SHARE

คัดลอกแล้ว

การจัดอันดับคนไทยที่รวยที่สุดในประเทศ ประจำปี 2563 ในอันดับที่ 27 เป็นชื่อของ “อิสระ ว่องกุศลกิจ” ชายวัย 72 ปี ที่มีทรัพย์สินสูงถึง 32,700 ล้านบาท

เขาคือใคร? อิสระ คือประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของไทย นอกจากนั้นเขายังมีหุ้นส่วน ใน บมจ.บ้านปู และเครือ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เจ้าของเชนโรงแรมดังเช่น ไอบิส, เมอร์เคียว หรือโนโวเทล กรุงเทพ เป็นต้น

หลังจากที่ทุ่มเทอย่างหนักในช่วงแรก จนองค์กรเติบโตแล้ว แต่ในช่วงหลัง เขาก้าวขึ้นไปเป็นประธานกรรมการ และฝากฝังองค์กรไว้กับคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม อิสระยังคงดูภาพรวมของทุกอย่างภายในองค์กรอยู่

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 คนทั่วประเทศล้วนแล้วเจอปัญหาทั้งสิ้น และสำหรับน้ำตาลมิตรผลล่ะ พวกเขามีปัญหาที่ต้องแก้หรือไม่?

“แน่นอนครับ เราได้รับผลกระทบเหมือนกัน” อิสระกล่าว “สำหรับผมที่ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า โควิดครั้งนี้ มีความรุนแรงกว่า และทุกคนเจ็บตัวหมด”

“ในปี 2540 ตอนต้มยำกุ้ง คนที่เจ็บหนักมากๆ คือ คนประกอบธุรกิจ แต่ชาวบ้าน ยังไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากนัก ยังสามารถทำมาค้าขายได้ แต่โควิดครั้งนี้มันหยุดนิ่งเลย ไม่มีใครทำอะไรได้เลย”

อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัญหา แต่ตัวอิสระเองไม่ได้ท้อใจ เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยผ่านวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว จนบริษัทเกือบจะล่มสลาย ซึ่งนั่นเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาเตรียมตัวพร้อมเสมอ และหาลู่ทาง รับมือกับ Worst Case Scenario หรือสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่มีสิทธิ์จะเกิดขึ้นได้

จุดเริ่มต้นของอิสระ พ่อแม่ของเขาอพยพมาจากมณฑลกวางตุ้งที่ประเทศจีน และมาตั้งรกรากที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ครอบครัวว่องกุศลกิจ เปิดโรงหีบอ้อย และโรงเคี่ยวน้ำตาล ก่อนจะขยายกิจการไปเรื่อยๆ และเปิดโรงสีข้าวขึ้นมา ซึ่งเมื่อรวบรวมเงินทุนได้เป็นก้อนใหญ่แล้ว ครอบครัวจึงตัดสินใจลงทุนเปิดโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ขึ้นมา

“ในตอนนั้น เรายังไม่แน่ใจว่า จะใช้ชื่อโรงงานน้ำตาลว่าอะไร แต่พอไปที่กรมการค้าเพื่อจดทะเบียนพาณิชย์ ก็ไปคิดชื่อกันตรงนั้นเลย และสรุปก็ได้ชื่อโรงงานน้ำตาลมิตรผลออกมา” อิสระกล่าว

มิตรผล ตีความได้ง่ายๆ คือ ผลผลิตที่ได้มาจากการร่วมแรงร่วมใจของมิตร ซึ่งคำว่า มิตร (Mitr) เป็นหัวใจหลักขององค์กรแห่งนี้ด้วย

สำหรับอิสระนั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องผลกำไร คือเรื่องการ “เชื่อมโยง” กับผู้คน เพราะการจะสร้างธุรกิจขึ้นมาได้นั้น คุณไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเองคนเดียว แต่ต้องสร้างฐานมิตรเอาไว้ ทั้งกับลูกค้า กับชาวไร่ และกับพนักงานขององค์กรเอง

ธุรกิจของโรงงานน้ำตาลมิตรผล เดินหน้าไปได้ด้วยดี ส่วนอิสระนั้น ครอบครัวส่งให้เขาไปเรียนต่อวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอน ตัวเขารู้ดีว่าสุดท้ายแล้ว ปลายทางของเขาเมื่อเรียนจบ ก็ต้องมาสานงานต่อที่บ้าน

