SHARE

คัดลอกแล้ว

“อิห่า ตลกกกกก” แคปชั่นสั้นๆ พร้อมคลิปวิดีโอเนื้อหาจากส่วนหนึ่งของรายการ ‘TV เบลอเบลอ‘ ช่วง ‘สุขชาวบ้าน’ ที่ออกอากาศไปเมื่อ 16 ปีก่อน กลับมาโผล่ในไทม์ไลน์ทวิตเตอร์อีกครั้ง พร้อมกับรีทวีตกว่าแสนครั้ง และยอดวิวกว่าครึ่งล้าน คลิปเป็นเนื้อหาจากรายการในปี 2547 ที่คนในยุค 2563 ยังสัมผัสและเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างถนนพระราม 2 (ธนบุรี – ปากท่อ) ที่สร้างนานเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จเสียที

workpoint TODAY ได้คุยกับสองคนที่อยู่ในคลิปทั้ง วิรัตน์ เฮงคงดี และ ณัชพล เรืองรอง คนแรกปัจจุบันเป็นผู้บริหารของบริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ยอดมนุษย์เงินเดือน รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์รายการ The Rapper ของเวิร์คพอยท์ช่อง 23 ด้วย คนที่สองปัจจุบันเป็นผู้บริหารของโต๊ะกลม โดยในคลิปเขาคือ “สมภพ ช่อประดับ” ชายในชุดเสื้อยืดสีเหลือง นักแสดงนำประจำช่วงสุขชาวบ้าน

สองคนผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของคลิปดังกล่าวว่า จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ตัวของพวกเขาเองและสถานการณ์ของสังคมเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด

จุดเริ่มต้นของรายการเพื่อพลวัตทางการบันเทิง

‘TV เบลอเบลอ’ คือรายการโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นให้เกิดพลวัตทางการบันเทิง “หากมีสิ่งใดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขอเรียนให้ทราบว่าล้วนแล้วแต่เป็นเหตุบังเอิญทั้งสิ้น” เริ่มออกอากาศทางช่อง 3 ครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2547 ถึง 15 เมษายนปีเดียวกันในช่วงเวลา 4 ทุ่มคืนวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นช่วงเวลา ไพรม์ไทม์เหมาะกับกลุ่มคนเมืองที่นอนดึกพอประมาณ 

วิรัตน์ หวนย้อนถึงถึงจุดเริ่มต้นของรายการว่า ช่วงนั้นช่อง 3 กำลังขาดรายการมาลงในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม หรือ “สังข์ 108 มงกุฎ” ซึ่งเคยทำรายการกับช่อง 3 มาก่อนจึงเสนอช่องว่าอยากทำรายการแนวล้อเลียน เสียดสีรายการทีวีดังๆ ยุคนั้นตั้งแต่ชื่อรายการ, นักแสดง (พิธีกร) ไปจนถึงเนื้อหาไม่ว่าจะเป็น แฟนพันธุ์แท้, ถึงลูกถึงคน, มิติลี้ลับ, คนค้นฅน และทุกข์ชาวบ้าน เป็นต้น โดยรายการหลังแปรรูปออกมาเป็น สุขชาวบ้าน กินความยาวประมาณ 1.30 นาที นำเสนอด้านครื้นเครงของประชาชนว่า แม้จะประสบปัญหาสังคมในแง่มุมต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังปลื้มปริ่มและมีความสุขกับสิ่งนั้น

วิรัตน์เปิดเผยว่าเขาและกลุ่มผู้ก่อตั้งของโต๊ะกลม 4-5 คนทำหน้าที่แทบทุกอย่างในรายการนี้ ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟ ผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก วางแผนถ่ายทำ และอื่นๆ อีกมากมาย “ตอนนั้นเรายังเด็กด้วย เลยยังมีแรงทำนั่นนี่เอง”

แต่ถึงจะทำเยอะแค่ไหน บางงานก็จำเป็นต้องหาตัวช่วยแบ่งเบา เขาจึงชวน ณัชพล ผู้เป็นรุ่นน้องคณะให้มาร่วมงานในฐานะนักแสดง และกลายเป็นตัวหลักที่หลายๆ คนจะนึกถึงประจำช่วงสุขชาวบ้าน จากความเฮฮาและการสวมเสื้อยืดสีเหลืองแสบจี๊ด โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สุดในกลุ่ม

ณัชพล เล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยถึงเสื้อตัวดังกล่าวว่า เขาได้เสื้อตัวนี้มาจากชาวบ้านสมัยไปอออกค่ายอาสาที่จังหวัดน่าน “มันเป็นเสื้อพละของโรงเรียนในอำเภอปัว พี่ไปออกค่ายอาสาพัฒนา แล้วชาวบ้านเขาให้มา แล้วก็ดันบังเอิญใส่ชุดนี้ออกรายการพูดถึงเรื่องชาวบ้านพอดี พอมาคิดทีหลังก็ตลกดี มันเหมือนกับเราเป็นชาวบ้านจริงๆ”

