การโพสต์ภาพเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พร้อมแคปชั่นเชิญชวน ดึงดูดใจ มีสิทธิถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุว่า การลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการห้ามโฆษณาถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมปัญหา
วันที่ 9 มิ.ย.2563 นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เปิดเผยกับทีมข่าว workpoint TODAY ว่า หัวใจสำคัญของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ มาตรา 32 ระบุไว้ว่า ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม การจะลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 3 อย่าง คือ มาตรการด้านภาษี การห้ามโฆษณา และการจำกัดการเข้าถึง จึงทำให้การห้ามโฆษณาเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมปัญหา

คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา
ปัจจุบันมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ มีเพจรับรีวิวและโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับบริษัทผู้ผลิต เหล่านี้เข้าข่ายผิดเรื่องการโฆษณา ล่าสุดโลกโซเชียกำลังพูดถึงกระแส ถูกปรับเงิน 50,000 บาท จากการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการสร้างกระแสว่าการโพสต์คำว่า เบียร์ หรือแก้วเบียร์ ทุกอย่างมีความผิด
นายคำรณ ชี้แจงว่า ประชาชนทั่วไปไม่ได้ผิดมาตรา 32 เรื่องโฆษณาเหล้า เบียร กันง่ายๆ แต่การโพสต์ต่างๆ ต้องระวังไม่ให้เห็นชื่อ หรือตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องไม่เขียนข้อความอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม แค่โพสต์คำว่า เบียร์ ขวดแก้ว กระป๋อง ไม่เห็นยี่ห้อ หรือสัญลักษณ์ ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ย่อมไม่ผิด เจ้าหน้าที่จะเอาผิดผู้โพสต์ก็ต่อเมื่อโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือโพสต์ภาพเหล้า เบียร์ เขียนบรรยายอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม
สิ่งที่กฎหมายห้ามไว้อย่างชัดเจน คือ 1.ห้ามการโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้า และ 2.ห้ามโพสต์ภาพขวดเหล้า-เบียร บรรยายข้อความอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม เซเลบคนดังที่รับจ้างรีวิวสินค้าถือแก้วหรือใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งย่อห้อที่สามารถทำให้สามารถโยงไปถึงสินค้าได้ก็มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ปรับขั้นต่ำ 50,000 บาท ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือถ้าต้องการต่อสู้คดีในชั้นศาลก็สามารถทำได้
ส่วนภาพเก่าที่เคยโพสต์ลงในโซเชียล ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ แนะนำว่าต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย เพราะกฎหมายนี้มีอายุความ 5 ปี ตั้งแต่กระทำความผิด หากมีผู้พบเห็นและส่งข้อมูลไปร้องเรียน ผู้โพสต์อาจมีความผิดตามกฎหมาย และต้องไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสอบถามข้อมูล และเจตนาในการโพสต์ภาพ ถ้าไม่มีเจตนาในการชักจูงใจให้ผู้อื่นก็ไม่มีความผิด แต่ถ้าสอบสวนแล้วพบว่ามีเจตนาจะถูกเปรียบเทียบปรับทันที