“จริงๆ ผมอยากเป็นเกษตรกรนะ ผมเติบโตมาด้วยการเห็นเกษตรกรใส่เสื้อยีนส์ กางเกงยีนส์ คือเราอยากทำแบบนั้น ถ้าได้ทำการเกษตรด้วยตัวเอง คงรู้สึกดีมาก แต่พอที่บ้านส่งไปเรียนอเมริกา เราก็รู้ว่า ยังไงเราก็ต้องกลับมาทำงานกับที่บ้านแน่ๆ”

หลังเรียนจบที่อเมริกาในปี 2515 อิสระกลับมาไทย และเริ่มต้นทำงานในโรงงานน้ำตาล ด้วยการดีลกับลูกค้าต่างชาติ การจัดซื้อ การจัดจ้าง เขาเริ่มเรียนรู้วัฒนธรรมในอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลอย่างเต็มตัว หลังจากทำงานได้ 14 ปี ครอบครัวว่องกุศลกิจ ซื้อที่ดินบริเวณแยกราชประสงค์เอาไว้ในมือ และจากการคุยกันของครอบครัว จะให้อิสระ ซึ่งตอนนั้นอายุ 38 ปี ลงมาดูแลเรื่องอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว

อิสระ ย้ายงานออกจากโรงงานน้ำตาล มาทำอสังหาฯ ที่ราชประสงค์ โดยทำการเปิด อัมรินทร์ พลาซ่า ขึ้นในปี 2529 ซึ่งห้างแห่งนี้เอง ถือว่าเริ่มต้นได้สวยมาก แมคโดนัลด์สาขาแรกมาเปิดที่นี่ ขณะที่โซโก้ ห้างสรรพสินค้าดังของญี่ปุ่น ก็ตัดสินใจมาเปิดตัวที่อัมรินทร์ พลาซ่าด้วย

เขากำลังสนุกกับธุรกิจอสังหาฯ ได้แค่ 2 ปี ก็เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญขึ้นเมื่อ พี่ชาย วิฑูรย์ ที่ดูแลกิจการน้ำตาลมา 20 ปี ยอมรับว่าเหนื่อย และอิ่มตัวกับธุรกิจแล้ว ดังนั้นจึงคุยกันภายในครอบครัวขอ “แลกเปลี่ยนธุรกิจ” โดยพี่ชายจะมาดูอสังหาฯ ที่ราชประสงค์ ส่วน อิสระ จะมาทำธุรกิจโรงงานน้ำตาลแทนในปี 2531

อิสระเป็นผู้นำสูงสุดของโรงงานน้ำตาลมิตรผล ในวัยแค่ 40 ปีเท่านั้น ซึ่งเขาเอาความคิดหัวก้าวหน้าหลายอย่างมาใช้กับธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนมิตรผลจะมีพนักงานน้อยมาก มีแค่พอจำเป็น เพราะคนเก่าแก่เชื่อว่า องค์กรควรจะต้องเซฟค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด แต่อิสระเข้ามาเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เพราะเขามองว่า จริงอยู่องค์กรขนาดเล็ก ก็ค่าใช้จ่ายน้อย แต่ในแง่การเติบโตล่ะ? พนักงานน้อย การเติบโตก็ทำได้ยากมาก

หรืออย่างเรื่อง ตำแหน่งซีอีโอขององค์กร ที่ปกติแล้ว ด้วยความที่ตระกูลว่องกุศลกิจ จะเป็นกงสี ดังนั้นครอบครัวจะส่งคนในตระกูลไปเป็นผู้บริหารในธุรกิจต่างๆ แต่อิสระมองว่า แนวคิดแบบนั้นมันเก่าล้าหลังเกินไปแล้ว เพราะโลกของธุรกิจมันต้องเอาคนที่เหมาะกับงานที่สุด มาทำหน้าที่ โดยไม่จำเป็นว่าคนนั้น จะมีนามสกุลเดียวกันหรือไม่

ซึ่งเวลาต่อมา ธุรกิจของมิตรผล จึงมีการคัดเลือกซีอีโอคนนอกเข้ามา “หากคิดจะเติบใหญ่หัวใจของเราต้องกว้างก่อน” อิสระกล่าว “ต้องรู้จักแบ่งปันพื้นที่ให้กับผู้อื่น แล้วเราจะเติบโตจากข้างในอย่างแท้จริง”

รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรบางอย่าง เช่น เมื่อก่อนมิตรผล จะทำงาน 5 วันครึ่ง คือจันทร์ถึงศุกร์ และ เสาร์ครึ่งวัน ซึ่งพออิสระเข้ามาดูแลกิจการ เขาก็ตั้งโจทย์ว่า จะให้พนักงานมาทำเพิ่มทำไมอีกแค่ครึ่งวัน ก็ให้เขาหยุดไปเสาร์-อาทิตย์เลยไม่ดีกว่าหรือ

ซึ่งสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงจุดนี้ กลายเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะครึ่งวันที่ต้องมาทำงาน พอได้หยุด พนักงานก็มีเวลาชาร์จแบตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น พอกลับมาทำงานก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และมีความมุ่งมั่นมากขึ้นในวันจันทร์ถึงศุกร์ ขณะที่บริษัทเองก็ลดต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ได้ครึ่งวัน

การเปลี่ยนแปลงจากภายใน ส่งผลให้การทำงานของมิตรผลเต็มไปด้วยประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงปี 2531 -2540 เป็นช่วงที่น้ำตาลมิตรผล เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมาก

นอกจากในไทย จะทำให้น้ำตาลมิตรผลมียอดขายอันดับ 1 ในประเทศแล้ว เขายังกระโดดไปลงทุนในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2536 โดยตอนนั้นจีน มีนโยบายเปิดประเทศ ให้กลุ่มทุนต่างชาติ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ได้ ดังนั้นอิสระจึงตัดสินใจนำเงินก้อน ไปเปิดโรงงานน้ำตาลที่มณฑลกวางสี

ธุรกิจของเขากำลังรุ่งโรจน์ แต่แล้วก็เจอปัญหาหนักที่สุดในชีวิต นั่นคือวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

“ผมนึกถึงเมื่อไหร่ ก็ร้องไห้ได้ตลอด” อิสระกล่าว ซึ่งแน่นอน วิกฤติในนาทีนั้น สำหรับคนทำธุรกิจอย่างเขา หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องเจอกับความโหดร้ายจากเหตุการณ์นี้

ในขณะนั้น มิตรผล กำลังขยายธุรกิจอย่างเต็มที่ อิสระมีแผนที่จะไปเปิดโรงงานในประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย และ สปป.ลาว ดังนั้นจึงมีการกู้เงินต่างประเทศมาจำนวนมาก เพื่อขยายกิจการ

ปรากฏว่าด้วยความที่ไม่ทันตั้งตัว เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในเอเชีย ทำให้ค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งแน่นอน มันส่งผลกระทบต่อมิตรผลโดยตรง เพราะบริษัทไปกู้เงินธนาคารต่างชาติในสกุลดอลลาร์ ตีเป็นเงินบาทได้ราว 8,000 ล้านบาท แต่พอเงินบาทลอยตัว เท่ากับว่าหนี้ดอลลาร์เท่าเดิม แต่มิตรผลต้องหาเงิน ถึง 14,000 ล้านบาทเพื่อเอามาใช้หนี้

“ถ้าเรากู้จากแบงก์ไทย เราคงจ่ายแค่ 8,000 ล้านเท่าเดิม แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ที่ไทยเรากู้เงินจากแบงก์ต้องจ่ายดอกเบี้ย 10% แต่ที่อเมริกาเราจ่ายแค่ 5% ดังนั้นคิดตามหลักเหตุผลเราต้องไปกู้จากธนาคารต่างประเทศอยู่แล้ว” อิสระเล่า

จากที่บริหารงานมาได้สบายๆ ตั้งแต่เข้ามาทำโรงงานน้ำตาลในปี 2531 คราวนี้ ธุรกิจมิตรผลเจอมรสุมหนักที่สุด เพราะหนี้สินขนาดนี้ มีสิทธิ์ที่คุณต้องปิดกิจการไปเลย ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะองค์กรใหญ่มีพนักงานเป็นพัน เป็นหมื่นชีวิต เขาก็ต้องรับผิดชอบชีวิตของคนในองค์กรอีก

อิสระนั้นมีความกดดันมาก หากธุรกิจที่ตระกูลร่วมกันสร้างขึ้นมา ต้องล่มสลายในยุคของเขา เขาเองก็ไม่รู้จะมองหน้าใครติดได้

ระหว่างที่กำลังเครียด และกลุ้มใจอยู่นั้น อิสระได้ 2 แนวคิดที่สำคัญ ที่มาได้ทันเวลาพอดี

