SHARE

คัดลอกแล้ว

สำหรับชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้แล้ว รอมฎอนเป็นเดือนพิเศษของปี แต่เดือนรอมฎอนของปีนี้พิเศษกว่าปีอื่น เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าผู้ใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างจัง

แต่เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นหนึ่งในเหยื่อที่มองไม่เห็นจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ เวิร์คพอยท์ทูเดย์พามาสำรวจชีวิตของพวกเขาในเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้กัน

คนแรกที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ (ด้วยวิธี Physical Distancing) คือ อับดุลฮาฟิส แมเยาะ แกนนำกลุ่มมุสลิมิเต็ด (Muslimited) กลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันทำหนังสั้นสะท้อนเรื่องราวของท้องถิ่นเขาในประเด็นต่าง ๆ เขาไม่รอช้า เล่าถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของตนให้ฟัง

“อย่างช่วงเย็น ๆ บ่าย ๆ เขาก็จะออกมาซื้อข้าวของแล้วก็ขี่มอเตอร์ไซค์เล่นรวมกลุ่มกันฆ่าเวลาก่อนละศีลอด แต่ปีนี้เขาจะกระจายออกไปไม่อยู่เป็นกลุ่มก้อนแล้ว” อับดุลฮาฟิส หรือ “บิ๊ก” กล่าวว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงของวิถีวัยรุ่นที่เขาสังเกตได้ชัดที่สุดจากนโยบายปิดศาสนสถานตามคำสั่งรัฐบาล

ไม่นานมีนี้ บิ๊กเพิ่งทำหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมาก เป็นคลิปวิดีโอสะท้อนความทุกข์ระทมของเด็กหนุ่มที่ถูกกระทบจากโควิด-19 จากที่ปกติทุกคนจะไป “ละหมาดตะรอเวห” ที่มัสยิด เมื่อมีโรคระบาดจนศาสนสถานต้องปิด ครอบครัวคาดหวังให้เขานำการละหมาดเองที่บ้าน คลิปดังกล่าวได้รับการแชร์อย่างล้นหลามถึงหมื่นแชร์

 

https://www.facebook.com/muslimited/videos/306361763682893/

 

การละศีลอด หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “เปิดบวช” เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งในช่วงเดือนรอมฎอน ถือเป็นโมงยามของวันที่ทุกคนจะทำการละหมาดหลังจากถือศีลอดมาทั้งวัน บางจังหวัดทำพิธีนี้ตอนหกโมงเย็น บางจังหวัดตอนหนึ่งทุ่ม ตามแต่เวลาทางศาสนา หลังจากนั้นคือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองก่อนจะต้องมาร่วมกันทำละหมาด ”ตารอเวห” อีกรอบ แต่เมื่อต้องอยู่บ้าน ทั้งบรรยากาศการเฉลิมฉลองและการพบปะกันในสังคมก็หายไป

ชีวิตของเด็กและวัยรุ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มขึ้นยามเย็น หลายคนออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อเตรียมอาหารสำหรับละศีลอด ปีนี้สภาพการใช้จ่ายซบเซากว่าที่เคย (Madaree TOHLALA / AFP)

 

“มันก็เป็นความเครียดนะ พอเรารวมตัวกันไม่ได้ก็ใช้วิธีเล่นเกมส์ออนไลน์ เล่นอะไรไป วัยรุ่นก็พร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว” แม้จะกล่าวอย่างนี้ แต่บิ๊กก็อดบ่นถึงความเบื่อหน่ายของตนไม่ได้

“ผมรู้สีกเบื่อ เบื่ออาหารเดิม ๆ เบื่อความจำเจที่เราต้องอยู่ในกรอบ ถ้าปกติผมสามารถไปปัตตานี ไปฟังมัสยิดที่ละหมาดเพราะ ๆ ได้ คนอื่นๆ ก็น่าจะเหมือนกันกับผม”

