SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจากในช่วงแรกๆ ที่สิงคโปร์ได้รับคำยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ได้ดี แต่มาถึงเวลานี้สิงคโปร์ส่งสัญญาณแสดงว่ากำลังต่อสู้เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ที่เพิ่มสูงผิดปกติในช่วงนี้

สิงคโปร์เคยอยู่ในระดับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นโมเดลที่ชาติอื่นๆ พึงปฏิบัติตามมาก่อน ในเรื่องวิธีจัดการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

 

ก่อนที่เชื้อโรคร้ายแรงนี้จะได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ สิงคโปร์ก็สั่งเข้มงวดกวดขันจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งมีการปฏิบัติการอย่างได้ผลทรงประสิทธิภาพในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งสามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสไม่ให้ปะทุรุนแรงได้

ทว่าในระยะไม่กี่วันหลังๆ มานี้ จำนวนของเคสที่ยืนยันว่าติดเชื้อกลับขึ้นทะยานลิ่ว นับตั้งวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นครั้งแรกคือ 287 ราย วันที่ 10 เพิ่มขึ้น 198 ราย วันที่ 14 เพิ่มขึ้น 386 ราย และวันที่ 15 เพิ่มขึ้น 334 ราย

ส่วนในวันนี้ (16 เม.ย.) กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่ จำนวน 447 รายในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ขณะนี้สิงคโปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวม 3,699 ราย นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวน 10 ราย

กระทรวงสาธารณสุขระบุก่อนหน้านี้ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหอพักแรงงานต่างด้าว ที่มีอยู่กว่า 43 แห่งทั่วประเทศ

ตอนนี้สิงคโปร์อาจต้องบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางส่วน โดยที่โรงเรียนสถานศึกษาและพวกธุรกิจซึ่งไม่มีความจำเป็น จะต้องปิดทำการ และประชาชนได้รับการขอร้องให้อยู่กับบ้าน หลังจากพยายามหลีกเลี่ยงมาได้เป็นเวลานับเดือน

 

สิงคโปร์ทำอะไรบ้างในช่วงแรกซึ่งทำให้ได้รับยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ?

สิงคโปร์เจอผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรกของประเทศตนตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการระบาดแล้ว เคสนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมาจากเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 23 มกราคม วันเดียวกับที่เมืองศูนย์กลางการระบาดของไวรัสในจีนแห่งนั้นถูกประกาศล็อกดาวน์ เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงที่โรคอันเกิดจากไวรัสนี้ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ นั่นคือ “โควิด-19” มันก็มีการแพร่กระจายไปในหมู่ประชากรของประเทศร่ำรวยเล็กๆ เสมือนเป็นนครรัฐแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่การตอบโต้รับมือซึ่งผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดีก็พรักพร้อมใช้งานได้เช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากการตรวจเช็กสุขภาพที่สนามบินแล้ว สิงคโปร์ยังดำเนินการตรวจเทสต์อย่างกว้างขวางโดยมุ่งให้ครอบคลุมผู้ต้องสงสัยทุกๆ ราย, ติดตามสืบหาใครก็ตามที่มีการสัมผัสติดต่อกับเคสที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ, และจำกัดให้พวกที่สัมผัสติดต่อเหล่านี้อยู่แต่ในบ้านของพวกตนจนกว่าจะได้รับการเคลียร์ว่าปลอดเชื้อ

หลายสัปดาห์ต่อจากนั้น สิงคโปร์ทุ่มเทความพยายามในการคงจำนวนเคสในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำและสามารถติดตามสอบสวนโรคได้ โดยมีผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน (cluster) เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ ซึ่งง่ายต่อการควบคุมปิดกั้น แต่ไม่ได้มีการใช้มาตรการจำกัดควบคุมอย่างแท้จริงต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของประชาชน

กระนั้น เดล ฟิชเชอร์ กรรมการเครือข่ายเตือนภัยและตอบโต้ระดับทั่วโลก ขององค์การอนามัยโลก และเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า ในตอนนั้น เมื่อใดก็ตามที่เขาได้ยินคนพูดกันว่าสิงคโปร์กำลังทำได้ดี เขาก็ต่อให้ว่า “เท่าที่เป็นอยู่จนถึงตอนนี้” เพราะนี่เป็นเชื่อโรคที่ยากลำบากแก่การจำกัดควบคุม

 

แล้วเมื่อใดที่สถานการณ์เริ่มต้นเลวร้ายลง?

