยามการเฝ้าระวัง ปรับเกณฑ์ พื้นที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง กลุ่มอาการปอดอักเสบในบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานการณ์มาโดยตลอด รวม 4 ครั้ง เพื่อให้ตรวจจับผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ครอบคลุมคนไทยที่กลับจากประเทศระบาดของโรค และเพิ่มพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมรับผิดชอบสังคมด้วยการไม่แพร่เชื้อ ทั้งนี้ คำแนะนำเมื่อประชาชนกลับมาจากพื้นที่ระบาดของโรคที่ขอให้เก็บตัวสังเกตอาการ เป็นเวลา 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้เดินทาง ครอบครัว และสังคม ขอประชาชนอย่าเชื่อ ข่าวลือ เขาเล่าว่า ที่ไม่รู้ต้นทางข่าวไม่มีข้อมูลความจริง คือ การเพิ่มภาระคนทำงานที่หนักอยู่แล้วให้หนักมากขึ้น ช่วยกันหยุดข่าวลือ หยุดส่งต่อข่าวเขาเล่าว่า รับฟังการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขทุกวันเวลา 11.00 น.
สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 14 ราย กลับบ้านแล้ว 21 ราย รวมสะสม 35 ราย, ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3ม.ค. ถึง วันที่ 23 ก.พ. 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,453 ราย คัดกรองจากสนามบิน 68 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,385 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 332 ราย
ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกใน 31 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 78,997 ราย เสียชีวิต 2,470 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 76,942 ราย เสียชีวิต 2,444 ราย