Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

       “เราอดข้าวไม่เป็นไร แต่ลูกเราอดไม่ได้ เขาเป็นเด็ก” แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งบอกกับ workpoint TODAY แววตาเหนือหน้ากากผ้าแลดูเครียดและเหนื่อยล้า ไม่ต่างจากอีกหลายๆ ครอบครัวที่รายได้ลดลง หรือขาดหายไปเลยตลอดช่วง 2 เดือนนี้

       “เมนูหลักคือไข่ค่ะ บางทีก็มาม่า เราไม่ค่อยอยากให้ลูกกินเพราะสารอาหารมันจะไม่ครบ เราก็รู้ แต่ด้วยความจำเป็น” คุณแม่อีกคนเล่า

       ย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนมีนาคม ทันทีที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบการต่างๆ จำเป็นต้องปิดชั่วคราวตามคำสั่ง หรือบางกิจการก็ต้องปิดตัวเองเนื่องจากได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ไม่มีลูกค้า ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากว่างงานกะทันหัน

       28 เมษายน 2563 กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มีแรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ทั้งหมด 24 ล้านคน ขณะที่สำนักงานประกันสังคมระบุว่า มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย เป็นจำนวนกว่า 1.2 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน

       เมื่อขาดช่องทางทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจึงยากลำบากกว่าที่เคย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเล็ก

ปัญหา 3 ชั้น ของครอบครัวที่มีเด็ก

       “เพราะเด็กเล็กมีความจำเป็นมากมาย เขาต้องกินนม กินอาหารที่มีคุณภาพ ต้องใส่แพมเพิร์ส ต้องมีคนดูแลช่วยกระตุ้นพัฒนาการ” สุนี ไชยรส ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า เล่าถึงสถานการณ์ของครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ ว่าทุกวันนี้พวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนถึง 3 ชั้น คือ

       หนึ่ง พ่อแม่ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว “พี่อยู่แถวมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดครัวมา 10 กว่าวัน ทำข้าวกล่องแจกวันละ 1,500 กล่องทุกวัน เห็นพ่อแม่พาลูกเดินมารับข้าวเต็มไปหมด” สุนีเล่า

       สอง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐปิด ทำให้เด็กไม่ได้กินนมและอาหารกลางวันอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมด้วย

       สาม เมื่อส่งลูกไปอยู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้ เด็กจึงไม่มีคนดูแลระหว่างที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ดังนั้น บางครอบครัวพ่อหรือแม่อาจต้องตัดสินใจทิ้งงานเพื่อมาเลี้ยงดูลูก

      “เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600 บาทต่อเดือน เป็น 2,000 บาทต่อเดือน ในช่วงวิกฤติ” สุนีบอก

 

เงินอุดหนุนเด็กเล็กมีอยู่แล้ว แต่ไม่ถ้วนหน้า

       ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมาตั้งแต่ปี 2558 โดยจ่ายเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวที่มีฐานะยากจนเท่านั้น

       สุนีเล่าว่า ช่วงเริ่มแรกรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0 – 1 ปี จำนวน 400 บาทต่อเดือน เป็นการนำร่อง ก่อนจะขยายเป็น 0 – 3 ปี พร้อมกับเพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 600 บาทต่อเดือน แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็น 0 – 6 ปี แต่ปัจจุบันจ่ายให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี

       นั่นทำให้มีเด็กแค่ 1.3 ล้านคนเท่านั้น ที่เข้าถึงสิทธิ ในขณะที่เด็กอายุ 0 – 6 ปี มีมากถึง 4 ล้านคน

       “มันคือการกีดกันสิทธิของเด็กที่เหลือ แล้วเรายังสำรวจพบว่าแม้แต่เด็กยากจนที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะได้รับเงินอุดหนุน ก็ตกหล่นไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์” สุนีกล่าว

       “เรายืนยันหลักการถ้วนหน้า พ่อแม่หลายคนอาจเคยมีรายได้เกินเกณฑ์ 100,000 บาทที่รัฐบาลกำหนด แต่พอวันนี้ว่างงาน ไม่มีรายได้ พวกเขากลายเป็น ‘คนจนใหม่’ ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้ยิ่งต้องให้แบบถ้วนหน้า” เธอย้ำ

