วันนี้ถือเป็นวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเริ่มต้นในการถือศีลอดตั้งแต่วันนี้ไปจนสิ้นเดือนรอมฏอน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1 เดือนเต็มๆ โดยการถือศีลอดนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก โดยละเว้นการรัปประทานอาหาร การดื่มน้ำ รวมทั้งระมัดระวังพฤติกรรมและจิตใจไม่ให้คิดร้ายหรือประพฤติผิดหลักการของศาสนาในระหว่างนี้
การถือศีลอดถือเป็นหนึ่งในห้าเสาหลักของอิสลาม ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติตาม ในระหว่างนี้จะมีการบริจาค ‘ซะกาต’ (Zakat) หรือการบริจาคให้กับคนยากจน จากการสำรวจของเดอะพิวรีเสิร์ชเซ็นเตอร์ (The Pew Research Center) พบว่าราว 80 เปอร์เซนต์ของมุสลิมในอเมริกาจะถือศีลอดในเดือมรอมฎอนเช่นกัน
สำหรับวิธีการปฏิบัติในเดือนรอมฎอนนั้น ช่วงเช้าจะมีการรัปประทานอาหารก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเรียกว่าการทาน ‘ซูโฮร’ (Suhoor) และเมื่อละศีลอดในช่วงเย็นจะเรียกว่า ‘อิฟตะห์’ (Iftar)โดยปกติแล้วในเดือนนี้จะเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมรอคอยเพราะครอบครัวจะกลับมารวมตัวกันเพื่อละศีลอดพร้อมหน้าพร้อมตา หลังจากละศีลอดเสร็จชาวมุสลิมก็จะไปร่วมพิธีละหมาดที่มัสยิด เป็นการละหมาดที่มีเฉพาะในช่วงเดือนรอมฏอน เรียกว่า ‘การละหมาดตาราเวียะห์’ (Taraweeh)
- โควิด-19 กระทบวิถีชีวิตคนมุสลิมในเดือนรอมฎอนนี้อย่างไร?
ในปีนี้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของชาวมุสลิมทั่วโลกเปลี่ยนไป อย่างที่ซาอุดิอารเบีย ทุกปีในช่วงเดือนรอมฎอนที่มัสยิดอัลอัคซอ (Al-Aqsa Mosque) ปีนี้จะไม่มีผู้คนไปร่วมกันทำพิธีละหมาดเหมือนที่เคย หลังจากมีคำสั่งออกมาให้มุสลิมทุกคนทำการละหมาดที่บ้านของตัวเอง ซึ่งอิหม่ามโอมาน สุไลมาน (Omar Suleiman) ผู้ก่อตั้งและประธานสถาบัน ‘ยากีน’ เพื่อการวิจัยอิสลาม (The Yaqeen Institute for Islamic Research) ออกมากล่าวถึงการละหมาดตาราเวี้ยะห์ ว่า ‘การละหมาดที่บ้านหรือละหมาดที่มัสยิดนั้นได้รับผลบุญไม่แตกต่างกัน’ โดยในช่วงของการกักตัวนี้ อิหม่ามสุไลมานต้องการที่จะแนะนำให้มุสลิมทุกคน โฟกัสอยู่ที่การประกอบศาสนกิจส่วนตัวและฝึกความสงบภายในจิตใจของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากปีก่อน เพราะโดยปกติแล้วมุสลิมจะคุ้นเคยกับการประกอบพิธีละหมาดร่วมกันซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
- การมาถึงของวันอีดอีดิ้ลฟิตรี่
หลังจากในช่วงวันสุดท้ายของการถือศีลอด ก็จะเข้าสู่ ‘วันอีดอีดิ้ลฟิตรี่’ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สำคัญมากของชาวมุสลิมเช่นกัน ตามธรรมเนียมในวันนี้ทุกคนจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการแต่งตัวด้วยชุดใหม่ที่สวยงาม ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ไปละหมาดและรัปประทานอาหารร่วมกันที่มัสยิด ซึ่งปีนี้ก็อาจจะทำไม่ได้เช่นเดียวกัน
ด้านของไฮนด์ มักกิ (Hind Makki) นักการศึกษาด้านการสื่อสารในเมืองชิคาโกที่สถาบันนโยบายและความเข้าใจทางสังคม (The Institute for Social Policy and Understanding) บอกกับซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า ‘รอมฏอนปีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะได้อยู่กับตัวเองและตรวจสอบตัวเอง ซึ่งเราสามารถใช้ช่วงเวลาในเดือนรอมฏอนเป็นช่วงเวลาแห่งการเยียวยาของจิตวิญญาณของเราได้เช่นกัน’ โดยเธอบอกว่าเธออาจจะลองไปร่วมละศีลอดแบบออนไลน์บ้าง เพื่อจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ข้อปฏิบัติตัวของมุสลิมไทย
อย่างในประเทศไทย ทางสำนักจุฬาราชมนตรีออกข้อปฏิบัติช่วงรอมฎอนป้องกันโควิด19 หวังป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ไว้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ให้งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด หากมีความประสงค์ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้านและจัดใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ แล้วแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทนการจัดเลี้ยงที่มารวมกันเป็นหมู่คณะแทน และงดการเอี้ยะติกาฟ และการละหมาดญะมาอะห์ที่เป็นซุนนะห์ (สุนัต) ประเภทต่าง ๆ ในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน ได้แก่ การละหมาดตะรอเวียะห์ การละหมาดวิตร์ (วิเต็ร) และการละหมาด ตะฮัจญด ตลอดจนกิจกรรมการรวมตัวอื่นๆ ที่มัสยิด หรือในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ เป็นต้น