บิ๊กไม่ใช่คนเดียวที่สะท้อนประสบการณ์เช่นนี้ ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ก็กล่าวคล้าย ๆ กัน แต่ชี้ว่านอกจากคนซบเซา เศรษฐกิจก็ซบเซาด้วย

“ปกติจะเป็นชีวิตที่เป็นชีวิตกลางคืน เวลาชีวิตของคนที่นี่จะเริ่มต้นเวลาห้าโมงเย็น แต่พอมันมีโควิดซึ่งทุกคนต้องอยู่ในบ้านก่อนสี่ทุ่มก็ทำให้ชีวิตกลางคืนที่นี่หายไป ชีวิตชีวาในรอมฎอนที่ไปละหมาดด้วยกันที่มัสยิด ออกหาอะไรทานกันตอนกลางคืนมันหายไปโดยสิ้นเชิง รูปแบบของเศรษฐกิจในพื้นที่ก็เปลี่ยนไป มันซบเซา”

ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดหลายอย่างก็คล้าย ๆ กับพื้นที่อื่น “คุณหมอฟาห์มี” บอกว่าผู้คนที่ทำงานในภาคบริการจำนวนไม่น้อยต้องพักงานชั่วคราว ประชากรที่อยู่ในกลุ่มการเกษตรได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ ส่วนหัวหน้าครอบครัวจำนวนมากที่ข้ามชายแดนไปทำงานในมาเลเซีย ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดชายแดน

          แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อพื้นที่สามจังหวัดแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างน้อย 3 อย่าง
การระบาดในพื้นที่ชนบททำให้การปิดหมู่บ้านเข้มงวดกว่าพื้นที่เมือง
ผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดส่วนใหญ่มีปัญหาความยากจนเป็นทุนเดิมมากกว่าพื้นที่อื่น
วิถีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนสถานถูกเปลี่ยนแปลงกะทันหัน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร

“พื้นที่ที่เป็นแหล่งระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท การปิดพื้นที่ทำได้หนาแน่นมาก สมมติครอบครัวนึงเป็นก็ปิดไปเลยทั้งหมู่บ้าน ห้ามใครเข้าออก” คุณหมอฟาห์มีอธิบายว่ามาตรการเช่นนี้ทำให้เกิดวิกฤติการขาดอาหาร และแม้จะผ่านมาสองเดือนแล้วก็ยังไม่มีทีท่าจะคลายความเข้มงวดลง

หากมีสมาชิกคนใดติดเชื้อโควิด-19 นอกจากสมาชิกในบ้านเดียวกันแล้ว สิ่งที่มักจะเกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือมาตรการกักตัวทั้งชุมชน ทำให้หลายครอบครัวเกิดวิกฤติอาหารทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว (Tuwaedaniya MERINGING / AFP )

นอกจากนี้ หลายครอบครัวก็เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารมาก่อนจะเกิดโควิด-19 นานแล้วเนื่องจากมีฐานะยากจน

          ฟาเดล หะยียามา เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็กองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ประจำจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลผู้เขียนทางโทรศัพท์ว่า “ลักษณะของการประกอบอาชีพของคนที่นี่แทบจะเป็นการหาเช้ากินค่ำ ทำงานวันนี้ได้เงินกินเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ พอสถานการณ์โควิดก็กระทบ งานก็หายไปเลย”

ภาวะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนโภชนาการ

“โครงการวิจัยการปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กที่มีภาวะขาดแคลนโภชนาการในสามจังหวัด เราก็ไปเลือกเอา 1 อำเภอ ประมาณ 520 ครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดในหมู่บ้าน” คุณหมอฟาฟ์มีเล่าถึงโครงการที่ตนทำ “สิ่งที่เราเจอก็คือในช่วงที่มีโควิดเข้ามา ครอบครัวส่วนมากเดือดร้อนอย่างมากเรื่องอาหาร เป็นวิกฤตระยะยาว ไม่ใช่วิกฤตแบบตอนที่ปิดหมู่บ้านแล้วออกไปหาอาหารไม่ได้ ตอนนี้ก็คือเขาก็ลดปริมาณ ลดคุณภาพ เด็กบางคนอาจไม่ได้รับอาหารในบางมื้อบางวันไปเลย”