เมื่อใช้กระบวนการคัดกรองจะมีคนตกหล่นเสมอ

       ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การขยับเกณฑ์รายได้ของครอบครัวจากไม่เกิน 36,000 บาทต่อปี ขึ้นเป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อาจทำให้เด็กตกหล่นน้อยลง แต่จริงๆ แล้วการตกหล่นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์รายได้ เช่น การไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้าไม่ถึงกระบวนการคัดกรอง ไม่มีเอกสาร หรือไม่อยากถูกตีตราว่าเป็นคนจน

       “เมื่อไหร่มีการคัดกรองจะมีคนตกหล่นเสมอ แต่ถ้าเป็นเรื่องของ ‘สิทธิ’ ทุกคนได้รับหมด คนตกหล่นน่าจะใกล้ศูนย์ ถ้ารัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0 – 6 ปี แบบถ้วนหน้า 600 บาทต่อเดือน จะใช้งบประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทต่อปี ถือว่าคุ้มค่า เพราะเป็นการให้เงินเพื่อเอาไปเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เด็กยากจนไม่ตกหล่น” ดร.สมชัย อธิบาย

 

เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ไม่เกี่ยวกับเงินเยียวยา 5,000 บาท

       กรณีที่บางฝ่ายมองว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กก็น่าจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทไปแล้ว จำเป็นต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กเพิ่มอีกหรือไม่ ดร.สมชัย กล่าวว่า “ต้องแยกกัน เพราะเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้มาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว แต่ยังมีการตกหล่น”

       “ส่วนเงินเยียวยา 5,000 บาท คงมีพ่อแม่บางคนได้รับเงิน แต่ตัวเงิน 5,000 บาทเองก็ตกหล่น ครอบครัวที่เดือดร้อนจากโควิด ความจริงรายได้เขาอาจหายไปมากกว่า 5,000 บาท หรือหายไปเป็นหมื่นเลยด้วยซ้ำ ที่ได้ 5,000 บาท จึงยังไม่พอกับค่าใช้จ่าย ระหว่างนั้นเขาต้องเลี้ยงดูลูก และเชื่อว่ามีครอบครัวที่เงิน 5,000 บาทก็ไม่ได้ เงินอุดหนุนเด็กเล็กก็ไม่ได้ ตกหล่นทั้งคู่ ก็จะยิ่งทำให้เด็กได้รับผลกระทบมากขึ้น” ดร.สมชัย กล่าว

       ทั้งนี้ ดร.สมชัย เคยทำการศึกษารายได้มาตรฐานขั้นต่ำที่จังหวัดลพบุรี นอกเขตเทศบาล พบว่าการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับกรณีที่มีปู่ย่าตายายดูแลลูกให้ในขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ส่วนครอบครัวที่ไม่มีใครช่วยดูแลลูกอาจมีค่าจ้างคนดูแลเพิ่มเข้ามา ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน

ยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอรัฐบาลเพิ่มความคุ้มครองทางสังคม

       ขวัญพลอย ชีช้าง เจ้าหน้าที่นโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่าหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยได้นำเสนอแนวนโยบายให้กับรัฐบาลว่าในภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากโควิด-19 แบบนี้ ควรเพิ่มเงินช่วยเหลือให้กับระบบความคุ้มครองทางสังคมที่มีอยู่ ได้แก่ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการ เพราะครอบครัวที่มีคนกลุ่มนี้จะได้รับความลำบากเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ ทำให้ดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

       อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นโครงการเดียวที่ไม่ได้เป็นระบบถ้วนหน้า มีการขีดเส้นว่าใครจน ใครไม่จน ยูนิเซฟจึงเห็นว่ารัฐบาลควรขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมเด็กที่ยังตกหล่นด้วย

       “เด็กเติบโตไปแต่ละวัน เมื่อครอบครัวประสบความยากลำบากจากโควิด-19 ภาวะโภชนาการของเด็กก็จะได้รับไม่เต็มที่ ถ้าวันนี้เขาไม่ได้ทานอาหารอย่างที่ควรจะได้ทาน แล้วพรุ่งนี้ก็เป็นแบบนี้อีก มันจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาของเขา ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา พอกลับไปเรียนเขาอาจเรียนได้ช้ากว่าเพื่อน และทำให้พลาดโอกาสการเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งโอกาสที่พลาดไปแล้วนั้น เรียกคืนกลับมาไม่ได้” เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟ กล่าว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า