คนแรกคือ ดร.พิสิฎฐ ภัคเกษม อดีตเลขาสภาพัฒน์ฯ ให้คำแนะนำกับอิสระว่า “เวลาเจอวิกฤติต้องเชิดหน้าสู้ แต่เวลารุ่งโรจน์ให้เดิมก้มหน้าเหมือนรวงข้าว” โดยสิ่งที่ ดร.พิสิฎฐ พยายามจะสื่อคือ ปกติอิสระ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่ในยามวิกฤติคุณจะโอนอ่อนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องลุกขึ้นสู้เต็มที่จนหยดสุดท้าย

และอีกหนึ่งคนที่ให้ข้อคิดกับเขาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คืออดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ โก๊ะ จ๊กตง โดยตอนนั้น อิสระ เดินทางไปเยี่ยมลูกที่เรียนต่ออยู่ที่ออสเตรเลีย และมีโอกาสเปิดหนังสือพิมพ์อ่าน มีประโยคที่เขาประทับใจมากๆ โดยโก๊ะ จ๊กตง พูดประโยคว่า “Chin up, Everyone” หรือเงยหน้าขึ้นมาสู้ อย่าทำคอตก อย่าคิดว่าชีวิตจบสิ้นแล้ว

คำพูดสร้างแรงบันดาลใจจากคนทั้งสอง ทำให้อิสระ กลับมาตั้งสติดีๆ เขานั่งลง และพิจารณาสถานการณ์ให้ดีอีกครั้งโดยไม่ฟูมฟาย และก็ได้ไอเดียว่า โอเค บริษัทเป็นหนี้ก็จริง แต่มันไม่ใช่จุดสุดท้ายขององค์กร บริษัทยังไปได้ต่อ แต่ต้องใช้การวางแผนที่ถูกต้องที่สุดเท่านั้น

เมื่อมีปัญหาพันกันยุ่งเหยิง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “แกะ” ปัญหาออกมาเป็นข้อๆ ก่อน พอเอารวมกันแล้วมันยิ่งใหญ่โต แต่ถ้าแกะออกมา แล้วค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง มันก็จะทำให้อะไรง่ายขึ้น

อิสระ แบ่งปัญหาที่เผชิญออกเป็น 3 ข้อ คือ 1.) จัดการหนี้กับแบงก์ 2.) จัดการเรื่องพนักงาน และ 3.) จัดการเรื่องชาวไร่

ปัญหาข้อแรกคือการจัดการหนี้ 14,000 ล้านกับธนาคาร แน่นอนว่ามิตรผลยังไม่มีเงินพอที่จะจ่ายให้ได้ตามกำหนดเวลา นั่นเพราะอยู่ๆ ตัวเลขหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม 5,000 ล้านในพริบตา เขาเองก็ตั้งตัวไม่ติดเหมือนกัน

สิ่งที่อิสระต้องทำ คือเดินทางไปเจรจากับธนาคารถึงต่างประเทศ ยืนยันว่าตัวเองเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่หนีหน้าไปไหน ไม่เบี้ยวแน่นอน แต่ขอยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน โดยจะอัพเดทสถานการณ์ให้แบงค์รับทราบทุกๆ สามเดือน

การเป็นหนี้นั้น ธนาคารเองก็อยากได้เงินคืนเช่นกัน ดังนั้นจุดสำคัญคือ การเจรจา ไม่ใช่การหลบหนีปัญหา สุดท้ายมันจะมีครึ่งทางระหว่างกันให้เอง

จุดที่ทำให้ธนาคารยอมโอเค คืออิสระมีแผนที่ชัดเจนว่าจะหาเงินมาคืนธนาคารได้อย่างไรในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้

แผนธุรกิจของอิสระคือเน้นการ “ส่งออก” เพราะถ้าหากหนี้เขาเพิ่มเพราะเงินบาทลอยตัว ในอีกมุมหนึ่งของที่เขาส่งไปขายต่างประเทศก็จะได้เงินบาทมากขึ้นเช่นกัน ที่ผ่านมา อิสระนำมิตรผลไปเปิดตลาดที่จีนมาแล้ว และรู้ว่าที่จีนมีความต้องการน้ำตาลมากแค่ไหน ดังนั้นแผนของเขา จึงจะเดินหน้าลุย เก็บกำไรจากการส่งออกให้มากที่สุด

ปัญหาข้อแรกเคลียร์ รู้วิธีการแล้วว่าจะโฟกัสไปทางไหน มาสู่ปัญหาข้อที่ 2 คือเรื่องพนักงาน