ณัชพล เรืองรอง กับบทบาทตัวละคร “สมภพ ช่อประดับ” ใน TV เบลอ เบลอ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้บริหารบริษัทโต๊ะกลม

16 ปีกับความเปลี่ยนแปลงของการทำงานรายการโทรทัศน์

แม้ว่าทุกวันนี้จะได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่ย้อนกลับไปสมัยนั้น TV เบลอเบลอมีอายุอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์เพียง 16 ตอนเท่านั้น เนื่องจากเรตติ้งอาจไม่สูงมากในสายตาของผู้บริหารสถานี ถือเป็นช่วงที่ทั้งสนุก เหนื่อย ลำบากและกดดันมากในความคิดของ วิรัตน์

“เนื่องจากเป็นรายการขายมุกตลอดเวลา คนดูรายการนี้จะไม่สนอย่างอื่นเลย รอแค่ว่าเมื่อไหร่จะตลก มันเลยเครียดฮะ ต้องคิดหนักมาก แล้วพอคิดมากก็คิดไม่ทัน บางทีวันรุ่งขึ้นจะถ่ายอยู่แล้วเรายังไม่รู้เลยว่าจะถ่ายอะไร เพราะเราคิดไม่ออก แถมปริมาณมันก็เยอะด้วย รายการยาวเกือบชั่วโมงนะตอนนั้น มันมีมุกมันสั้นๆ หลากหลายมาก เราจึงใช้วิธีโทรถามพวกนักแสดงที่มีอยู่ว่าใครว่างบ้าง แล้วเอาคิวที่ว่างมาเขียนบทเอา บางทีเขียนบทกันหน้าฉาก เขียนไปถ่ายไปด้วยซ้ำ”

นอกจากนั้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วเทคโนโลยีอาจยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร งานโปรดักชั่นยังทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนทุกวันนี้ที่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวแล้วสามารถตัดต่อรายการได้เลย แถมอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ทีมงานเลยไม่สามารถหาคอมเมนต์จากคนดูได้ง่ายๆ ว่าถูกใจงานที่ออกมาหรือเปล่า “เราอาศัยการฟังฟีดแบ็คจากคนรอบข้าง ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นที่พูดถึงเหมือนกัน แล้วเราเพิ่งมารู้หลังรายการเลิกไปหลายปีว่ามีคนชื่นชอบรายการนี้อยู่ เขาเจอเราแล้วมาบอกว่า “พี่เป็นคนทำรายการนี้เหรอ โคตรชอบเลย”

ณัชพล มองว่าสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้คนยังชื่นชอบรายการ ‘TV เบลอเบลอ’ และ ‘สุขชาวบ้าน’ คงเพราะถึงจะมีหลายสิ่งเปลี่ยนไป แต่แนวทางและรสนิยมความตลกของคนไทยยังเหมือนเดิม

“สภาพถนน รูปแบบโปรดักชั่นเปลี่ยนหมด แต่มุกยังตลกอยู่ อันนี้แหละที่สนุก เราเคยแซวเขายังไง เด็กในทวิตเตอร์ทุกวันนี้ดูก็ยังเข้าใจอยู่ ยังเชื่อมโยงกันได้ แสดงว่าเขาก็คงแซวคนอื่นคล้ายๆ กับที่เราแซวในสมัยนั้น”

เสียงหัวเราะจากการวิพากษ์สังคม

เอกลักษณ์สำคัญของ ‘TV เบลอเบลอ’ และ ‘สุขชาวบ้าน’ ก็คือ ต่อให้จะตลกแค่ไหนแต่ก็จะไม่ลืมสอดแทรกประเด็นทางสังคมเอาไว้ 

สำหรับหลักเกณฑ์ว่าจะเลือกประเด็นไหนมาใช้ในรายการ วิรัตน์ อธิบายว่าจะดูจากข่าวในตอนนั้นว่ากำลังมีกระแสสังคมในเรื่องอะไร หรือมีอะไรเป็นปัญหาคลาสสิค ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการสร้างถนนสายมหากาพย์ที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายสิบปี 

“คนไทยทุกคนรู้ว่า ถ้าเดินทางไปเที่ยวทางใต้ต้องผ่านถนนเส้นพระราม 2 ตั้งแต่ผมยังเด็กก็ทำถนน จนตอนนั้นที่เราทำรายการ ถนนพระราม 2 สร้างมานานมากแล้วนะฮะ นานกว่าที่อื่นจนเรารู้สึกว่ามันไม่เสร็จเสียที ก็เลยเลือกเล่นมุกนั้น”

