ประธานสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคุณสมบัติรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แล้ว หลัง ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่น
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ได้ลงนามในคำร้องที่ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านขอให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรนูญหรือไม่ จาก 2 ประเด็น สำคัญ คือ
– กรณีมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและเคยถูกจำคุกในประเทศออสเตรเลีย
– กรณีภรรยาถือหุ้นในตลาดคลองเตย ซึ่งเป็นคู่สัญญากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นำโดย พรรคก้าวไกล ได้เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่า ทั้ง 2 กรณี อาจนำไปสู่การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี และเป็นผลมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ และการตรวจสอบในชั้น คณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช. ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส พรหรมเผ่า ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ยืนยันว่า มีคุณสมบัติ คดีที่เคยต้องโทษ ได้รับการล้างมลทินมาแล้ว 2 ครั้ง ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินปี 2539 และ 2550

“จรัญ” ชี้ “ธรรมนัส” ต้องโทษที่ต่างประเทศไม่เกี่ยวกับศาลไทย
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย ว่า กรณีการต้องโทษของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่เกี่ยวกับศาลไทย ซึ่งการจะได้รับการล้างมลทินต้องเป็นผู้ที่ถูกลงโทษตามกฎหมายไทยเท่านั้นไม่เกี่ยวกับความผิดในศาลต่างประเทศ แต่ต้องดูว่า พฤติกรรมอย่างนั้นเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง
” เรื่องล้างมลทินหมายถึงผู้ที่ถูกต้องโทษตามคำพิพากษาศาลไทย ไม่เกี่ยวกับศาลต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายผิดประเด็นทั้งคู่ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ความเหมาะสม ความสมควร อันนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมายแล้วครับ อันนี้เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง เป็นคนละเรื่อง มติของกฎหมาย ณ วันนี้ความเห็นค่อนข้างมันคงว่า ” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส
ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยถูกให้ออกจากราชการทหารนั้น แม้จะมีผลตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินก็จริง แต่ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดลักษณะต้องห้ามผู้ที่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการเพราะทุจริตในหน้าที่ หรือประพฤมิชอบในวงราชการ ซึ่งต้องดูว่า การถูกให้ออกครั้งนั้นเข้าข่ายกรณีนี้หรือไม่
ทั้งนี้ กรณีให้ออกจากราชการและอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน เกิดขึ้นกับ นายระวี รุ่งเรือง อดีต ส.ว. ที่เมื่อวานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจาก ส.ว. ด้วยที่ถูกให้ออกจากราชการเพราะประพฤติชั่วร้ายแรง ไม่สามารถทำให้ความผิดถูกลบล้างหายไปได้ ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน จึงยังเข้าข่ายจากคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย