SHARE

คัดลอกแล้ว

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน และทำให้พนักงานบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ต้องทำงานจากบ้านและสถานที่ต่างๆ โดยใช้แอปพลิเคชันสำหรับการทำงานทางไกลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่ง “ซูม” (Zoom) ก็เป็นหนึ่งแอปสำหรับประชุมทางไกลที่เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะแบบเวอร์ชั่นฟรี ที่สามารถประชุมได้ถึง 100 คนพร้อมกัน และมีฟีเจอร์หลากหลายใช้งานง่าย แต่ zoom กำลังเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

 

 

แม้จะมีความสะดวกรวดเร็วและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักถึงตลอดเวลาเมื่อต้องใช้เทคโนโลยีก็คือ “ความเป็นส่วนตัว” หลังมีผู้ใช้พบ Zoom กำลังแสดงข้อมูลส่วนตัวของบัญชีผู้ใช้หลายพันคน ให้กับผู้ใช้แปลกหน้า ที่รวมถึงที่อยู่อีเมลและภาพ รวมถึงทำให้คนแปลกหน้าสามารถแชตผ่านวิดีโอคอลโดยใช้ Zoom ได้

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในฟีเจอร์ “คอมพานี ไดเร็กทอรี่” (Company Directory) ที่จะเพิ่มบัญชีผู้ใช้มาอยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่ลงทะเบียนด้วยอีเมลในโดเมนเดียวกัน ที่จะทำให้ง่ายต่อการค้นหาเพื่อนร่วมองค์กรได้ง่าย ๆ ผ่านรายชื่อนี้

แต่ผู้ใช้ Zoom หลาย ๆ คนมักจะใช้อีเมลส่วนตัว ที่ไม่ใช่อีเมลที่มีการใช้ทั่วไป เช่น จีเมล (Gmail), ฮ็อตเมล (Hotmail) หรือ ยาฮู (Yahoo) และอื่น ๆ ในการสมัคร ทำให้ Zoom เพิ่มบัญชีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนด้วยอีเมลในโดเมนเดียวกันอัตโนมัติ ทำให้ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปแสดงให้กับผู้ใช้อื่นโดยอัตโนมัติ โดยจะแสดงทั้ง ชื่อเต็ม อีเมล รูปภาพโปรไฟล์ สถานะ รวมถึงยังสามารถโทรไปหาผู้ใช้คน ๆ นั้นได้ด้วย

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ยังมีรายงานว่า พบบัญชีผู้ใช้ที่มีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ ใช้รูปแบบการก่อกวนผ่านแอป Zoom ที่เรียกว่า “ซูมบอมบิ้ง” (Zoombombing) ไปที่การประกอบพิธีทางศานาของชาวยิวในกรุงลอนดอน ผ่านบริการวีดิโอคอลออนไลน์ของ Zoom และมีการแสดงความเห็นในเชิงต่อต้านชาวยิวที่ร่วมประกอบพิธีกว่า 205 คน

Zoom กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และแนะนำว่า การประชุมแบบกลุ่มขนาดใหญ่ควรปรับการตั้งค่าเพื่อที่ผู้เป็นโฮสต์จะสามารถแชร์หน้าจอได้เพียงคนเดียว และเสนอว่าควรมีการใช้รหัสผ่านเพื่อป้องกันแขกที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาก่อกวนการสนทนา

เมื่อเดือนที่แล้วยังมีรายงานว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดีลักลอบเข้าไปในการประชุมของ “ชิพ็อตเล่” (Chipotle) ร้านฟาสต์ฟู้ดสไตล์เม็กซิกันชื่อดัง โดยใช้แพลตฟอร์มสกรีนแชร์ และเผยแพร่วิดีโอที่มีเนื้อหาอนาจาร ในระหว่างการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน จนต้องยุติการประชุม และย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่น

 

 

ทั้งนี้ Zoom ได้ตั้งค่าเริ่มต้นที่อนุญาตให้ผู้ร่วมการประชุมคนใดก็ตามสามารถแชร์หน้าจอของตนโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ที่ทำหน้าที่โฮสต์ และใครก็ตามที่มีลิงค์ของการประชุมแบบสาธารณะ ก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยลิงค์ของการประชุมแบบสาธารณะจะถูกแลกเปลี่ยนกันผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊ก และผ่านโปรแกรมแชทที่มีชื่อว่า “ดิสคอร์ด” (Discord) และสามารถค้นหาได้ง่ายๆในทวิตเตอร์และเพจกิจกรรมสาธารณะต่างๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานวันนี้ (2 เม.ย.) ว่าบริษัทสเปซเอ็กซ์ ของนายอีลอน มัสก์ สั่งห้ามพนักงานใช้แอป Zoom โดยอ้างถึงปัญหาการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