ธนบุรี-ปากท่อ ไม่ใช่หัวข้อเดียวที่วิรัตน์นำมาเสียดสีผ่านรายการสุขชาวบ้าน แต่ยังมีเรื่องของรถมินิบัสที่ขับอันตราย หวยบนดิน ปัญหาโจรกรรม ภาพวาบหวิวบนสื่อหนังสือพิมพ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหลายอย่างปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่หลายอย่างก็ยังคงเดิม 

ยุคสมัยที่สุขชาวบ้านที่อาจเกิดขึ้นได้ยาก

วิรัตน์ เฮงคนดี โปรดิวเซอร์รายการ The Rapper และอีกหลากหลายรายการที่ออกอากาศทางเวิร์คพอยท์ช่อง 23

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สภาพบ้านเมือง ชีวิตคนเรา และบริบททางสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ ความคิดอ่านของผู้สร้างรายการเองก็เช่นกัน วิรัตน์ เล่าว่ามีหลายคนเชียร์ให้พวกเขากลับมาสร้างรายการนี้อีกครั้ง แต่ตัวเขาเองเชื่อว่าคงทำไม่ได้อีกแล้ว “เพราะว่าเราไม่สด ไม่ห่าม ไม่บ้าบิ่น ไม่ปากหมาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

“ตอนนั้นเรายังเด็ก แต่พอผ่านไปประมาณหนึ่ง เราเริ่มรู้ตื้นลึกหนาบาง รู้ที่มาที่ไป รู้ว่าปัญหาหลายๆ อย่างคงแก้ไม่ง่ายอย่างที่คิด มันมีความซับซ้อนกว่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรแก้นะ มันอาจจะทำให้เราใจเย็นลง รวมถึงว่าเวลาเราจะแซวจะล้อใคร ต้องคิดมากขึ้นด้วย”

“มีหลายเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการแซวคน จากการวิพากษ์วิจารณ์ บางครั้งมันมีคนตาย แต่เราไม่ได้คิดถึงมุมนี้ เราอาจคะนองมากจนไม่รู้ว่าคนที่เป็นญาติพี่น้องของผู้ตายมาดูแล้วจะรู้สึกยังไง ซึ่งเขาอาจจะเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ก็ได้ แต่เขาก็เป็นคนไง เพราะเราทำแล้วมันออกไปในวงกว้าง เราจึงต้องระแวดระวังมากขึ้นในการจะพูดอะไรออกไป”

ด้านณัชพลมองว่า ถ้าเกิดกลับไปทำรายการนี้ใหม่ในรูปแบบคล้ายๆ เดิมก็อาจยังทำได้อยู่ แต่ต้องเปลี่ยนประเด็นในการพูดถึง ไม่เอาประเด็นเดิมๆ อาทิ “ดีใจจังไม่มีฝรั่งเข้าประเทศ! (หัวเราะ)” แต่เช่นเดียวกันกับวิรัตน์ เขาเองก็มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี

“รายการนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องที่น่าสนใจ นำเสนอผ่านตลกร้าย เสียดสี อารมณ์ดีแกมประชด แต่โดยส่วนตัวถ้าให้ไปเล่นแบบนี้อีก เป็นภาษาวัยรุ่นเหมือนตอนนั้นนะ พี่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้รึเปล่า เพราะตอนนั้นพี่เป็นเด็กเกรียนอะ ยังเป็นวัยรุ่น แต่ตอนนี้โตขึ้นแล้ว มาย้อนดูตัวเองตอนนั้นแล้วเกรียนดีจัง มาตอนนี้ไม่แน่ใจว่าจะสนุก จะเข้าถึงอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ได้ไหม พอโตขึ้นเรายังวิพากษ์สังคมอยู่นะ แต่อาจเป็นในลีลาอื่นแทน”

“แล้วเดี๋ยวนี้ คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ต่างๆ ก็ทำแบบนี้เยอะนะ สมัยก่อนเราอาจไม่รู้ว่ามันเรียกว่าการปั่น การแซะ ฝรั่งจะเรียกว่า Parody มียูทูบเบอร์เก่งๆ ทำแบบนี้เยอะมาก คนไทยขี้ประชดอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนคนทำ เปลี่ยนแพลตฟอร์ม เปลี่ยนวิธีนำเสนอไปตามแต่ละยุคสมัย แต่ว่าไอ้ความอารมณ์ดีขี้ประชดของคนไทยมันจะยังอยู่ตลอดไป คนไทยจะอารมณ์ดีกับทุกๆ เรื่อง น้ำท่วมเราก็อารมณ์ดี มีโควิดเราก็อารมณ์ดี Social Distancing เราก็มาแซวกัน คนไทยเป็นอย่างนี้แหละ ไม่ว่าโลกจะแย่แค่ไหน เราก็ร้องรำทำเพลงได้เสมอ”

“บางอย่างคงเปลี่ยนไม่ง่ายอย่างที่เราคิด แต่บางเรื่องมันก็เปลี่ยนๆ ได้แล้ว (หัวเราะ)”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า