ในยามปกติ หน่วยงานต่าง ๆ มีกลไกการปรับปรุงสภาวะโภชนาการของเด็กผ่านการแจกอาหารกลางวันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของอบต. แต่แน่นอนว่าศูนย์เหล่านี้ถูกปิดไปพร้อม ๆ กับการมาถึงของมาตรการป้องกันโรคระบาด

“พอไม่มีศูนย์ฯ อาหารก็จะเป็นอาหารเท่าที่มีอยู่ อะไรที่พอจะซื้อหามาได้หรืออะไรที่พอจะมีคนมาแจกจ่ายบริจาค มันก็จะเป็นตามมีตามเกิด” ฟาเดลอธิบาย

นอกจากเสี่ยงติดเชื้อ Covid-19 เหมือนคนในวัยอื่น ๆ ทารกยังเป็นกลุ่มสำคัญที่เสี่ยงต่อผลกระทบทางอ้อมอย่างการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต หากขาดตอนไปอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการร่างกายและสมองในระยะยาว (Madaree TOHLALA / AFP)

เด็ก-วัยรุ่นในครอบครัว เสี่ยงเป็นเหยื่อความรุนแรงในบ้าน

อีกหนึ่งประเด็นที่ฟาเดลชี้ คือนอกเหนือจากเรื่องภาวะทุพโภชนาการ เด็กและวัยรุ่นในสามจังหวัดยังเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาด

“ภาวะความเครียดที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ มันไม่มีความนิ่ง วันนี้มีประกาศใหญ่ พรุ่งนี้มีนโยบายใหม่มาแบบหนึ่ง วันมะรืนก็ยกเลิก ข่าวเขาออกมาว่าพื้นที่นั้นก็มีคนติด พื้นที่นี้ก็มีคนติด พ่อแม่ผู้ปกครองที่รับรู้ข่าวสารก็เกิดความกังวล ความกังวลเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดสะสม”

ฟาเดลชี้ชัดไปอีกว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ภาวะเครียดเกิดขึ้นสูงคือผลกระทบจากนโยบายการปิดศาสนสถาน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และกระทบวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะศาสนสถานแทบจะเป็นพื้นที่สาธารณะเดียวในพื้นที่ชนบทที่อยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา “การแสดงออกซึ่งความไม่สบายใจต่อการเปลี่ยนแปลงของคนที่นี่ มันอาจจะออกมาด้วยคำพูดหลากหลายแบบ อาจจะอ้างอิงความเชื่อ อาจจะอ้างอิงหลักบางหลักที่เขาถืออยู่ อาจจะอ้างอิงอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่มันสะท้อนลึกที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต”

“ผู้ใหญ่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ในพื้นที่แคบ ๆ ซึ่งมีเด็กและผู้หญิงอยู่ด้วย สิ่งที่เรากังวลก็คือผู้ใหญ่จะระบายความเครียดนี้ออกมาด้วยความรุนแรง มันก็มีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะไปลงใส่เด็กหรือผู้หญิง หรือสมาชิกในบ้าน”

ในยามไม่มีโรคระบาดอย่างปีที่แล้ว เด็ก ๆ และวัยรุ่นจะมีโอกาสติดสอยห้อยตามผู้ปกครองไปละหมาดยามเย็นที่มัสยิดก่อนร่วมรับประทานอาหารละศีลอดพร้อมหน้ากันในชุมชน (Madaree TOHLALA / AFP)

สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างบิ๊ก เขากลับมองว่า “อิสลามไม่ใช่ศาสนาที่ซีเรียสที่ต้องละหมาดที่มัสยิดเท่านั้น ถ้ามีโรคระบาดหรือมีอะไรที่จะนำพาความหายนะมาสู่คนหมู่มาก อิสลามเขามีข้อยกเว้นว่า คุณสามารถที่จะละหมาดที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปมัสยิด แต่ถ้าคุณไปมัสยิดขึ้นมาแล้วถ้ามีคนติดโควิดทำให้คนลำบากมันอาจจะมีผลกระทบมาก ปีนี้เราได้เรียนรู้ว่าอิสลามไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ยังมีข้อละเว้นมีข้อยกเว้นไม่ให้เราทำในสิ่งที่เกิดผลกระทบให้คนหมู่มาก”

“สมัยพระศาสดา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีภัยพิบัติ น้ำท่วม พระศาสดาก็บอกว่าให้ละหมาดที่บ้าน ทุกคนก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูดในช่วงนี้ มันบอกเราว่าอิสลามเขาไม่ได้ขนาดนั้น ถ้ามีหายนะ มีวาตภัยอะไรอย่างนี้ เราจะทำละหมาดที่ไหนก็ได้” แต่เขาต่อท้ายว่า “แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีเหมือนกัน (หัวเราะ)”

การสร้างความเข้าใจให้คนในวงกว้างจึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้กลุ่มมุสลิมิเต็ดของบิ๊กทำหนังสั้นเรื่อง “รอมฏอนที่ไม่เหมือนเคย” ขึ้นมา โดยความร่วมมือจากคุณหมอฟาห์มีและยูนิเซฟ ประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายการสื่อสารกว้างที่สุด หากทำหนังสั้นให้ดูก็อาจสามารถเผยแพร่ความเข้าใจให้แก่วัยรุ่นและให้แก่ครอบครัวในวงกว้าง และช่วยลดความตึงเครียดลงได้อีกด้วย

หากรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการให้ รอมฎอนในช่วงโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

รอมฎอนเป็นที่รู้จักในฐานะเดือนแห่งการให้ หนึ่งในตัวอย่างคือการที่แต่ละมัสยิดจะมีการเลี้ยงอาหารทุกครั้งหลังการละหมาดละศีลอด ผู้คนในหมู่บ้านจะนำอาหารมาแบ่งปันกัน เปิดโอกาสให้คนเดือดร้อนยากจนได้อิ่มท้องหลังอดอาหารมาทั้งวัน เมื่อไม่มีการละมาดละศีลอดที่มัสยิดแล้ว การเลี้ยงในลักษณะนี้ก็หายไปด้วย

คุณหมอฟาห์มีบอกว่าบางหมู่บ้านเปลี่ยนการเลี้ยงทานอาหารอย่างพร้อมหน้า เป็นการนำอาหารมาหย่อนให้ผู้เดือดร้อนรับไป “บางชุมชนก็สามารถจัดการได้ แต่ว่าบางชุมชนที่ไม่เข้มแข็งก็ไม่สามารถจัดสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้”

ส่วนฟาเดลกล่าวว่าช่วงนี้บรรดา NGO และหน่วยงานภาครัฐก็ทำงานกันอย่างหนักเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าคนในพื้นที่จะได้รับอาหาร จะได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ

     อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทุกคนต้องการที่สุดคือการกลับคืนสู่วิถีชีวิตแบบเดิม โดยเด็ก ๆ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ได้ไปศูนย์เด็กเล็ก ไปโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่ก็ได้มีพื้นที่สาธารณะดังเดิม

“เราก็ต้องปรับตัวไปกับโลก เราจะอยู่กับที่ไม่ได้เราก็ต้องมีสิ่งใหม่ ๆ ก็ต้องเรียนรู้ มันก็มีความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าให้เลือกก็ปีหน้าก็อยากให้เหมือนเดิม ไม่มีความเป็นความตาย คนไม่ได้ลำบากแบบนี้ ” บิ๊กกล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า