โดยในอีเมลซึ่งลงวันที่ 28 มี.ค. สเปซเอ็กซ์ได้แจ้งพนักงานว่าการเข้าถึง Zoom จะถูกระงับทั้งหมดโดยมีผลในทันที

“เราเข้าใจว่าพนักงานหลายคนใช้เครื่องมือนี้สำหรับการประชุมและพูดคุย แต่กรุณาใช้อีเมล ข้อความ หรือโทรศัพท์ เป็นทางเลือกในการสื่อสารแทน”

อย่างไรก็ตาม Zoom ยังคงไม่แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจของสเปซเอ็กซ์ แต่ที่ผ่านมา บริษัทได้แนะนำให้ผู้ใช้ ใช้ฟังก์ชั่นความเป็นส่วนตัวทั้งหมด เมื่อต้องใช้ Zoom

ด้านสเปซเอ็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อยู่ในฐานะบริษัทคู่สัญญาด้านการป้องกันประเทศ จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีความจำเป็น ทำให้บริษัทยังคงดำเนินการต่อไปได้แม้จะเกิดภาวะชัตดาวน์ เช่นที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาและทดสอบจรวดเพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร และส่งดาวเทียมที่มีจุดประสงค์ด้านความมั่นคงไปยังอวกาศ

นอจากนั้น โฆษกองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสเปซเอ็กซ์ ยังเปิดเผยว่า นาซาสั่งห้ามพนักงานใช้ Zoom เช่นกัน นอกจากนั้น ที่ทำการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ หรือเอฟบีไอ ที่เมืองบอสตันของสหรัฐฯ ยังออกคำเตือนเกี่ยวกับ Zoom โดยแจ้งแก่ผู้ใช้ว่า ไม่ควรจัดการประชุมผ่านแอปดังกล่าวในแบบสาธารณะ หรือมีการแชร์ลิงค์ หลังจากได้รับรายงาน 2 ครั้งว่ามีผู้พยายามบุกรุกการประชุมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง

ด้านเว็บไซต์ข่าวสืบสวนชื่อดัง “ดิ อินเตอร์เซ็ปต์” (The Intercept) รายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า วิดีโอของ Zoom ไม่ได้เป็นการเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง หรือ End-to-end encryption ซึ่งเป็นรูปแบบการส่งข้อมูลโดยการแปลงข้อความบนเซิร์ฟเวอร์ให้กลายเป็นรหัสลับ โดยที่ไม่มีการถอดรหัสระหว่างทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนอกจากผู้ส่งและผู้รับสามารถอ่านเนื้อหาของข้อความได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Zoom ได้เคยโฆษณาเอาไว้

แต่สิ่งที่ Zoom ทำ กลับเป็นการเข้ารหัสแบบ TLS (Transport Layer Security) หรือเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสื่อสารหรือส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ระหว่างเครื่องเซิร์ฟเวอร์กับเว็บเบราเซอร์หรือแอปพลิเคชันที่ใช้งาน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้ในเว็บเบราเซอร์ทั่วไป โดยเป็นการเข้ารหัสแบบต้นทางไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Zoom เท่านั้น ทำให้ Zoom สามารถเข้าถึงข้อมูลข้อมูลวิดีโอการประชุมนั้น ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม Zoom ได้ออกปฏิเสธว่า ไม่ได้หลอกลวงผู้ใช้งาน เพราะ Zoom ตีความการเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยมองว่าเซิร์ฟเวอร์ของ Zoom นั้นเป็นปลายทาง (Endpoint) ด้วยอีกอันหนึ่ง Zoom ยังระบุว่า มีความจำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างเช่น IP address หรือ หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ ใช้เป็นหมายเลขกำหนดตำแหน่งของเครื่องในการ รับ-ส่ง ข้อมูลต่างๆ, ระบบปฏิบัติการที่ใช้, เครื่องที่ใช้ เพื่อใช้ปรับปรุงในการให้บริการ และไม่อนุญาตให้พนักงานของ Zoom เข้าถึงเนื้อหาของการประชุม

 

 

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการใช้ Zoom ซึ่งก่อตั้งโดยนายเอริก หยวน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ซูม เทคโนโลยีส์ ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น และมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เป็น 7,900 ล้านดอลลาร์

จากข้อมูลของดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก ปัจจุบันนายเอริก หยวน เป็นบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยเป็นอันดับที่ 182 ของโลก หุ้นของ Zoom มีราคาเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อหุ้นเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤต เป็น 150 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 42,000 ล้านดอลลาร์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า