ศาสตราจารย์ยิกยิง เตียว คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ซอว์ สวี ฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ระบบที่ทางรัฐบาลวางไว้ทำงานไปได้ดีจนกระทั่งถึงกลางเดือนมีนาคม นั่นเป็นช่วงเวลาซึ่งเมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้นตลอดทั่วโลกแล้ว ประเทศต่างๆ ก็เริ่มต้นเรียกร้องให้พลเมืองของพวกตนเดินทางกลับบ้าน

ผู้คนจำนวนหลายพันเดินทางกลับสิงคโปร์จากพวกประเทศซึ่งไม่ได้มีมาตรการป้องกันเข้มงวดมากนัก ปรากฏว่าในกลุ่มคนเหล่านี้ มีกว่า 500 คนซึ่งนำเอาเชื้อไวรัสกลับมาพร้อมพวกเขาด้วย

ตอนนั้นเองที่มีการประกาศใช้มาตรการบังคับให้พวกซึ่งเดินทางกลับมาต้องอยู่บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทว่าคนอื่นๆ ในครอบครัวของพวกเขาได้รับแจ้งว่าสามารถที่จะดำเนินชีวิตของพวกเขาได้ต่อไป ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครแสดงอาการป่วยใดๆ

ช่วงนี้เองที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงกลางเดือนมีนาคมก็กลายเป็นวันละหลายสิบราย ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศหรือเชื่อมโยงพัวพันกับเคสที่มาจากต่างประเทศ ทว่าตอนนั้นเป็นครั้งแรกซึ่งไม่สามารถติดตามสอบสวนเคสภายในประเทศทุกๆ เคสได้อย่างสะดวกง่ายดายอีกแล้ว

ศาสตราจารย์เตียวกล่าวว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะพูดในตอนนี้ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยไปแล้ว ว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่จำกัดการติดต่อพบปะผู้คนกระทั่งคนในครอบครัวของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงก็คือ “มาถึงเวลานี้ เรามีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเกี่ยวกับโรคนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม”

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การแพร่โรคจากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนั้นเป็นเรื่องซึ่งเป็นไปได้อย่างแน่นอน และอาจจะเป็นตัวขับดันตัวหลักของการติดต่อของโควิด-19”

ศาสตราจารย์เตียว กล่าวด้วยว่า การออกมาตรการต่างๆ มาใช้นั้น หลายๆ อย่างเป็นการวิวัฒนาการขึ้นจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ว่าผู้ติดเชื้อกำลังแพร่มาจากที่ไหน แต่บทเรียนของสิงคโปร์ก็คือ เราควรใช้ท่าทีระมัดระวังให้มาก อย่าได้พึ่งพาอาศัยข้อมูลข่าวสารที่เรามีอยู่ในเวลานี้ให้มากจนเกินไป ตัวอย่างเช่น การเชื่อว่าผู้ที่หายจากโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถป้องกันการติดโรคในอนาคต ในขณะที่เรื่องเช่นนี้ยังห่างไกลจากความแน่นอนชัดเจน

 

การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ ของสิงคโปร์ มีสาเหตุจากอะไร?

ปัญหาเรื่องผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เวลานี้สิงคโปร์กำลังดูแลแก้ไข ด้วยการกำหนดให้ผู้ที่เข้ามายังประเทศรายใหม่ทุกๆ คนต้องถูกส่งตรงไปยังสถานกักกันโรคของรัฐบาล และเนื่องจากเวลานี้มีคนเดินทางมาเพียงแค่จำนวนน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จึงลดลงเหลือตัวเลขหลักเดียวในระยะไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. สิงคโปร์ยังออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการล็อกดาวน์กันทั่วทั้งประเทศเป็นบางส่วนบางระดับ เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำๆ นี้เท่านั้น