พนักงานนั้นมีความกังวลใจอย่างมากกับอนาคตของตัวเอง เพราะธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการ หรือประกาศลดคน คือจะมีสมาธิทำงานได้อย่างไร ถ้ายังไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะโดนไล่ออกหรือเปล่า

สิ่งที่อิสระ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่เลือกจะทำ คือส่งสารให้ชัดเจนว่า จะไม่มีการปลดใครทั้งนั้น แต่แน่นอน ว่าสวัสดิการต่างๆ ก็จะถูกลดลงไป โบนัสปลายปีไม่มี และงานเลี้ยงประจำปีของบริษัทที่ปกติจะจัดที่โรงแรมหรู ก็จะเปลี่ยนไปจัดบนดาดฟ้าของสำนักงานแทน

เขามีไอเดียที่อยากจะฝ่าวิกฤติไปให้ได้ แต่ไอเดียจะถูกทำให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนคอยทำงานให้

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญมาก คืออิสระต้องคุยกับคนในองค์กร อัปเดตสถานการณ์ทุกเดือนว่าเป็นอย่างไรบ้าง บริษัทกำลังทำอะไรอยู่ และเดินหน้าไปในทิศทางไหน

จากแต่ก่อน เรื่องทิศทางขององค์กรก็จะมีแต่ผู้บริหารระดับสูงที่รู้ แต่คราวนี้ อิสระแถลงการณ์ถึงพนักงานทุกคน เพราะเขามองว่า สุดท้ายแล้ว จะเป็นพนักงานฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายปฏิบัติการณ์ ก็สำคัญกับองค์กรทั้งหมด

ปัญหาแก้ได้แล้ว 2 ข้อ คือแบงก์ กับ พนักงาน ตอนนี้เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ การคุยกับชาวไร่อ้อย

ในการผลิตน้ำตาลนั้น จุดเริ่มต้นคือนำอ้อย มาสกัดเป็นน้ำอ้อย แล้วนำเข้าสู่ชุดหม้อต้ม เพื่อระเหยเอาน้ำออกประมาณ 70% ซึ่งเมื่อน้ำระเหยออกแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือ น้ำอ้อยข้น หรือ อีกชื่อคือน้ำเชื่อม จากนั้นนำน้ำเชื่อมเข้าสู่หม้อเคี่ยวระบบสุญญากาศ ซึ่งในจุดนี้จะเกิดผลึกน้ำตาลออกมา

จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของการทำน้ำตาลคือ อ้อย ดังนั้นธุรกิจน้ำตาล จึงต้องเชื่อมโยงกับเกษตรกรไร่อ้อยโดยตรง

ในวิกฤติแบบนี้ ชาวไร่เองก็เข้าใจสถานการณ์ดี และรู้ว่าสินค้าของตัวเองมีมูลค่า ไม่ใช่แค่มิตรผลเท่านั้น ที่อยากได้อ้อย แต่ทุกบริษัทต้องการอ้อยกันหมด ดังนั้นถ้ามิตรผลไม่มีอ้อยในมือ แผนการส่งไปขายต่างประเทศก็คงล่มสลายไม่เป็นท่า

อิสระ จึงสร้างโปรเจ็กต์ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ขึ้นมา คือให้คำสัญญาว่ามิตรผลจะดูแลชาวไร่อ้อยตลอดไป ไม่มีการทอดทิ้งกัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งถ้าหากเป็นบริษัทอื่น ก็อาจจ่ายเงินซื้ออ้อยเป็นครั้งคราวแล้วก็จบ แต่อิสระนั้น ให้พนักงานบริษัทเกาะติดอยู่กับชุมชนไว้เลย แล้วเอาองค์ความรู้ทางการเกษตรไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย

“ปกติการซื้ออ้อยนั้น จะเป็นแบบคุณปลูกมา แล้วเราจะซื้อคุณ แต่ถ้าวันไหนมีผลผลิตล้นตลาดแล้วเราก็ไม่ซื้อคุณนะ ผมว่ามันไม่ถูก สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล เราทำสัญญา และเราจะรับผิดชอบกับเกษตรกร”

สิ่งที่อิสระทำ คือเข้าไปให้ความรู้กันแบบจริงจังเลย ว่าทำอย่างไร จะมีต้นทุนต่ำลง จะมีกำไรเพิ่มขึ้น สอนเทคนิคใหม่ๆ แนะนำพันธุ์อ้อย แนะนำว่าต้องใช้ระบบน้ำแบบไหน แล้วมีดตัดอ้อยควรเป็นแบบพิเศษหรือไม่ ถึงจะตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้บริษัทจะเจอวิกฤติต้มยำกุ้งที่ทำให้ต้องเซฟค่าใช้จ่ายทุกอย่าง แต่กับชาวไร่ อิสระยืนยันว่า เขาลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่ได้ ไปยอมประหยัดจุดอื่นแทน แต่กับชาวไร่ ต้องซื้อใจกันให้เหนียวแน่นที่สุด

