วันที่ 20 พ.ค.63 บีบีซีรายงานว่า ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาคาดการณ์ว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยทางนายเดวิด มอลพาสส์ (David Malpass) ประธานธนาคารโลกระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวลง 5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลิกจ้างงานและกลุ่มผู้ประกอบการที่ทยอยปิดตัวลง อีกทั้งระบบสาธารณสุขยังอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนัก
จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนคนจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ล้านคน ซึ่งกลุ่มคนจนดังกล่าวตามที่ธนาคารโลกกำหนดคือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน หรือราว 60.47 บาทต่อคนต่อวัน ตามรายงานระบุว่าสถาบันทางการเงินในสหรัฐฯ เสนอเงินช่วยเหลือกว่า 160 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้
โดยบราซิล ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอเมริกาใต้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ตัวเลขประชาชนที่ยากจนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 เป็นต้นมา มีจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 13 ล้านคน ทั้งนี้ทางธนาคารโลกร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนในการร้องขอการบรรเทาหนี้ที่ปล่อยกู้โดยสมาชิก G20 ได้จนถึงสิ้นปีนี้ ด้านนายเจมี่ ไดมอนประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเจพีมอร์แกน แบงก์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจเป็นสัญญาณเตือนในการสร้างสังคมที่ยุติธรรม