ทุกๆ คนถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกบ้านยกเว้นเพื่อกระทำกิจกรรมที่มีความจำเป็น โดยผู้ละเมิดอาจถูกปรับสูงสุดถึง 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 230,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน

ศาสตราจารย์เตียวให้ความเห็นว่า มาตรการนี้น่าจะได้ผล พร้อมย้ำว่าขณะที่ตัวเลขต่างๆ น่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอีกในระยะสั้น แต่นั่นคือการสะท้อนภาพของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในระยะ 7 วันที่ผ่านมา มันยังไม่ได้หมายความว่ามาตรการต่างๆ ที่ใช้อยู่นั้นไม่ได้ผล

แต่ถึงกระนั้น การเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในช่วงสัปดาห์สิ้นเดือนมีนาคมต่อกับต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มคนงานอพยพของสิงคโปร์ นั่นคือ ผู้ใช้แรงงานชายจำนวนหลายแสนคนซึ่งเดินทางมาจากกลุ่มประเทศยากจน โดยส่วนใหญ่ถูกว่าจ้างให้ทำงานในกิจการการก่อสร้าง, การเดินเรือ, และการซ่อมบำรุง

สิงคโปร์ในปัจจุบันต้องพึ่งพาอาศัยคนงานเหล่านี้เป็นอย่างมาก ในการประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยพบว่าสิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติกว่า 200,000 คน โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการงานของพวกเขาทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมแทบเป็นไปไม่ได้เลย

 

 

เรื่องที่แย่ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ กฎหมายของสิงคโปร์กำหนดให้คนงานเหล่านี้ต้องพักอาศัยกันในหอพัก ซึ่งดำเนินการโดยเอกชนและพวกเขาถูกจัดสรรให้อยู่กันอย่างแออัด บางกรณี 12 คนต่อห้อง โดยต้องใช้ห้องน้ำรวม เช่นเดียวกับต้องแบ่งกันใช้สถานที่ประกอบอาหารและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

มันจึงดูเหมือนแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หอพักเหล่านี้จะต้องกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อซึ่งแพร่ให้ผู้คนป่วยไข้ติดต่อกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน โดยมีผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ที่ได้รับการยืนยันแล้วคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยที่มีกลุ่มหอพักกลุ่มหนึ่งกลายเป็นจุดซึ่งพบผู้ป่วยถึงราวร้อยละ 15 ของทั่วทั้งสิงคโปร์

นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ถ้าหากเป็นที่ทราบกันก่อนหน้านั้นว่าไวรัสนี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วแค่ไหน เราก็คงจะทำอะไรแตกต่างไปจากนี้ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ คนงานจำนวนมากยังคงทำงานต่อไปทั้งๆ ที่มีอาการป่วยไข้

สิ่งซึ่งทางการสิงคโปร์ดำเนินการเพื่อสกัดกั้นปัญหาไม่ให้บานปลายออกไปอีก ได้แก่ การเร่งรัดกักกันโรคคนงานอพยพ รวมเป็นจำนวนราว 50,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อพยพมาจากอินเดียและบังกลาเทศ โดยให้พวกเขาอยู่แต่ในห้องพักภายในหอพักเหล่านี้ ทางการระบุว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อลดการติดต่อแพร่เชื้อในระหว่างผู้คนภายในสิงคโปร์เอง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ และจากพลเมืองชาวสิงคโปร์ ขณะที่รายงานของสื่อต่างๆ เผยให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดยัดเยียและไม่มีสุขอนามัยของหอพักเหล่านี้ ซึ่งข่าวบอกว่ามันอัดแน่นจนกระทั่งเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้พักอาศัยแต่ละคนจะอยู่ให้ห่างจากกันอย่างน้อย 1 เมตร

ทอมมี่ โก๊ะ ศาสตราจารย์และคณบดีของวิทยาลัยเทมบุซุ (Tembusu College) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวในโพสต์ทางเฟซบุ๊กว่า พวกเขาอยู่กันในหอพักที่แออัด และเบียดเสียดกันอย่างกับปลากระป๋อง หอพักเหล่านี้เหมือนกับระเบิดเวลาที่รอที่ระเบิดขึ้นมา

กลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ กล่าวว่า การกักกันโรคให้อยู่ในหอพัก กลายเป็นการสร้างจุดอันตรายสำหรับการแพร่เชื้อ และเรียกร้องรัฐบาลให้ตรวจคนงานทั้งหมด และย้ายผู้เจ็บป่วยไปยังสถานพยาบาล

หลังจากนั้น ได้มีคนงานกว่า 5,000 คนถูกย้ายไปสู่สถานที่ซึ่งปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ก็บอกว่า มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วยบุคลากรของฝ่ายรัฐบาล, ทหาร, และตำรวจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหอพักเหล่านี้ และคนงานซึ่งพำนักอาศัย

นายลอว์เรนซ์ หว่อง กล่าวว่า เรากำลังทุ่มเทความพยายามอย่างมาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในหอพักคนงานต่างชาติ

 

สิงคโปร์กำลังแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้จริงหรือไม่

ถึงแม้มีบางคนบางฝ่ายกล่าวหาว่า สิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนช้าเกิน แต่ศาสตราจารย์ฟิชเชอร์ กล่าวว่า อันที่จริงแล้วสิงคโปร์ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ก่อนหน้าประเทศอื่นๆ นานแล้ว ขณะที่จำนวนเคสยังคงอยู่ในระดับเกินกว่าวันละ 100 รายไม่มาก

แต่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้ได้ผลนั้น เขาชี้ว่าจำเป็นต้องทำ 3 เรื่องให้สำเร็จ ประการแรกต้องยุติการแพร่เชื้อให้ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกๆ คนอยู่กับบ้าน จากนั้นระบบดูแลรักษาสุขภาพจำเป็นต้องมีเวลาและมีที่ทางสำหรับการฟื้นตัว เป็นต้นว่าพอจะมีเตียงว่างกันบ้าง และบุคลากรทางการแพทย์สามารถหาเวลาสำหรับหยุดพัก และประการที่สามคือ ระบบทุกๆ อย่างต้องพรักพร้อม ทั้งเรื่องสถานที่กักกันโรค, ความสามารถในการกักกันโรค, อำนาจทางกฎหมายข้อบังคับต่างๆ, การติดตามหาผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อ

เขาเตือนว่า “ถ้าคุณแค่ทำอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง จากนั้นก็เปิดเมืองขึ้นมาอีกครั้ง ประวัติศาสตร์ก็จะต้องเกิดซ้ำรอย”

สิงคโปร์ยังถือว่ามีความโชคดีกว่าในแง่มุมนี้ เช่น ระบบการแพทย์ของสิงคโปร์ยังไม่ได้ไปถึงจุดที่คนป่วยท่วมท้นรับมือไม่ไหว เช่นในอังกฤษหรือในสหรัฐฯ

นอกจากนั้นสิงคโปร์ยังมีพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว และมีสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล

ศาสตราจารย์ฟิชเชอร์เตือนว่า กระทั่งรัฐบาลสิงคโปร์ที่สามารถส่งข่าวสารที่มีความชัดเจนไปถึงประชาชนซึ่งมีความไว้วางใจในรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เขาแสดงความเป็นห่วงว่า ชาวสิงคโปร์โดยเฉลี่ย ยังคงไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของพวกเขาแต่ละคนมากเท่าที่ควร

ภายในสองวันแรกที่บังคับใช้กฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องว่ากล่าวตักเตือนพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายมากกว่า 10,000 ครั้ง เป็นต้นว่า การนั่งรับประทานอาหารในโรงอาหารของแฟลต แทนที่จะซื้อห่อกลับไป ตลอดจนการสังสรรค์กันในที่สาธารณะ

จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เวลานี้ ทุกๆ ประเทศต่างกำลังมองหาสิ่งที่สามารถถือเป็นสัญญาณของความหวัง ทว่าบทเรียนซึ่งสรุปได้จากสิงคโปร์ก็คือว่า เราไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจได้และทุกๆ ประเทศต้องเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับการเผชิญกับระลอกการระบาดครั้งที่ 2 รวมทั้งความเป็นไปได้ที่อาจจะมีระลอกที่ 3 หรือกระทั่งระลอกที่ 4

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า