สุดท้ายปัญหาทั้ง 3 อย่างก็ถูกแก้ไขได้ลงตัว ชาวไร่ส่งอ้อยมาให้มิตรผล จากนั้นพนักงานก็เดินหน้าเต็มกำลัง เพื่อเอาอ้อยสกัดเป็นน้ำตาลก่อนส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ยอดขายของน้ำตาลมิตรผลเติบโตขึ้นอย่างมาก ปริมาณการส่งออกเยอะขึ้นทุกๆ ปี และบริษัทก็ทยอยใช้หนี้ธนาคารอย่างสม่ำเสมอ จนสุดท้ายหนี้ 14,000 ล้านบาท ถูกปลดได้สำเร็จในปี 2545 เป็นเวลา 5 ปีเต็ม หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง

 และสิ่งที่เห็นก็คือ อาณาจักรของมิตรผลก็เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนจากวันนั้น

ประสบการณ์ฝ่าฟันวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้อิสระ และพนักงานของมิตรผล มีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งมาก พวกเขาระมัดระวังตัวเสมอ ในการวางแผนธุรกิจนับจากวันนั้น

ดังนั้นเมื่อมีโควิด-19 เข้ามา แน่นอนว่าเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งรวมกับช่วงปลายปีที่แล้ว เกิดปัญหาภัยแล้งหนัก ทำให้ปริมาณอ้อยหายไป 1 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 40% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด เมื่อมีอ้อยน้อยลง ก็ผลิตน้ำตาลได้น้อยลงตามไปด้วย

แน่นอน ปัญหามี แต่มิตรผลยังมองโลกในแง่ดี เพื่อให้ผ่านวิกฤติไปให้ได้ พวกเขามีประสบการณ์มาแล้ว ว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ

“มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งบอกไว้ว่า อย่าพูดคำว่า ‘แย่แล้ว’ คือถ้าพูดปั๊บ ใจมันจะท้อแท้ทันที” อิสระกล่าว

ในสถานการณ์โควิด-19 ยอดสั่งซื้อน้ำตาลมีน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนมันไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างไรก็ตามในจุดนี้อิสระกลับเห็นโอกาสบางอย่าง

“ความต้องการเอทานอล หรือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อมันพุ่งมาเป็นพันเท่า จากที่ทุกคนคิดว่าไม่เคยต้องมี แต่กลายเป็นว่าทุกคนต้องมี” อิสระเล่า

เอทานอล สามารถผลิตได้จากกากน้ำตาล ที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ซึ่งแปลว่าพวกเขาเองมีวัตถุดิบอยู่แล้ว โดยเอทานอล จะนำไปผลิตต่อสำหรับเป็นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อต่อไป ซึ่งในวิกฤติโควิด-19 นี้ ความต้องการแอลกอฮอล์มีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นั่นส่งผลให้ธุรกิจเอทานอล จึงมีความเติบโตตามไปด้วย

การกระจายความเสี่ยงมีความสำคัญ” อิสระกล่าว “ตอนต้มยำกุ้ง ผมยังไม่รู้จักวิธีการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอ แต่พอเรามีประสบการณ์แล้ว เราจึงเดินหน้าลงทุนในหลายธุรกิจมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ให้ยึดติดกับธุรกิจเดียวมากจนเกินไป”

ดังนั้นสำหรับโควิด-19 นั้น เครือมิตรผล มีเจ็บตัวอยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรงจนเกินไปนัก และน่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ในที่สุด

ถามอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นการส่งท้ายว่า แนวคิดที่สำคัญที่สุดสำหรับวันพรุ่งนี้ของมิตรผลคืออะไร

 “Never give up จงอย่ายอมแพ้ เพราะทางออกมีเสมอ” อิสระเผย

 “คนเราต้องสู้เพื่อไม่ให้ล้ม แต่ถ้าล้มก็ลุก สิ่งสำคัญคือลุกให้เร็ว อย่านอนนาน ฮึดสู้ไว้ เจ็บได้ก็หายได้ ไม่ตายหรอก”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า